ร่างรีดเพิ่มอีก! ภาษีอสังหาฯ แนวรถไฟฟ้า
26 May 2560
ภาษีลาภลอย
ประชาชาติธุรกิจเผยข้อมูลจากนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังว่า ขณะนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ยกร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือที่เรียกกันว่าภาษีลาภลอย เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ เพราะจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเร็วๆ นี้
"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะทำอยู่แล้ว แนวคิดคือจะจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า เป็นต้น"
หลักๆ จะเก็บเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง
สนช. หนุนคลังเก็บภาษีลาภลอย
คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นประธาน ได้เสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือภาษีลาภลอย เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันรัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากที่เจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นได้
ที่ดิน/ห้องชุดเกิน 50 ล้านแจ็กพอต
กำหนดจัดเก็บภาษี
1. ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุด ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท
2. ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาของรัฐ
การจัดเก็บภาษี
1. เก็บระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง ส่วนนี้ให้กรมที่ดินเป็นผู้จัดเก็บ
2. เก็บเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเสร็จแล้ว ซึ่งจะเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท โดยจัดเก็บจากห้องชุดของดีเวลอปเปอร์ที่รอการจำหน่าย จะจัดเก็บในปีถัดจากปีที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และจะจัดเก็บเพียงครั้งเดียว กรณีนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของพื้นที่จัดเก็บ
อสังหาฯ แนวรถไฟฟ้า-สนามบินโดนหนัก
ประเภทโครงการพัฒนาของรัฐที่อยู่ในข่ายต้องเก็บภาษี ได้แก่
1. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งกำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี
2. โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ
3. ทางด่วนพิเศษ รัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลง และ
4. สนามบิน รัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดิน ห้องชุด ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐเข้าไปพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคสาธารณูปการประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับจะกำหนดในกฎกระทรวงภายหลัง
ภาษีที่จะเก็บส่งเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
เงินภาษีที่จัดเก็บได้จากภาษีลาภลอยนี้จะนำส่งเข้า "กองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ" ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และเงินกองทุนจะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐอื่น ๆ ต่อไป
ด้านอสังหาฯ ติงซ้ำซ้อนภาษีที่ดินฯ
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า มีการพูดถึงภาษีใหม่หลายเดือนแล้ว แต่ขอให้รัฐพิจารณารายละเอียดให้ลึกซึ้ง เพราะซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บในปี 2562 และภาษีอื่นที่จัดเก็บอยู่แล้ว ทั้งภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7-8% ของราคาบ้าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่แล้ว
หากจะเก็บภาษีเพิ่มจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น สุดท้ายเป็นผู้บริโภคที่ต้องซื้อบ้านในราคาแพงขึ้น
อ่านข่าวเต็มได้ที่: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์