ESTOPOLIS | วิธีจัดการกับหนี้บัตรเครดิตก่อนยื่นสินเชื่อบ้านและคอนโด
17 April 2560
อสังหาฯ ต่าง ๆ เมื่อต้องกู้สินเชื่อจากธนาคาร ย่อมก่อให้เกิดหนี้ในระยะยาว เป็นภาระที่จะต้องจ่ายไป 15 - 30 ปี ดังนั้นธนาคารเองก็ต้องมีการตรวจสอบหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากสินเชื่อต่างส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถ ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้เราไม่สามารถพลิกแพลงอะไรได้มาก เพราะส่วนใหญ่จะมียอดกู้ยืมที่มาก การจ่ายตามอัตราที่ธนาคารกำหนดถือว่าค่อนข้างลงตัวแล้ว แต่หนี้ที่ทำให้คุณปวดหัวที่สุดในการกู้สินเชื่อบ้านและคอนโด คือหนี้จากบัตรเครดิต
แม้ว่าการจะกู้ซื้อบ้านหรือคอนโด คุณต้องประเมินความสามารถจริงๆ ในด้านการเงิน แต่ในบางครั้งคุณก็มีความจำเป็น เช่น คุณอาจจะดาวน์คอนโดอยู่ในขณะที่ยังไม่มีหนี้บัตรเครดิตและใกล้ถึงเวลาต้องกู้ซื้อคอนโดแล้ว หรือคุณอาจจะมีรายได้ทางอื่นที่ธนาคารไม่นำมาคิด ไม่ว่าอย่างไรก็ตามแต่ ในบทความนี้เราจะแนะนำเทคนิคในการกู้ซื้อคอนโดให้ผ่าน แม้ว่าคุณยังมีหนี้บัตรเครติดอยู่
วิธีการกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดให้ผ่าน แม้จะมีหนี้บัตรเครดิตทำได้ แต่ต้องวางแผนให้ดี
มารู้จักหนี้บัตรเครติด กับการคิดเพื่อปล่อยกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดกันก่อน
สำหรับหนี้ในบัตรเครดิต หากคุณจ่ายเต็มทุกเดือน จะไม่มีปัญหาต่อการกู้สินเชื่อบ้านและคอนโด ในบางธนาคารจะไม่นำมาคิดในการคำนวณภาระหนี้
หนี้ในบัตรเครดิตจะไม่เหมือนหนี้อื่น ๆ ที่อยู่ในระบบ เพราะนี้ในบัตรไม่มียอดที่ต้องชำระแบบตายตัว ดังนั้นธนาคารจะนำยอดค้างชำระบัตรเครติดของคุณจำนวน 6 เดือน มาหาค่าเฉลี่ย แล้วหาร 10 เท่านี้ธนาคารจะได้ภาระที่คุณต้องจ่ายในแต่ละเดือน
ยอดค้างชำระ ที่เรากล่าวถึงคือ หากเดือนนี้คุณต้องจ่ายเป็นจำนวนเต็ม 70,000 แต่คุณจ่ายขั้นต่ำ 7,000 ยอดค้างชำระของเดือนนี้คือ 63,000
หากเป็นลูปนี้ไป 6 เดือน ธนาคารจะมองว่าคุณมีภาระที่จะต้องจ่ายต่อเดือนเป็น 63,000 / 10 = 6,300 บาท เท่ากับว่าความสามารถในการกู้ของคุณหายไปเกือบ 1 ล้านบาท (จากการคำนวณคร่าว ๆ จากการคิดวงเงินจากฐานรายได้ที่ ล้านละ 7,000)
สาเหตุที่ต้องหาร 10 เพราะ 10 % ของเงินกู้คืออัตราขั้นต่ำในการชำระหนี้บัตรเครดิตนั่นเอง
ตัวอย่างการคำนวณภาระหนี้จากบัตรเครดิตในแต่ละเดือน
ธนาคารจะนำยอดหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนไปหักออกจากความสามารถในการผ่อนในแต่ละเดือนของคุณ
หนี้บัตรเป็นภาระที่เยอะมาก แล้วจะทำอย่างไรกับหนี้บัตรเครดิตดีล่ะ ?
