รูปบทความ อุโมงค์ "บางซื่อ" คืบ 85.9% ทดสอบระบบ 1 ส.ค.นี้

อุโมงค์บางซื่อ คืบ 85.9% ทดสอบระบบ 1 ส.ค.นี้


นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยาว่า อุโมงค์บางซื่อมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 6.40 กิโลเมตร กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ซึ่งจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกบริเวณถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตจตุจักร บางซื่อ ดุสิต พญาไท ดินแดง และห้วยขวาง ขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างร้อยละ 85.9 ตั้งเป้าว่าในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะเริ่มทำการทดสอบระบบทั้งหมด

โครงการนี้ประกอบด้วย

อาคารรับน้ำรัชดาภิเษก (บ่อ1)

อาคารรับน้ำวิภาวดีรังสิต (บ่อ2)

อาคารรับน้ำกำแพงเพชร (บ่อ3)

อาคารสถานีสูบน้ำเกียกกาย (บ่อ 4, 5)

อาคารทิ้งน้ำวัดแก้วฟ้าจุฬามณี (บ่อ6)

อาคารสำนักงาน 5 ชั้น


โดยอาคารสถานีสูบน้ำเกียกกาย บ่อ 4 จะดึงน้ำจากอาคารรับน้ำรัชดาภิเษก วิภาวดีรังสิต และกำแพงเพชร มารวบรวมไว้ และส่งต่อไปสถานีสูบน้ำเกียกกาย บ่อ 5 จากนั้นจะส่งไปอาคารทิ้งน้ำ เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ขณะนี้เกิดปัญหาอยู่ที่อาคารรับน้ำรัชดาภิเษกที่ผู้รับจ้างไม่สามารถขนดินได้ภายในเวลาที่กำหนด เพราะบ้านเรือนในคลองบางซื่อทรุดร้าว 8 หลัง ทำให้ต้องหยุดการทำงานและชะลอการขุดดิน

นอกจากนี้ การขุดดินได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในบริเวณนั้น ที่สำคัญอนุญาตให้มีการขนดินผ่านพื้นที่เอกชนหลังเวลา 22.00 น.เท่านั้น ส่วนสถานีสูบน้ำเกียกกาย และอาคารทิ้งน้ำ ซึ่งจะมีใบพัดกวนตะกอนไม่ให้ตะกอนหยุดนิ่งจนเป็นอุปสรรค์กับระบบสูบน้ำ ได้มีการปรับเป็น 3 จาก 6 ใบพัด ทำให้เกิดความล่าช้า สำหรับน้ำในคลองบางซื่อจะสามารถเปิดคลองให้น้ำไหลได้ตามปกติ ภายในวันที่ 12 มิถุนายน หรือไม่เกินวันที่ 15 มิถุนายนนี้

อุโมงค์บางซื่อ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์คอนโดทำเลบางซื่ออย่างไร?

อุโมงค์ยักษ์ หรือ อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่จะมีการก่อสร้างขึ้นตามแผนโครงการคือ 5 แห่ง ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ และมีการลงนามก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงบางบอนแล้ว ทั้งสองอุโมงค์นี้อยู่ในฝั่งพระนคร ในอนาคตจะมีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคองเปรมประชากรตามมา

อุโมงค์บางซื่อช่วยระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ 6 เขต รวม 56 ตร.กม.

โครงการก่อสร้างอุโมงค์บางซื่อ จากคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ครอบคลุมพื้นที่ 6 เขต ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร 

แก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนน 6 สายหลักสำคัญทางเศรษฐกิจ

สำหรับอุโมงค์บางซื่อ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจและบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วม 6 จุด ประกอบด้วย

1. ถนนพหลโยธิน จากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว

2. ถนนวิภาวดีรังสิต จากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว

3. ถนนรัชดาภิเษก จากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ

4. ถนนลาดพร้าว จากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ

5. ถนนกำแพงเพชร จากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร 

6. ถนนสามเสน จากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวดช่วงถนนพหลโยธินถึงถนนวิภาวดีรังสิตด้วย

อุโมงค์บางซื่อนับว่าเป็นของขวัญชิ้นโตสำหรับมนุษย์คอนโดทำเลบางซื่อ และผู้อยู่อาศัยในละแวกนี้ที่สัญจรไปมา และต้องพบกับปัญหาซ้ำซ้อนทุกๆ ปีเวลาฝนตก นั่นก็คือน้ำท่วม เรียกได้ว่าขนาดปกติตอนเย็นๆ สายๆ รถติดยาวแล้ว ฝนตกเมื่อไหร่ละก็นั่งรอนอนรถบนท้องถนนกันกันไปยาวๆ อุโมงค์บางซื่อนี่แหละจะเป็นฮีโร่ใหม่ของทุกคนในฤดูฝนนี้
อุโมงค์บางซื่อ

อุโมงค์บางซื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุโมงค์บางซื่อเป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ อาทิ ท่อระบายน้ำ คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรงไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ ตลอดจนช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกันแล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินแล้วระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายสำคัญให้มีระดับต่ำได้รวดเร็วเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลอง นอกจากนี้อุโมงค์ระบายน้ำยังสามารถช่วยให้การนำน้ำดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองในพื้นที่ชุมชนชั้นใน โดยไม่มีผลกระทบกับปัญหาน้ำท่วมในคลองระบายน้ำในพื้นที่ได้อีกด้วย

ข่าวจาก มติชนออนไลน์ และเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์