Happy worker: นิยามความมั่นคง ชีวิตที่มั่นคงต้องเป็นเช่นไร
15 September 2562
ในบทความที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่อง ปัจจัยต่างๆที่สนับสนุนการตัดสินใจลาออก ว่าเราควรจะลาออกจากงานดีหรือไม่ เพราะผลกระทบที่ตามมามากมาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงควรคิดให้ดีและถี่ถ้วนจริงๆ ก่อนตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นอาจจะสร้างความเดือดร้อนในชีวิตได้
ในซีรีส์ Happy Worker บทความสุดท้ายนี้นำเสนอเรื่อง ชีวิตที่มั่นคงต้องเป็นเช่นไร เพราะเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยทำงานที่กินเวลาแทบจะทั้งชีวิตของเรานั้น ความมั่นคงในชีวิตเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงด้วย ในอนาคตเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เราทำได้และควรให้ความสำคัญกับมันคือปัจจุบันที่เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะเป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับชีวิตในอนาคต
มีการถกเถียงกันอยู่มากมายว่า “ชีวิตที่มั่นคง” แท้จริงแล้วหมายความว่าอย่างไร และชีวิตแบบไหนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่มั่นคงแล้ว ปิยะเทพ ตรึงจิตวิลาส ได้ให้ความหมายของคำว่าชีวิตที่มั่นคงได้อย่างน่าสนใจว่า “ธาตุแท้ ของ ความมั่นคง มันคือ จิตใจที่โอบอ้อมอารี สงบ มีอิสระภาพ มีการหยั่งรู้ความหมายของการมีชีวิต” โดยได้กล่าวอีกว่า “สิ่งที่วัดค่าได้ว่าอะไรที่เรียกว่ามั่นคง คือ อิสระภาพในหลักการใช้ชีวิต หรือเรียกอีกในหนึ่งว่า Dynamic Wheel life of Balance”
จากที่กล่าวมาทำให้เห็นได้ว่าสิ่งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นรากฐานของนิยามคำว่าความมั่นคง นั่นคือ “การรู้ความหมายของการมีชีวิต” เพราะเมื่อเรารู้ความหมายของการชีวิต รู้ว่าเราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร มันจะทำให้เราตั้งเป้าหมายในชีวิตได้ถูก และสามารถวางแผนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้และสำเร็จมันลงได้
ในบทความนี้ Esto จะนำเสนอคำว่ามั่นคงนั้นเป็นอย่างไร ต้องมีอะไรในชีวิตบ้าง ถึงจะเรียกได้ว่าชีวิตของเรานั้นมั่นคงแล้ว เพราะจริงๆ หากพูดถึงเรื่อความมั่นคงหลายคนอาจจะมีนิยามความหมายในชีวิตแตกต่างกันไปในแต่ละด้าน เช่น ด้านการงาน การเงิน สุขภาพ จึงได้รวบรวมข้อมูลของความมั่นคงในแต่ละด้านมาได้ดังนี้
ความมั่นคงทางด้านการเงิน
สิ่งเป็นรากฐานของนิยามคำว่าความมั่นคงทางด้านการเงิน คือ “เงินเก็บออม” เพราะทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นคอนโด รถยนต์ หรือการลงทุนต่างๆ ย่อมต้องใช้เงินซื้อมาทั้งนั้น หากเราวางแผนการใช้เงินตั้งแต่เงินเดือนเดือนแรก รู้จักเก็บออมมาตั้งแต่ต้น เราย่อมมีเงินเก็บจำนวนไม่น้อยที่จะนำไปต่อยอดให้เงินงอกเงยกว่าเดิมหรือนำไปสร้างลักสร้างฐานเสริมชีวิตให้มั่นคงขึ้นไป
