ผลวิจัยเผย ปี 2050 กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ?
24 December 2562
ทุกคนยังจำเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ปี พ.ศ. 2554 กันได้หรือไม่ เหตุการณ์ในครั้งนั้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปีเลยก็ว่าได้ และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กรุงเทพมหานคร หรือเมืองหลวงของประเทศไทย ก็ได้รับการปกป้องดูแลอย่างเต็มกำลัง เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจภายในเมือง แต่ก็ใช่ว่าคลื่นใต้น้ำลูกนี้ จะนิ่งสงบเสมอไป เพราะล่าสุดงานวิจัยจาก Nature Communications เปิดเผยว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ในปี ค.ศ. 2050 กรุงเทพมหานคร และเมืองหลวงในเอเชียหลายแห่ง กำลังจะจมน้ำ!
โดยข้อมูลได้เผยแพร่ออกมานั้นระบุไว้ว่า ประชากรโลกกว่า 300 ล้านคน กำลังจะต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมในปี 2050 หากทุกคนยังคงนิ่งนอนใจ ไม่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่รีบวางแนวทางป้องกันอย่างจริงจังมากกว่านี้ โอกาสที่น้ำจะเข้าท่วมกรุงเทพก็จะยิ่งมีสูงขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุอีกว่า หากทุกคนยังไม่ช่วยกันลดปริมาณคาร์บอน ตัวเลขจาก 300 ล้านคน อาจเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัวไปถึง 630 ล้านคนภายในปี 2100 เลยทีเดียว
เมื่อมองภาพรวมจำนวนตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่แล้วก็ล้วนเป็นประเทศในแทบภูมิภาคเอเชียทั้งสิ้น ซึ่งมีจำนวนกว่า 237 ล้านคนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจีน, เวียดนาม, บังกลาเทศ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไทย โดยเมืองใหญ่สำคัญ ๆ ของประเทศนั้น ๆ จะได้รับผลกระทบแทบทั้งหมด
หากคิดว่าตัวเลขเหล่านั้นฟังดูเลวร้ายแล้ว แต่มันยังมีโอกาสที่สามารถเลวร้ายขึ้นไปได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะงานวิจัยดังกล่าว ประเมินเพียงแค่ปัจจัยผลกระทบการเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเลเท่านั้น ยังไม่ได้นำปัจจัยเสริมอย่างการเติบโตของประชากรในอนาคต และการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะของทะเลมารวมในวิจัยครั้งนี้...
สำหรับประเทศไทย พลเมืองที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง รวมถึงกรุงเทพมหานคร มากกว่า 10% เสี่ยงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูง หรืออาจต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมภายในปี 2050 ซึ่งผลวิจัยมีตัวเลขที่มากกว่าครั้งก่อนหน้าถึง 12 เท่าเลยทีเดียว
แล้วเราจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงหรือไม่?
แม้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จัทนร์โอชา จะเคยพูดถึงประเด็นการย้ายเมืองหลวงในที่ประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า “กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ทำให้ดีขึ้นได้”
ทางด้านของ รศ.ดร.สุจริต คูณธรกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยมีมาตรการรองรับทั้งเรื่องการทรุดของแผ่นดินจากการสูบน้ำ, การวางผังเมืองรองรับน้ำหนัก, การจัดเตรียมการใช้ประโยชน์พื้นที่, การจัดการน้ำท่วม, การเพิ่มความระมัดระวัง และมีแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ รวมถึงการเกาะติดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการจัดการเพื่อลดภาวะของการขึ้นของระดับน้ำทะเลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่เราจะตระหนัก ตื่นตัว และติดตามข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไปนัก เพราะอาจทำให้เกิดข้อเรียกร้องที่เกินข้อเท็จจริงได้
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/interactive/2019/10/29/climate/coastal-cities-underwater.html
- https://www.posttoday.com/world/604913
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/855574
- https://www.ryt9.com/s/prg/3069105