เมื่อกรุงเทพกลายเป็นบ้านหลังที่สองของคนมากมาย
31 August 2562
กรุงเทพเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่มีผู้อยู่อาศัยมากที่สุดด้วย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยของการมีจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นก็มาจากการที่กรุงเทพมหานคร ได้กลายเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของใครหลายคนไปเสียแล้ว แถมบางคนก็ยังอยู่อาศัยในบ้านหลังที่สองแห่งนี้เป็นเวลานานกว่าบ้านหลังแรกอีกด้วย
การที่กรุงเทพกลายเป็นบ้านหลังที่สอง และแหล่งทำมาหากินของคนจากทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยที่เคยมีอย่างเพียงพอ กลายเป็นจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี่เองจึงทำให้มีการเกิดขึ้นของหอพัก, อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมากมายหลายแห่ง โดยแม้ว่าจะเกิดขึ้นมากเพียงใด ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเพียงพอต่อจำนวนผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง
และแม้ว่าการพยายามสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นทางเลือกของผู้คนในกรุงเทพมากขึ้นเพียงใด ทว่าที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นใหม่กลับมีขนาดที่เล็กลง อย่างที่จะเห็นได้จากทั้งคอนโดหลายๆ แห่ง และอพาร์ทเมนท์หรือหอพักจำนวนมาก ซึ่งลดขนาดของพื้นที่ใช้สอยในห้องลง เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนของห้องพักให้มากขึ้น และแน่นอนว่าราคาค่าเช่านั้นถูกลงด้วย การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ดูเหมือนจะช่วยรองรับการหาที่อยู่ได้ก็จริง แต่เมื่อมองถึงภาพรวมแล้ว กลับพบว่า
ที่อยู่อาศัยขนาดเล็กนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้ในอนาคต
เมื่อครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้น
เมื่อการอยู่อาศัยในห้องไม่ดีอยู่แค่เพียงคนเดียวอีกต่อไป เกิดมีคู่ครองและบุตรก็ส่งผลให้ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวมากขึ้น ฉะนั้นแล้วหากไม่สามารถที่จะโยกย้ายที่อยู่ไปสู่บ้านจริงๆ หรือมีพื้นที่ที่กว้างขึ้น ก็จะต้องอาศัยอยู่อย่างแออัดทีเดียว
คุณภาพชีวิตที่แตกต่าง
ต้องยอมรับว่าการอยู่อาศัยแบบหอพักนั้นเป็นการอาศัยที่ต้องอยู่รวมกับผู้คนจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้ร่วมหอพักทุกคนเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งพื้นที่สีเขียวก็มีค่อนข้างน้อยการอยู่อย่างแออัดยิ่งส่งผลในเรื่องของมลภาวะและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการจอดยานพาหนะรวมกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง
เสียค่าเช่ารายเดือนโดยไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ
หากเปรียบเทียบกับการซื้อเป็นเจ้าของ แล้วผ่อนรายเดือน กับการจ่ายค่าเช่ารายเดือน จะเห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าเช่าในแต่ละเดือนไม่สามารถการันตีได้เลยว่าในอนาคตจะต้องถูกย้ายจากหอพักหรือพาร์ตเม้นท์หรือไม่ เรียกได้ว่าไม่มีสิทธิ์ต่อการเป็นเจ้าของ ซึ่งการซื้อบ้านสักหลังหรือซื้อคอนโดสักห้องยังมีโอกาสในการเป็นเจ้าของเมื่อผ่อนครบระยะสัญญาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแลกกับการจ่ายเงินเป็นจำนวนมากกว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนกรุงแล้วถือว่ายังเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมาก
การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ทางภาครัฐเองก็ได้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของที่อยู่อาศัย เพื่อให้เพียงพอต่อผู้ที่มีรายได้น้อย และช่วยแก้ไขในเรื่องของคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่มากขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของทางภาครัฐนั้น มีดังนี้
โครงการบ้านเอื้ออาทร
เป็นโครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย คือไม่เกิน 10,000 บาท และ 15,000 บาท ซึ่งลักษณะของบ้านเอื้ออาทรนั้นจะมีอยู่สองรูปแบบของ แบบแฟลต และแบบบ้านเดี่ยวขนาดเล็ก โดยการผ่อนชำระจะอยู่ที่ 1,000 - 1,500 บาท ในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี
โครงการบ้านมั่นคง
โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมของคนในชุมชน ที่อาจมีปัญหาทั้งเรื่องของสาธารณูปโภค, การปรับเปลี่ยนผังการก่อสร้างใหม่ หรือแม้แต่การโยกย้ายชุมชนเดิมไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้สะดวกและง่ายขึ้น
โครงการบ้านยั่งยืน
สำหรับโครงการบ้านยั่งยืนจะมีรูปแบบของที่พักอาศัยไม่ต่างจากโครงการบ้านเอื้ออาทรมากนัก แต่ในรายละเอียดและเงื่อนไขของการเป็นเจ้าของบ้านในโครงการนี้จะแตกต่างกัน ซึ่งก็คือต้องเป็นที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง หรือรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน
โครงการชุมชนดินแดง
เป็นโครงการที่ใช้เวลาพัฒนาในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้จำนวนหนึ่งแล้ว สำหรับโครงการนี้คือโครงการที่จะช่วยพัฒนาแฟลตดินแดง หรือชุมชนดินแดงให้เปลี่ยนจากการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่แออัด กลายเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความลงตัว และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยได้มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ก็คงจะต้องลองดูกันต่อไปว่า โครงการต่างๆ ที่มีการเกิดขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ และการเกิดขึ้นของคอนโดที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตขาวกรุงเทพไปในทิศทางใดบ้าง รถจะติดมากขึ้น หรือการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะสะดวกสบายยิ่งขึ้น งานนี้ก็คงต้องไปหาตำตอบกันในอนาคตกันแล้วล่ะ
บทความที่น่าสนใจ
สิ่งแวดล้อมหลอมนิสัย เหตุใดเวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน
ใครๆ ก็อยากอยู่ในเมืองกรุง แล้วเมืองกรุงทำอย่างไร
ค่าครองชีพ ปัญหาทุกข์ใจของชนชาวกรุง
ที่จอดรถ ภายในกรุงเทพ กับมาตรการลดที่จอดรถใกล้รถไฟฟ้า