แม้ทุกคนจะรู้ว่าการออมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จากสถิติการออมของคนไทยจะพบว่า ในปัจจุบันมีคนไทยร้อยละ 77.4 เท่านั้นที่มีการออมเงิน ในขณะที่อีกร้อยละ 22.6 ไม่มีเงินออม และเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึก จะพบว่า รูปแบบการออมเงินของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของบัญชีฉุกเฉิน หรือบัญชีเงินเก็บระยะสั้น มากกว่าการออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งจากผลสำรวจของนิด้าโพลพบว่าจุดมุ่งหมายของการออมเงินของคนไทย คือ ใช้ในยามฉุกเฉิน ถึง 41.35% เท่ากับว่าเรานิยมออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นและระยะปานกลางเท่านั้น ยังไม่ตระหนักและให้ความสำคัญในการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว นั่นก็คือ เป้าหมายเพื่อการเกษียณอายุ
เคล็ดลับบริหารเงินให้งอกเงยจากธนาคารไทยพาณิชย์ คือ ออมอย่างน้อยให้ได้ 20 - 30% ของรายได้ กันเงินออกมาเพื่อเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน มีการบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันอย่างเหมาะสม เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเป็นตัวการทำลายเงินออม และนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยผ่านการลงทุนหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ การลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมต่างๆ
ความมั่นคงด้านการงาน
“ให้เรียนสูงๆ หางานที่มั่นคงทำ” หลายๆ คนคงได้รับคำสั่งสอนทำนองนี้จากผู้ใหญ่ เพียงแต่งานที่มั่นคงที่ว่านั้นน่ะ มันคืองานอะไร งานแบบไหนที่เรียกว่ามั่นคงตามที่ผู้ใหญ่ว่า งานข้าราชการ? งานที่ได้เงินเยอะ? งานที่ชอบทำแล้วมีความสุข? บางคนทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานอย่างหนักจนแทบหมดตัว แต่สิ่งที่ได้กลับมานอกจากเงินแล้วกลับไม่มีอะไรเลย แถมบางคนถูกตอบแทนด้วยการถูกจ้างให้ออกเพราะผลประกอบการของบริษัทไม่ดี ดั่งที่เราเห็นในข่าวแทบจะทุกวันว่าหลายบริษัททยอยปลดพนักงานออกทีละหลายหมื่นคน
บล็อกเกอร์ท่านหนึ่งใน Medium ชื่อว่า Atom ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงทางการงานไว้ว่า “งานที่มั่นคงนั้น ความจริงแล้วไม่มีอยู่จริง” เพราะแม้แต่บริษัทใหญ่หลายแห่งที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาหลายสิบปี กลับมาเกิดตกต่ำอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง หรือหลายบริษัทล้มละลายไปเลยก็มี งานข้าราชการในไทยเองก็มีการปลดพนักงานออกจำนวนมากและบ่อยครั้งเช่นกัน คุณ Atom ได้ให้คำแนะนำกับเรื่องนี้ว่า “การทำตัวเองให้มั่นคง ด้วยวิธีการพัฒนาตนเองอย่างสุดความสามารถ” ต่างหากคือสิ่งที่ควรทำ
สิ่งนี้ต่างหากที่จะทำให้เรามั่นคง ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน อายุเท่าไรก็ตาม ก็จะมีคนตามหาเราจนเจอ ถึงแม้เราจะอยู่สบาย นอนสบาย มีชีวิตที่สบายแล้ว ก็จะมีคนไปตามหาเรา เพื่อพบเจอเรา แล้วอยากให้เราไปร่วมงานด้วยเสมอ หรือถามความคิดเห็นของเรา นี่ต่างหากที่ผมถือว่า “งานที่มั่นคง”
ความมั่นคงด้านสุขภาพ