1. เปลี่ยนการกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดจาก "กู้เดี่ยว" เป็น "กู้ร่วม"
การยื่นกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดแบบมีผู้กู้ร่วมเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด และน่าจะไม่นำความยากลำบากมาให้ เนื่องจากสถานะทางการเงินเป็นไปตามความเป็นจริง ไม่มีการใช้เทคนิคใด ๆ แต่การยื่นกู้ร่วมก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่เหมือนกัน นั่นคือ ผู้ที่ยื่นกู้ร่วมต้องมีนามสกุลเดียวกัน เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด เช่น บิดา มารดา พี่ น้อง และ สามี ภรรยา นอกจากนี้ต้องเช็คกันให้ดีด้วย เพราะบางธนาคารจะไม่คิดวงเงินกู้ร่วมของฝ่ายที่ไม่ได้ทำงานประจำ หรือมีเงินเดือนประจำให้ ดังนั้นการเลือกผู้กู้ร่วม หากไม่อยากให้ยุ่งยากให้เลือกคนที่มีรายได้ประจำจะดีกว่า
การยื่นกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดแบบมีผู้กู้ร่วม หากมีการทำประกันคอนโดกับทางธนาคารด้วย ชื่อในประกันจะเป็นชื่อของทั้งสองคน หมายความว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับคนใดคนหนึ่ง ภาระการผ่อนก็ยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่จะลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็แล้วแต่สัญญาของกรมธรรม์
อย่างไรก็ตาม หากคุณเลือกที่จะยื่นกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดแบบมีผู้กู้ร่วม เราแนะนำให้เป็นคนที่จะช่วยคุณผ่อนจริง ๆ เพราะไม่อย่างงั้นคุณจะสู้ภาระการผ่อนในแต่ละเดือนไม่ไหวอย่างแน่นอน หากคุณไม่มีรายได้ทางอื่นซึ่งอาจจะเป็นรายได้ที่ทางธนาคารไม่นำมาคิดให้
สำหรับคนที่อยากจะให้คอนโดหรือบ้านที่กู้เป็นชื่อของคน ๆ เดียว เมื่อครบ 3 ปี คุณอาจจะเลือกรีไฟแนนซ์โดยใช้ชื่อคนเดียวยื่นกู้ก็ได้
2. เปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์
สมัยนี้ใคร ๆ ก็เป็นหนี้บัตรเครดิต บางคนต้องเลือกตัดวงจรบัตรโดยการรีไฟแนนซ์ หรือกู้สินเชื่ออเนกประสงค์มาปิดบัตร ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างดี และเราค่อนข้างแนะนำ เนื่องจากเป็นวิธีการลดภาระหนี้ในแต่ละเดือนลงมา
ข้อดีของการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ หรือรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตก็คือคุณจะมีรายจ่ายในแต่ละเดือนลดลง หากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต 2 แสนบาท คุณต้องจ่ายขั้นต่ำต่อเดือน 20,000 แต่ถ้าคุณยื่นกู้อเนกประสงค์มาตัดบัตรเครดิต คุณจะเหลือผ่อนเดือนละ 5,299 ต่อเดือน หากเลือกระยะเวลาผ่อน 5 ปี (ดอกเบี้ยอยู่ที่ 20%)
สำหรับวิธีการก็ไม่ต่างอะไรกับการยื่นทำบัตรเครดิตนัก หลักฐานการยื่นกู้ก็ตัวเดียวกันเลย แต่อาจจะอนุมัติยากกว่านิดกว่า ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินก็มีกฏที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าหากคุณมีสินทรัพย์ค้ำประกันเช่น รถยนต์ เลือกกู้สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักทรัพย์คำประกันไปเลย ก็จะทำให้กู้ผ่านได้ง่ายขึ้น
หมายเหตุ : การปิดหนี้บัตรเครดิตเองก็มีกฏนิดหน่อย ซึ่งเราจะระบุไว้ท้ายบทความ
3. เปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้นอกระบบ
หนี้นอกระบบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกปล่อยกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยรายเดือนร้อยละ 10 - 20 แต่เราหมายถึงคุณพ่อ คุณแม่ พี่ น้อง หรือญาติของคุณ หากพวกเข้ามีกำลังพอ สำหรับการยืมก็ไม่อยากให้คุณยืมปากเปล่า โดยเฉพาะกับญาติ หรือเพื่อน เพราะอาจจะทำให้พวกเขาลำบากใจ การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด คุณอาจจะให้พวกเขาคิดดอกเบี้ยไปบ้างก็ได้ แต่อย่าให้เกิน 15% ต่อปี เพราะจะผิดกฏหมาย ทั้งคนปล่อยกู้และผู้กู้ด้วย
