ผังเมือง กฎเกณฑ์แห่งการเติบโตที่เมืองขาดไม่ได้
15 August 2562
เมืองซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีความเจริญมากก็จะมีประชากรอยู่อาศัยทั้งแบบถาวรและชั่วคราว เวลาผ่านไปประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความต้องการในการใช้พื้นที่มากยิ่งขึ้น มีการก่อสร้างบ้านเรือน อาคารและถนนมากมายหลายเส้นทาง
โดยเฉพาะตึกสูงที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากเมืองไม่มีผังเมืองการใช้พื้นที่ก็จะเป็นไปแบบไร้ทิศทาง ผังเมืองจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างมากเปรียบเสมือนแม่แบบหรือพิมพ์เขียวในการออกแบบจัดการกับการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ของเมืองในทุกตารางเมตรให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เหมาะสมมากที่สุด ในการออกแบบผังเมืองจะมีการกำหนดพื้นที่และควบคุมการใช้ประโยชน์กับพื้นที่บริเวณต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ได้มีการออกแบบไว้
ข้อเสียของเมืองที่ขาดการวางผังเมือง
เมืองที่ไม่มีการวางผังเมืองมาตั้งแต่แรก ผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินจึงมีอิสระในการใช้พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึก สร้างอาคารสูง สร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ก่อให้เกิดผลเสียคือ
ทำให้เกิดความแออัด เกิดการสะสมของมลพิษ
เมื่อไม่มีการวางผังเมือง การสร้างสิ่งก่อสร้างทุกชนิดและทำกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง เช่น การสร้างตึกสูงอยู่ติดกันโดยไม่มีการกำหนดระยะห่างของที่ตั้งจากถนนหรือจากพื้นที่โดยรอบ ทำให้อากาศถ่ายเทยากเกิดเป็นบริเวณอับทึบมลภาวะไม่ให้มีทางระบายออก
ถนนถูกสร้างโดยไม่มีการออกแบบล่วงหน้าอย่างดีทำให้ถนนแทรกตัวอยู่ตามพื้นที่ของชุมชนหนาแน่นเกิดมลพิษทั้งทางเสียง ทางอากาศ ฝุ่นควันคุณภาพชีวิตผู้คนจึงตกต่ำ ตรอกซอกซอยเล็กๆ เมื่อมีตึกอาคารก่อสร้างขึ้นติดกัน ก็กลายเป็นซอยที่คับแคบแออัด พื้นที่สีเขียวหายไป
เกิดความไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย
เมื่อขาดผังเมืองและมีแต่ตึกสูง ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด การเกิดมิจฉาชีพ อาชญากรรมก็กระทำได้ง่าย การดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นไปได้ยาก ผู้คนจึงอยู่ในเมืองที่ไร้ผังเมืองอย่างเสี่ยงต่ออันตราย อีกทั้งการสร้างตึกสูงอาจจะไม่ได้มาตรฐาน มีกรณีที่เกิดขึ้นให้พบเห็น รับรู้อยู่ไม่น้อยสำหรับเหตุการณ์ตึกเก่าถล่มผ็คนบาดเจ็บ เสียชีวิตเหล่านี้เป็นต้น
การพัฒนาต่างๆ ทำได้ยากและส่งผลตามมาเป็นลูกโซ่
เมื่อเกิดความต้องการจะพัฒนาขยายถนน เส้นทางคมนาคมอื่นๆ เพื่อรองรับการเติบโตและจำนวนประชากรก็จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ถนนบางสายเมื่อคับแคบและต้องการขยายถนน การเวณคืนที่ดินเป็นไปได้ยากเพราะประชาชนในบริเวณนั้นต้องย้ายรกราก ย้ายที่อยู่อาศัยในขณะที่วิถีชีวิต การงาน อาชีพ สถาบันศึกษาของพวกเขาก็อยู่นบริเวณนั้น การเวณคืนจึงใช้เวลาและเป็นไปได้ยากสิ้นเปลืองทรัพยากรและเกิดเป็นปัญหา
เราจะเห็นตัวอย่างของผลเสียที่เมืองไม่มีการวางผังเมืองได้จากย่านใกล้ๆ เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์ซึ่งแต่เดิมนั้นนับว่าเป็นถนนสายแคบๆ ที่สร้างขึ้นมานานนับเป็นย่านเก่าแก่ในเขตฝั่งธนที่เจริญและมีผู้อยู่อาศัยกันอย่างคับคั่ง สองฝั่งถนนเต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ ถนนจากเดิมที่เป็นสายแคบยาวไปจรดเชิงสะพานพระราม 7 ไม่เคยมีการขยายถนน เพราะไม่สามารถขยายถนนได้เนื่องจากสองข้างทางเต็มไปด้วยตึก
