ล่องเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กับการสร้างแลนด์มาร์ค 14 กม.
12 May 2560
โครงการปรับทัศนียภาพเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะปรับปรุงพื้นที่บริเวณเลียบทางเดินของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นทั้งแหล่งวัฒนธรรม พื้นที่ธรรมชาติทั้งดั้งเดิม และสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะสายน้ำถือเป็นเส้นทางที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใช้เป็นเส้นทางการเดินทาง หาอาหารเพื่อใช้ดำรงชีพ หรือแม้จะเป็นที่อยู่อาศัยก็จะอยู่ในพื้นที่ของสายน้ำ จนปัจจุบันแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่สายน้ำยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิมถึงจะลดน้อยลง จึงถือว่ามีความผูกพันในวิถีชีวิตกับคนไทยไม่ว่าจะสมัยใดก็ตาม

โดยแนวคิดหลักในการดำเนินโครงการคือ“เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” (Chao Phraya for All) การก่อสร้างนั้นจะเป็นการสร้างทางคอนกรีตเลียบแม่น้ำ ที่ความกว้างคอนกรีต 19.5 เมตร ยกสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2.8 เมตร ตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่จะมีระดับผิวถนนอยู่ต่ำกว่าระดับสันเขื่อนป้องกันน้ำ 1.30 เมตร
ประกอบด้วย ทางเดินเท้าความกว้าง 7-10 เมตร อยู่ติดแม่น้ำ ถัดมาเป็นสวนหย่อมกว้าง 3 เมตร ทางรถจักรยานกว้าง 7 เมตร และจะมีการปรับปรุงพื้นที่ชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตดั้งเดิม พัฒนาสถาปัตยกรรมที่สำคัญบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในเป็น Landmark รวมทั้งพื้นที่ทางธรรมชาติด้วย พัฒนาทางด้านคมนาคมทั้งเรื่องท่าเรือ และเส้นทางการใช้ถนนสำหรับจักรยานและรถยนต์เพื่อเชื่อมต่อและสามารถเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ศาลาริมน้ำ แนวคูคลองในด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว รวมทั้งสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำด้วย ทั้งยังมีแผนงานที่จะพัฒนาพื้นที่ให้บริการสาธารณะ อย่างเช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ, ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว, จุดบริการจักรยาน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่เลียบแม่น้ำเป็นประโยชน์ได้ครอบคลุมกันทุกกลุ่ม
จุดที่จะเป็น Landmark ที่สำคัญในระยะทาง 14 กิโลเมตรของโครงการได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่มีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและพื้นที่ของเขตพระราชฐานด้วย
ส่วนเส้นทางการเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นเส้นทางตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม และหลายส่วนของริมฝั่งธนบุรี จะมีทั้งทางเดินเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง และพื้นที่สีเขียวที่จะช่วยเป็นปอดของกรุงเทพให้มีมากขึ้น
มีการสร้างสะพานคนเดินข้ามเพิ่ม 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี และ จากห้างแมคโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย จรัญฯ 84 ส่วนที่เป็นของเดิม อย่าง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานพระราม 8, สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 7, ใต้สะพานทางรถไฟสายสีน้ำเงินและ เลียบคลองบางซื่อ-คลองบางอ้อ ก็จะถูกปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

นอกจากจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณเลียบแม่น้ำแล้ว คูคลองที่เชื่อมโยงจากแม่น้ำทั้งในฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี แต่เดิมเคยเป็นเส้นทางคมนาคมเส้นทางหลัก จนปัจจุบันการเดินทางถูกแทนที่ด้วยถนนแทนคูคลอง ก็จะถูกปรับปรุงให้มีความสวยงามด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ใช้ประโยชน์ในการสัญจรและท่องเที่ยว กลับมาเป็นเวนิสแห่งตะวันออกที่เคยเลื่องลือได้อีกครั้ง

ด้วยแนวคิด”เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” จะทำให้ได้พื้นที่ที่ทุกคนทุกกลุ่มทั้งคนในชุมชน นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ทั่วถึง เพื่อรองรับอนาคตของกรุงเทพ ทั้งยังอนุรักษ์วิถีชีวิต ธรรมชาติ และวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นมรดกของชาติ ให้มีความสวยงาม น่าชื่นชม เป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติต่อไป
ที่มา
http://www.posttoday.com/local/scoop_bkk/444838
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1469618735
http://www.wikimedia.org
http://www.pixabay.com