นักลงทุนอสังหาฯ รอดูลาดเลา! รถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองเจอเลื่อนยาว
17 May 2560
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีการพิจาณาอนุมัติผลการเจรจากับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ผู้ชนะประมูลลงทุน PPP Net Cost ทั้งโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท (รวมส่วนต่อขยาย) แยกเป็นรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 47,564 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 46,654 ล้านบาท ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ
สาเหตุคือต้องรอคณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องข้อเสนอซองที่ 3 ที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์มีข้อเสนอเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาสัมปทานหลัก จะลงทุนสร้างส่วนต่อขยายของสายสีชมพูอีก 2.8 กม. จากสถานีศรีรัช ถนนแจ้งวัฒนะ วิ่งไปตามแนวทางด่วนเข้าเมืองทองธานี มี 2 สถานี อยู่ติดอาคารชาแลนเจอร์ กับสนามฟุตบอลเอสซีจี เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท และสายสีเหลืองอีก 2.6 กม. จากแยกรัชดา-ลาดพร้าว สร้างบนถนนรัชดาภิเษกผ่านศาลอาญาไปเชื่อมสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่แยกรัชโยธิน มี 2 สถานี อยู่ตรงหน้าศาลาอาญากับพหลโยธิน 24 เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท
โดยข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวทางคณะกรรมการมาตรา 35 มีระบุไว้ในท้ายสัญญาว่าจะพิจารณาภายหลังจากที่เอกชนดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนครบแล้ว เช่น รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และแผนแม่บทรถไฟฟ้า
"กฤษฎีกาไม่อยากให้นำมาแนบท้ายไว้ในสัญญาหลัก เพราะจะเป็นข้อผูกมัดได้ อยากให้โครงการผ่านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยก่อน จึงให้คณะกรรมการมาตรา 35 นำกลับไปพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง ซึ่งร่างสัญญาผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาอีก 75 วันเป็นอย่างช้า คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือน มิ.ย.นี้"
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางบีทีเอสแจ้งต่อผู้ถือหุ้นว่า หากการพิจารณาลงทุนส่วนต่อขยายทั้ง 2 โครงการล่าช้า บริษัทอาจตัดสินใจเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนในโครงการหลักก่อน หากการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่า
ทั้งนี้ 2 โครงการ เป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนค่างานโยธา สายสีชมพูไม่เกิน 20,135 ล้านบาท สายสีเหลือง 22,354 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี
ด้านเอกชนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างและจัดหาระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ซึ่งได้ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และรับสัมปทานบริหารโครงการ 30 ปี โดยได้รายได้จากค่าโดยสาร พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และค่าจอดรถ
สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์