เมื่อมีการเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้ามหานครขึ้นในปี พ.ศ. 2555 และกำลังจะแล้วเสร็จเปิดใช้บริการในปี พ.ศ. 2563 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ตลอดถนนเส้นนี้กลายเป็นบริเวณอับทึบ ฝุ่นควันจากรถยนต์ข้างล่างไม่สามารถระบายได้เพราะถูกเส้นทางรถไฟฟ้าด้านบนกั้นไว้ เมื่อมองจากข้างล่างก็แทบจะไม่เห็นท้องฟ้า ชุมชนที่แออัดอยู่แล้วจึงยิ่งดูแออัดและไม่มีคุณภาพชีวิตที่เพียงพอ ไม่น่าอยู่อาศัยและในอนาคตก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการวางผังเมืองนับเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกเมืองทั่วโลกจำเป็นและควรจะต้องมีการวางผังเมืองที่ชัดเจนและปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง
ถ้าเช่นนั้นผังเมืองที่ดีควรจะต้องเป็นอย่างไร
ต้องเป็นผังเมืองที่รองรับเส้นทาง รูปแบบของการคมนาคม
เมื่อมีการวางผังเมืองจะต้องคำนึงถึงการคมนาคม เส้นทางจราจรที่สะดวกและคล่องตัว ทุกพื้นที่ในเมืองต้องเดินทางเชื่อมต่อถึงกันได้ จะเห็นตัวอย่างได้ตามเมืองที่มีการวางผังเมืองดีในส่วนต่างๆ ของโลก มักจะกำหนดให้มีศูนย์กลางของเมือง เช่นวงเวียน สถานที่สำคัญทางราชการตั้งอยู่ตรงกลาง จัดให้มีจตุรัสหรือวงเวียน ทำถนนเป็นเส้นทางกระจายไปในส่วนต่างๆ คล้ายตาข่ายแมงมุมหรือทำเป็นบล็อกของถนนที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างเป็นระเบียบ
เมื่อไปอยู่ตรงจุดใดของเมืองก็สามารถจะเดินทางไปจุดอื่นๆ ได้ง่ายไม่หลงทางเมื่อจะขยาย หรือพัฒนาการคมนาคมก็เป็นไปอย่างสะดวก
ต้องสวยงาม ร่มรื่นเหมาะแก่การอยู่อาศัย
ไม่ว่าเมืองนั้นจะเต็มไปด้วยย่านธุรกิจ การค้า ย่านที่ตั้งหน่วยงานราชการหรือส่วนที่อยู่าศัยของผู้คนเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ผังเมืองที่ดีจะต้องมีการกำหนดพื้นที่สีเขียวที่จะช่วยให้เกิดความร่มรื่นเหมาะแก่การอยู่อาศัย มีการออกแบบพื้นที่ที่สำคัญสำหรับชุมชน เช่นโรงเรียน สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ที่ชุมนุมทางศาสนา สวนสาธารณะให้เพียงพอ กำหนดสัดส่วนพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอเป็นต้น
เกิดความปลอดภัยต่อผู้คนที่อาศัยอยู่
ในการวางผังเมืองในรูปแบบของตาข่ายแมงมุม หรือบล็อกสี่เหลี่ยมตารางจะทำให้การดูแลความปลอดภัยเป็นไปได้ดีกว่าเมืองที่ไร้ผังเมือง เช่น ตัวเมืองจังหวัดยะลาที่ติดอันดับผังเมืองที่ดีมี่สุดในโลก มีการวางผังเมืองเป็นวงกลมแบบตาข่ายแมงมุม ทำให้ปลอดภัยน่าอยู่ต่างจากผังเมืองในเขตบางรักหากจะพิจารณาจะเห็นได้ว่าเขตบางรักมีตรอกซอกซอยซับซ้อน เมื่อเกิดอาชญากรรมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เช่นไฟไหม้ การนำรถดับเพลิงเข้าไปในตรอกเล็กก็ทำได้ยากและใช้เวลา เกิดความเสียหายได้มาก
รองรับการขยายของเมืองได้อย่างดี
ผังเมืองจะเป็นตัวกำหนดในการขยายเมืองในอนาคต เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นคือการรุกล้ำพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติและพื้นที่การเกษตร รุกล้ำย่านที่เป็นแหล่งน้ำลำคลองทำให้เกิดขยะในคลองน้ำเน่าเสียไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หากมีผังเมืองที่ดีจะมีการควบคุมการขยายของเมืองว่าบริเวณใดสามารถก่อสร้างได้บ้าง
แท้จริงแล้ว ตึกสูงสามารถสร้างขึ้นในเมือง และไม่เป็นปัญหาต่อผังเมืองที่ดี เพียงแต่ต้องมีการกำหนดผังเมืองอย่างชัดเจน ว่าพื้นที่ใดบริเวณไหนสามารถสร้างตึกสูงได้บ้าง และมีความสูงตามกำหนดได้เท่าไร ซึ่งปัจจุบัน กรุงเทพมหานครและทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาของผังเมืองมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าภาครัฐเริ่มมีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขในหลายๆ จุดแล้ว
บทความที่น่าสนใจ
10 สีบนผังเมือง 10 ลักษณะทำเลส่งผลต่อการลงทุน
เลือกผังโครงการคอนโดอย่างไร? ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราเอง
รวมผังรถไฟฟ้า 11 สาย ที่ควรรู้!
ปรับผังเมือง รองรับที่ดิน-คอนโด โซนตะวันออกกทม. ที่มาแรง