รูปบทความ ช่วงโควิดระบาด พื้นที่ส่วนกลางปิดให้บริการ แล้วนิติบุคคลทำอะไรบ้าง

ช่วงโควิดระบาด พื้นที่ส่วนกลางปิดให้บริการ แล้วนิติบุคคลทำอะไรบ้าง

บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (www.plus.co.th) ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหลายองค์กรนำมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) มาใช้ เพื่อไม่ให้ธุรกิจสะดุดและลดความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 แต่ก็มีหลายอาชีพที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยหรืองานนิติบุคคล ที่ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงใด นิติบุคคลของโครงการที่พักอาศัยก็ยังคงต้องประจำการที่สำนักงานเสมอ แม้ว่าภายใต้ช่วงสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ พื้นที่ที่ให้บริการในส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย และห้องเอนกประสงค์ต่างๆ ปิดให้บริการเพื่อความปลอดภัยของลูกบ้าน แต่หน้าที่ของนิติบุคคลก็ไม่ได้ลดน้อยลงอย่างที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการ Work from Home ที่ลูกบ้านใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่พักอาศัย ความต้องการการดูแลช่วยเหลือจากนิติบุคคลก็ย่อมมีมากขึ้นหลายเท่าตัว



หน้าที่ของนิติบุคคลในการดูแลโครงการที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบทั้งด้านตัวผู้อยู่อาศัยและตัวโครงสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม เช่น สวนหย่อม และต้นไม้ในโครงการ ก็ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติแม้ว่าส่วนกลางจะปิดให้บริการแต่การดูแลก็ยังคงเกิดขึ้นทุกวัน เพื่อให้โครงการยังมีสภาพที่ดีและน่าอยู่ตลอดเวลา การตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การตรวจดูอายุการใช้งานหรือการซ่อมบำรุงเปลี่ยนอะไหล่ของอุปกรณ์ ยังต้องให้ความสำคัญและดำเนินไปอย่างปกติ เพราะการดูแลพื้นฐานเหล่านี้ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ละเลยไม่ได้ นอกจากนี้ในช่วงที่ปิดให้บริการในพื้นที่ส่วนกลาง ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของทีมบริหารนิติบุคคลในการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเต็มที่ หรือการทำความสะอาด Big Cleaning ครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการลูกบ้านอีกครั้ง ซึ่งหากนิติบุคคลดูแลส่วนนี้ได้ดีก็จะส่งผลต่อมูลค่าของโครงการให้ราคาขายต่อปรับเพิ่มขึ้นได้สูงตามที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี


ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดนี้นิติบุคคลมีงานที่จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น


1. การเข้มงวดกับการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ และทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่ทุกคนต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันทุกวันเช่นลิฟท์โดยสาร และประตูทางเข้าออกตัวอาคาร เป็นต้น และจัดหาหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการตามจุดต่างๆ


2. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เช่นมีการตรวจคัดกรองบุคคลเข้า-ออกโครงการ การออกมาตรการกำหนดแนวทางการใช้ลิฟต์ จำนวนผู้ใช้งานในแต่ละรอบ รวมถึงการประสานงานกับสถานพยาบาลเพื่อส่งตัวผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินโดยไม่ให้กระทบกับเจ้าของร่วมอื่นๆตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด


3. สื่อสารให้ลูกบ้านทุกคนเกิดความเข้าใจ นิติบุคคลยังต้องทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ลูกบ้านทุกคนที่อยู่อาศัยในโครงการ ซึ่งหากโครงการใดมีผู้อยู่อาศัยหลากหลายเชื้อชาติ เช่น มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ก็ต้องทำประกาศทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในบางที่อาจจะต้องทำภาษาจีนด้วย เพื่อสื่อสารให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการใช้ลิฟต์โดยสารให้เป็นไปตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือให้ถูกวิธี ประกาศของภาครัฐ และระเบียบการติดต่อรับพัสดุ ซึ่งหากโครงการใดสามารถพัฒนาด้านการสื่อสารด้วยช่องทางที่สะดวก เช่น สื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่น ก็จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น


4. เก็บข้อมูลด้านสุขภาพของลูกบ้าน หน้าที่ของนิติบุคคลไม่ได้มีเพียงตรวจวัดอุณหภูมิขณะเข้า-ออกโครงการเท่านั้น แต่ยังต้องสำรวจข้อมูลของลูกบ้านเช่น ประวัติการเดินทาง และต้องทราบว่าลูกบ้านท่านใดอยู่ในช่วงกักตัวเพื่อจะได้ดูแลให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม โดยการเก็บข้อมูลของลูกบ้านนั้น หากสามารถทำแบบสอบถามผ่านการสแกน QR CODE ก็จะช่วยสร้างความสะดวกให้กับลูกบ้าน รวมถึงทำให้ง่ายต่อการรวบรวมและสรุปข้อมูล




ซึ่งนอกจากนิติบุคคลจะต้องยกระดับมาตรการการดูแลเพื่อร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดแล้ว ยังต้องมีการจัดการที่ดีในช่วงการเคอร์ฟิวหลัง 4 ทุ่มที่รัฐบาลประกาศใช้ทั่วประเทศ เนื่องจากต้องมีทีมงานที่คอยดูแลผู้พักอาศัยตลอด 24 ชั่วโมง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน วางแผนการสลับสับเปลี่ยนทีมงาน จัดตารางเวลาการเข้าออกงาน และจัดเตรียมเรื่องอาหาร ที่พัก และของใช้จำเป็นให้กับทีมพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือเลิกงานในช่วงเวลากลางคืนที่มีการเคอร์ฟิว เพื่อให้การทำงานดูแลผู้พักอาศัยไม่สะดุด นิติบุคคลที่ดีจึงควรเป็นทีมงานที่เป็นผู้ที่อยู่ดูแลเคียงข้างลูกบ้านและผู้พักอาศัยตลอดเวลา แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ผู้พักอาศัยในโครงการแห่งนั้น


จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแม้พื้นที่ส่วนกลางบางส่วนจะปิดให้บริการ แต่นิติบุคคลก็ยังคงต้องทำงานหนักโดยเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของลูกบ้าน ดังนั้นการให้ความร่วมมือกับนิติบุคคลในการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ จึงถือเป็นเรื่องที่ลูกบ้านทุกท่านต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้ การดูแลตัวเองโดยใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากที่พัก เว้นระยะห่างจากผู้อื่นเมื่อต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน ใส่ใจความปลอดภัยของส่วนรวมโดยงดไปพื้นที่เสี่ยง ไม่พาบุคคลภายนอกที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในโครงการที่พัก รวมถึงการไม่ปกปิดข้อมูลการเดินทาง เพื่อให้การทำงานของนิติบุคคลมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้โครงการแห่งนั้นสามารถผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปได้ในเร็ววัน





เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์