จ่ายเยอะขึ้น! ปีหน้าเจอกัน! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ 2561
28 March 2560
หลังจากที่โดนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสั่งให้กระทรวงการคลังกลับไปเร่งทบทวนและแก้ไขเนื้อหา พระราชบัญญัติ (พรบ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่ทางกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ควรแยกเก็บภาษีที่ดินรกร้าง แต่ควรนำไปรวมกับภาษีประเภทอื่นแทน เพราะที่ดินเปล่าอาจใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมหรือเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวอนุมัติให้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังกลับไปแก้ไขเนื้อหาในส่วนของภาษีที่ดินรกร้าง จากเดิมที่เรียกเก็บ 5% เป็นไม่เกิน 2% และจะปรับเพิ่มทุก 0.5% ในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 5% ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมและเป็นการช่วยกระตุ้นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาเพื่อทบทวนอีกครั้งประมาณ 2-3 เดือน ถึงจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 ปี
วันนี้ทาง Estopolis จึงได้รวบรวมสรุปข้องมูลอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มาให้ท่านผู้อ่าน นักลงทุน รวมถึงผู้ที่ชอบสะสมอสังหาริมทรัพย์ได้เตรียมตัวเตรียมใจกับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้น สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่ไม่อยากเสียภาษีมากเกินความจำเป็น ก็ควรศึกษาภาษีฉบับใหม่กันสักนิดจะได้หาช่องทางจัดการกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างไรให้ “คุ้มค่ากับเงินในกระเป๋าที่สุด”
ก่อนที่จะเตรียมรับมือกับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่จะมาแทนที่ พระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2529 เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ และกำหนดเกณฑ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เกิดความเท่าเทียม ก็มาดูข้อดีของพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้กันก่อนดีกว่า
1. ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน คือ ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากก็ต้องจ่ายภาษีมาก ส่วนผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มูลค่าต่ำต้องจ่ายภาษีน้อยกว่า
2. เพิ่มความเป็นธรรมในการเสียภาษี จากเดิมที่ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี จะเปลี่ยนมาใช้รูปแบบที่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้อย่างชัดเจนในการประเมินภาษี
3. กระตุ้นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด ลดปัญหานายทุนที่ชอบซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร แล้วปล่อยให้ที่ดินรกร้างไม่ยอมให้ใครเข้ามายุ่งในเขตแดนของตน มาสู่การกระจายรายได้ไปยังคนในชุมชนให้มีอาชีพ ปลูกสวน ทำไร่ทำนา สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
4. รายได้ทั้งหมดจากการจัดเก็บภาษีจะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปพัฒนาได้ทันที โดยไม่ต้องทำเรื่องผ่านทางรัฐบาลอีกต่อไป
5. ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มาถึงคำถามสำคัญที่หลายๆ คนอยากรู้ว่าแล้วใครบ้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ?
คนที่มีหน้าเสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด
ซึ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้จะมีอัตราการเรียกเก็บแตกต่างออกไป แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อาทิเช่น บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด ฯลฯ ถ้ามีมูลลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี และมีอัตราในการจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 0.5%
2. ภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นในการประการด้านเกษตรกรรม
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นในการประการด้านเกษตรกรรม ซึ่งต้องเป็นการทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ มีอัตราเพดานภาษีในการจัดเก็บไม่เกิน 0.2%
3. ภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือด้านอื่นๆ
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือด้านอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับข้อ 1 และ ข้อ 2 จะมีอัตราในการจัดเก็บไม่เกิน 2%
4. ภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ปล่อยทิ้งร้าง ว่างเปล่า
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ปล่อยทิ้งร้าง ว่างเปล่าไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ มีอัตราในการจัดเก็บไม่เกิน 2% และปรับเพิ่มทุก 0.5% ในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%
ซึ่งฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่ใช้ในการคำนวณเกณฑ์ภาษีในครั้งนี้ จะนำมาจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ตามราคาประเมินทุนทรัพย์แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้รับมรดกอีก 50% รวมถึงยกเว้นการจัดเก็บสำหรับผู้ที่ใช้ที่ดินปลูกบ้านของตนเป็นระยะเวลา 1 ปี และยังลดหรืองดเว้นกรณีเจ้าของบ้านหรืออาคารได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติอีกด้วย
จัดได้ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีความยืดหยุ่นในการจัดเก็บภาษีมากเลยทีเดียว ท่านผู้อ่านท่านใดที่ชอบครอบครองหรือสะสมอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นนักลงทุนสายเก็งกำไรชอบซื้อที่เก็บไว้รอเวลาขายต่อ ก็อย่าลืมติดตามข่าวสารและศึกษาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ไว้ให้ดีๆ ก่อนที่พรบ.ฉบับนี้จะเริ่มประกาศใช้อย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า