พูดถึงความมั่นคงด้านนี้ ก่อนอื่นต้องถามตัวเราเองกันก่อนว่า เราได้ให้ความสำคัญกับคำว่าสุขภาพมากน้อยแค่ไหน ช่วงวัยเด็กเรายังมีพ่อแม่ที่คอยดูแลเรื่องสุขภาพของเราอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อโตขึ้นล่ะ? ช่วงมหาวิทยาลัยนักศึกษาหลายคนอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวไปกับการเรียนและการสอบกันถึงกี่โมงในแต่ละคืน และเมื่อเข้าสู่ในวัยทำงานก็ต้องคร่ำเคร่งในการทำงาน เพื่อคว้ามาซึ่งความสำเร็จในชีวิตการทำงานต่อไป เรียกได้ว่าตลอดทั้งชีวิตของคนต้องการไขว่คว้าความสำเร็จกันจนถึงวินาทีสุดท้าย จนทำให้มองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตอย่างสุขภาพร่างกาย
กลายเป็นเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วความสำเร็จในชีวิตกับสุขภาพร่างกาย สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน? ให้ลองนึกดูว่าถ้าวันใดที่ร่างกายไม่สามารถไปต่อได้ ความสำเร็จที่ได้มาก็ไม่สามารถช่วยชีวิตของตนเองได้ หรือบางทีเราอาจจะไปไม่ถึงความสำเร็จด้วยซ้ำ และเป็นไปได้เหมือนกันว่าชีวิตนี้เราจะไปไม่ถึงความสำเร็จที่ว่านั้นอีกต่อไป
ความสำเร็จในชีวิตกับสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กัน เชื่อว่าจริงๆแล้วเราอยู่แล้วว่าวิธีที่ทำให้สุขภาพของเราดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง หรือหากไม่ทราบ สามารถหาข้อมูลได้อย่างไม่ยากเย็น แต่สุขภาพทางใจเป็นสิ่งที่ยากกว่านั้น เพราะเมื่อมันป่วยลงการจะทำให้มันกลับมาหายช่างยากเย็นเพราะหลายครั้งที่ไม่มีใครช่วยรักษาให้เราได้นอกจากเราจะรักษามันด้วยตัวเอง
เป็นเรื่องน่ายินดีมาก ที่คนวัยทำงานยุคใหม่รวมถึงยุคเก่าด้วย ได้หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น และยังมีเทรนด์การรักษาสุขภาพออกมาเผยแพร่กันอย่างมากมาย ทั้งการไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสหรือการไปออกวิ่งตามสวนสาธารณะต่าง ๆ ยามเย็นอย่างเพลิดเพลิน รวมถึงยังมีสิ่งที่ช่วยเรื่องสุขภาพทางใจ อย่างเช่น ASMR ที่ช่วยในเรื่องปัญหาจากจิตใจหลายอย่างเช่น เครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น ยังมี Podcast ที่ตอนนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่มีแทบจะทุกหัวขอที่เราอยากรู้ ทั้งความรู้ในด้านต่างๆ และกำลังใจในเรื่องต่างๆ
จบลงไปกับซีรีส์ Happy Worker ที่ทาง Esto ได้รวบรวมข้อมูลมานำเสนอแก่ผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน หรืออยู่ในช่วงวัยทำงานได้สักระยะแล้ว ให้รู้สึกมีความสุขกับงาน และมีเป้าหมายในชีวิต เพราะเราจำเป็นต้องวางแผนเผื่ออนาคต แต่ปัจจุบันก็สำคัญเช่นกัน หากมัวแต่ทำงานเก็บเงินอย่างเดียวอย่างไม่มีความสุข เช่นนั้นชีวิตจะไปมีประโยชน์อะไรนอกจากการเกิดมาเพื่อทำงานแล้วตายไป
Happy Worker
Happy worker: เก็บทุกความสำเร็จได้ดั่งใจด้วยการวางเป้าหมาย
Happy worker: งานอดิเรกให้คุณได้มากกว่าที่คิด
Happy worker: รวมเทคนิคการทำงานที่ช่วยให้เราอยู่กับงานได้นานขึ้น
Happy worker: เหตุผลที่เราควรเลือกจะออกหรืออยู่ต่อ
Happy worker: นิยามความมั่นคง ชีวิตที่มั่นคงต้องเป็นเช่นไร
บทความที่น่าสนใจ
นิยามความสำเร็จที่แตกต่างของแต่ละ Generation
รวม 3 บัตรกดเงินสด ยอดนิยมของคนไทย ใช้บัตรไหนถึงจะคุ้ม!