เจาะเทรนด์โลก 2020 : Bio Design ดีไซน์เพื่อโลกสู่วันที่ไม่มีขยะให้ทิ้ง~
1 November 2562
: อย่าปล่อยให้เทรนด์รักษ์โลกกลายเป็นกระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เพราะปัญหาที่ตามมาล้วนส่งผลระยะยาว และขยายตัวเป็นวงกว้าง
แรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฎิวัตอุตสาหกรรม ก็มีขยะมากมายที่ถูกฝังกลบไม่รู้จักจบจักสิ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบ Single-use ที่ดูท่าจะเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน ทุก ๆ นาที แต่สิ่งที่ดีใจที่สุด คือทุกวันนี้หลายภาคส่วนหันมาตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น และจะยิ่งมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในปี 2020
อย่างก่อนหน้านี้ก็มีการพัฒนา Biodegradable พลาสติกย่อยสลายเองขึ้น เพื่อหวังจะช่วยปัญหาการฝังกลบ และปริมาณขยะตกค้างในท้องทะเล แต่ทางตรงกันข้ามกลับมีรายงานหลายฉบับบ่งชี้ว่า...
พลาสติกเหล่านี้ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ที่จะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์
อาทิ มหาวิทยาพลีมัทก็พบข้อมูลว่าทั้ง Biodegradable, Oxo-Biodegradable (ถุงพลาสติกที่สามารถแตกตัวเป็นผงไมโครพลาสติก) และ Compostable (พลาสติกประเภทย่อยสลายเร็ว) ยังคงหลงเหลืออยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก แถมยังมีค่าอายุเทียบเท่า แม้จะถูกทิ้งลงทะเลไปแล้ว 3 ปีก็ตาม!!
ดังนั้น กระแสการรีไซเคิลขยะพลาสติกจึงเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เกิดเป็นงานดีไซน์เชิง Bioplastic เปลี่ยนจากพอลิเมอร์มาเป็นพืชชีวภาพแทน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของดีไซเนอร์ทั่วโลก เพื่อวางกรอบการพัฒนางานดีไซน์ให้เป็นมิตรต่อโลกโดยเฉพาะ
คราวนี้ลองมาดูตัวอย่างงาน Bio Design กันดีกว่า
If Algae Mattered : แผนที่พืชน้ำ เพื่อผลักดันการพัฒนา Bio Design
เริ่มด้วย "If Algae Mattered" แผนที่พืชน้ำที่กำลังจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ จาก มีเรียม ชาบานี (Meriem Chabani) และมายา เนเมตา (Maya Nemeta)
Bio Design บรรจุภัณฑ์แนวคิดใหม่ ใช้แทนพอลิเมอร์
: Desintegra.me ซองขนมจากสาหร่ายทะเล
ถัดมาเหมาะสำหรับคนชอบทานขนม เพราะรู้หรือไม่? ว่ากว่าซองขนมที่เราทานจะผ่านกระบวนการรีไซเคิลนั้นต้องสิ้นเปลืองมากขนาดไหน นี่จึงเป็นที่มาของ Desintegra.me โครงการที่นำสารสกัดจากสาหร่ายทะเลมาทำเป็นวุ้น เพื่อใช้ทดแทนซองพลาสติก
แถมยังมีคุณสมบัติเทียบเท่าพอลิเมอร์ สามารถคงสภาพของอาหารทั้งรสชาติ และกลิ่นได้เป็นอย่างดี
ทางด้านความสวยงาม ก็ได้สีสันมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีสกัดจากผลเบอร์รี่, บีทรู หรือผักกาดม่วง โดยขั้นตอนต่าง ๆ ก็สามารถทำได้เองง่าย ๆ ที่บ้าน สำหรับใครที่ชื่นชอบงาน Bio Design แนวนี้ ก็ลองเข้าไปติดตามผลงานกันได้เลยที่ margaritatalep.com
: SCOBY ขยะเกษตรกรรมในวันนี้ คือ บรรจุภัณฑ์ที่ดีในวันหน้า
ปฎิเสทไม่ได้ว่า หลายประเทศทั่วโลกนั้นมีขยะที่เกิดจากภาคการเกษตรค่อนข้างมาก ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นในนั้นเช่นกัน จึงเกิดเป็นไอเดียที่สนใจ นำขยะเหล่านั้นมาหมัก!! ใส่แบคทีเรียและยีสต์ จนเกิดเป็น 'SCOBY' บรรจุภัณฑ์น้ำหนักเบา ย่อยง่าย ผลงงานของโรซ่า ยานูช (Roza Janusz) แถมยังสามารถเพาะเองได้ที่บ้านด้วยเก๋ ๆ
: Ooho! ซองนี้กินได้นะ
"ขอซอสเพิ่มหน่อยค่ะ" ไหนใครที่ชอบขอซอสตามร้านอาหารเพิ่มแบบเราบ้าง... ตอนนี้ในต่างประเทศเขามีนวัตกรรมซองซอสกินได้กันแล้วนะ โดยเป็นผลงานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของทีม Skipping Rocks Lab ที่ผลิตซองเครื่องปรุงต่าง ๆ จากสาหร่าย ช่วยตอบโจทย์การย่อยสลายได้เป็นอย่างดี สามารถย่อยและหายไปจากถังขยะได้ในเวลา 6 สัปดาห์
แถมทีมออกแบบยังระบุว่า สามารถพัฒนาให้มันสามารถกินได้ด้วย!! กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดแนวคิดออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งใช้บรรจุเครื่องดื่ม และน้ำผลไม้ "แค่คิดก็อยากลองกินน้ำผลไม้จากซองนี้ดู น่าจะสดชื่นมากทีเดียว"
Polylacid Acid (PLA) เปลี่ยนพลาสติกรีไซเคิล มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ
บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนขนาดใหญ่ ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเปร่งประกายของงานดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับผลงานการจัดแสดงของแบรนด์ COS ณ Milan Design Week 2019 ที่ผ่านมาก็ได้อาเธอร์ มามู-มานี (Arthur Mamou-Mani) มาช่วยสร้างสรรค์พื้นที่ด้วยอิฐชีวภาพ (BioBrick) พร้อมขึ้นรูปด้วยนวัตกรรม 3D Printing สูงกว่า 30 เมตร เพื่อช่วยกระตุ้นและเปิดมุมมองเกี่ยวกับวัสดุทดแทน จำพวก ไม้ หรือเหล็กในวงการสถาปัตยกรรมได้
และแน่นอนว่า ปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้หมดไปในเวลาเพียง 4-5 ปี แต่คงจะดีกว่า ถ้าเราช่วยกันไม่เพิ่มปัญหาให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการลดใช้ผลิตภัณฑ์ Single-Use และให้ปี 2020 นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนสังคมปลอดพลาสติกยุคใหม่
อ้างอิง
web.tcdc.or.th