สำหรับการคำนวณสินเชื่อส่วนบุคคลแบบ ลดต้นลดดอกลองใช้เวปไซต์นี้ช่วย เพราะค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว http://www.interest.in.th/personal-loan/calculator.aspx
จริง ๆ วิธีเป็นหนี้นอกระบบเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากธนาคารจะมองไม่เห็นหนี้ก้อนนี้เลย เพราะทางธนาคารจะยื่นเรื่องไปทางบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งเครดิตบูโรเองก็ไม่มีข้อมูลของหนี้ดังกล่าว และเพราะเหตุนี้ด้วยเราจึงเรียกหนี้ประเภทนี้ว่าหนี้นอกระบบ
การปิดหนี้บัตรเครดิตก่อนยื่นกู้
หลายคนคิดว่าแค่ไปจ่ายหนี้บัตรให้เต็มก็คือจบ แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น เพราะธนาคารไม่ได้คิดง่ายแบบนั้น อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วถึงวิธีการคำนวณ ภาระหนี้จากหนี้บัตรเครดิต ว่าธนาคารจะหารเฉลี่ย 6 เดือนล่าสุด ดังนั้น
1. หากคุณไม่รีบที่จะยื่นกู้ หรือรอได้ถึง 6 - 7 เดือน
คุณไม่จำเป็นต้องปิดและยกเลิกบัตรเครดิตใบนั้น เพียงแค่คุณไปจ่ายหนี้ที่ค้างไว้ทั้งหมดแบบจ่ายเต็ม และจ่ายเต็มไปให้ครบ 6 เดือน หลังจากนั้น 30 - 45 วัน จึงทำการยื่นกู้กับธนาคาร สาเหตุที่ให้รอ 30 - 45 วัน เนื่องจากเป็นการรอให้ธนาคารที่เป็นเจ้าของบัตร ส่งข้อมูลให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และทางเครดิตบูโรได้ลงข้อมูลการชำระหนี้บัตรเครดิตในเดือนสุดท้ายแล้ว เท่านี้ภาระหนี้ในแต่ละเดือนจากบัตรเครดิตของคุณธนาคารก็จะมองว่าเป็น 0 (การพิจารณาอาจจะแตกต่างไปในแต่ละธนาคาร)
นอกจากนี้หากคุณสามารถรอยื่นกู้สินเชื้อบ้านและคอนโดได้นาน 6 - 7 เดือน ช่วงนี้คุณอาจจะสามารถเก็บเงินสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาจากการซื้อคอนโด เช่น ค่าโอน ค่าจดจำนอง หรือค่าตกแต่งเป็นต้น
2. หากคุณรอนานไม่ได้
เราแนะนำให้คุณปิดบัตร แบบยกเลิกไปเลย และหลังจากที่คุณชำระหนี้บัตรครบ พร้อมทั้งยกเลิกไปแล้ว อาจจะต้องรอประมาณ 30 - 45 วัน เพื่อให้เครดิตบูโรของคุณมีการบันทึกเสียก่อน แล้วจึงยื่นกู้ได้
สำหรับคนที่ยังอยากใช้บัตรเครดิตอยู่ เราแนะนำว่า หลังจากที่คุณยื่นกู้สินเชื่อบ้านและคอนโดผ่าน ได้รับการอนุมัติแล้ว ให้ยื่นเรื่องทำบัตรเครดิตได้เลย โดยเฉพาะกับธนาคารที่คุณเคยมีบัตรอยู่ จะง่ายและรวดเร็วมาก
คุณไม่ควรจะยื่นเรื่องทำบัตรเครดิตช้ากว่า 30 วัน หลังจากชำระค่าคอนโดกับธนาคารงวดแรก เนื่องจากธนาคารจะส่งข้อมูลการชำระหนี้ไปยังเครดิตบูโร และอาจจะทำให้ทางสินเชื่อบัตรเครดิตตรวจสอบเจอการชำระหนี้คอนโดของคุณ ซึ่งจะส่งผลให้การทำบัตรเครดิตไม่ผ่าน หรืออาจจะได้วงเงินที่ลดลง
แม้ว่าเราจะมีเทคนิค และวิธีการในการจัดการกับหนี้บัตรเครดิตมาแนะนำ แต่สิ่งที่เราอยากแนะนำคุณจริง ๆ คือการวางแผนทางด้านการเงินให้รัดกุม การกู้ซื้อคอนโดคุณไม่ควรมองว่าคุณกู้ได้หรือไม่ได้ แต่คุณควรคิดให้ดีว่าเมื่อกู้ไปแล้วสถานภาพทางการเงินของคุณจะเป็นอย่างไรมากกว่า จะอึดอัดจนไม่สามารถทำอะไรได้ หรือยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติไม่มีปัญหา
และอีกอย่างที่เราอยากให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับบทความนี้ด้วยก็คือ สิ่งที่เรานำเสนอคือการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตให้ไปอยู่ในรูปแบบอื่น ไม่ใช่การปลดหนี้ ดังนั้นภาระหนี้ในจุดนี้จึงไม่ได้หายไป และแน่นอน...หนี้จำนวนนั้นก็ยังคงเป็นภาระของคุณที่คุณต้องตามชำระ
บทความที่เกี่ยวข้อง
เงินเดือนเท่านี้กู้ซื้อคอนโดได้เท่าไร กับขั้นตอนการกู้ ผ่อนโดยละเอียด