ESTOPOLIS | ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าในคอนโด
22 May 2560
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาชาว Estopolis คงได้ยินข่าวการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือนพฤษภาคม - เดือนสิงหาคม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 12.52 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวอยู่ที่ระดับ -24.77 สตางค์/หน่วย เป็นผลพ่วงมาจากราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับสูงขึ้น ตามรอบการปรับราคาตามสัญญา ทั้งจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้านั่นเอง
หลังจากที่ได้ฟังข่าวนี้เชื่อเลยว่าชาวคอนโดหลายคนต้องขอเวลาทำใจกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ถึงแม้คอนโดจะเป็นที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ใครหลายๆ คน แต่ก็เป็นที่อยู่อาศัยที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน ไหนจะค่าส่วนกลาง เงินกองทุน ค่าผ่อน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การปรับค่าไฟในครั้งนี้เป็นการเพิ่มรายจ่ายให้กับชาวคอนโดเป็นอย่างมาก
เมื่อไม่สามารถหยุดยั้งมติการการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค. - ส.ค. ได้ สิ่งที่เราชาวคอนโดสามารถทำได้ก็คือหาวิธีการประหยัดค่าไฟฟ้า โดยการปิด ปรับ ปลด ลด การใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยลดรายจ่าย เซฟเงินได้อีกทาง ซึ่งทุกคนคงมีเคล็ดลับการประหยัดค่าไฟฟ้าที่ได้ยินบ่อยๆ มาตั้งแต่เด็กๆ นั่นก็คือ เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา , เลือกซื้อเครื่องไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 , ปิดเมื่อไม่ได้ใช้ เป็นต้น แต่ชาวคอนโดมั่นใจจริงๆ หรือว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาตลอดนั้นเป็นการประหยัดพลังงานที่ถูกต้อง ? บางทีความเชื่อเกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าอาจที่ได้รับฟังมาอาจเป็นเรื่องที่ผิดมาตลอดเลยก็ได้
วันนี้ Estopolis จะมาเผยความจริงว่าความเชื่อในการประหยัดพลังงานอะไรบ้างที่เป็นเรื่องหลอกลวง

1. ปิดแอร์แล้วรีบเปิดหน้าต่างประตูทันที ประหยัดค่าไฟกว่า
ชาวคอนโดท่านใดที่คิดว่าวิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าไฟในคอนโดได้ ต้องขอบอกเลยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะวิธีนี้ไม่ได้ช่วยประหยัดค่าไฟแม้แต่น้อย กลับทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้นเมื่อเปิดใช้งานในครั้งต่อไปอีกต่างหาก
เนื่องจากความชื้นจากอากาศที่อยู่ภายนอกจะเข้ามาอยู่ในห้อง ไปสะสมตามผ้าม่าน ผ้าหม พรม ฯลฯ เมื่อเปิดเครื่องอีกครั้งจึงต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อลดความชื้นที่อยู่ตามที่ต่างๆ ก่อนที่จะทำให้ห้องเย็นลงนั่นเอง
2. ประตูห้องน้ำแบบบานเกล็ดสิดี ประหยัดค่าไฟในคอนโดแบบ plus plus
ถ้าคุณกำลังปิ๊งไอเดียดีๆ ที่จะช่วยประหยัดค่าไฟในคอนโดด้วยการติดประตูบานเกล็ดในห้องน้ำหรือห้องที่อยู่ติดกับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกอยู่เปล่า ? ขอให้เปลี่ยนความคิดใหม่ แทนที่ประตูบานเกล็ดจะช่วยระบายอากาศ แต่อาจจะเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นแทนได้นะ
เพราะความชื้นจากห้องน้ำจะเป็นตัวที่ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักมาก เพื่อรีดความชื้นออกก่อนที่จะทำให้ห้องเย็นยังไงล่ะ
ดังนั้นคุณควรปิดประตูห้องน้ำ และเปิดพัดลมดูดความชื้นที่ติดตั้งในห้องน้ำเสมอ

3. ปิดม่านไม่ได้ช่วยอะไร เพราะไอร้อนได้ผ่านกระจกมาแล้ว
หลายคนคิดมองว่าหน้าต่างเป็นส่วนที่ทำให้แดดสามารถส่องถึงตัวห้องได้ และทำให้ห้องร้อน จึงต้องมีการติดผ้าม่านทึบ ม่านกันแสงและกันความร้อนไม่ให้เข้าห้อง แต่จริง ๆ แล้ว ความร้อนได้มาเยือนห้องคุณเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่มันโดนกักอยู่ระหว่างกระจกและม่านบางส่วน
หากห้องของคุณมีหน้าต่างที่ทำหน้าที่คล้ายเรื่อนกระจกอยู่ เราแนะนำให้คุณหาฟิล์มกรองแสง ที่กัน UV และความร้อนมาติดตั้งจะดีกว่า เพราะนอกจากห้องของคุณจะเย็นขึ้นแล้ว ในบางช่วงเวลาคุณยังสามารถเปิดม่าน เปิดแอร์โดยที่ยังประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีกด้วย

4. หลอดไฟที่สว่างมาก ยิ่งกินไฟมาก
“ยิ่งสว่างมาก ยิ่งกินไฟมาก” ความเชื่อที่หลายๆ คนได้รับการปลูกฝั่งมาว่า “ค่าวัตต์” จะส่งผลต่อ “ความสว่าง” จริงอยู่ที่ในอดีตเป็นเช่นนั้น เพราะ หลอดไส้ ให้แสงสว่างทันทีที่กดสวิสต์ ราคาถูก ติดตั้งง่าย แต่ก็กินไฟมาก ร้อนเร็ว อายุการใช้งานสั้น ทำให้ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว
ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาโดยมนุษย์ทำให้เกิดหลอดไฟ LED ที่ให้แสงสว่างได้ดีแต่กินไฟน้อยสุดๆ มาพร้อมกับความอึด! ทน! ถึก! และหลอดไฟก็ไม่ร้อนอีกด้วยเพราะความร้อนจากหลอดไฟคือเรื่องใหญ่ที่ทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น

5. ตู้เย็นยิ่งใหญ่ ยิ่งเปลือง
อีกหนึ่งความเชื่อของคนไทยหลายๆ คนที่คิดว่าขนาดตู้เย็นยิ่งใหญ่ ยิ่งเปลืองไฟมาก ชาวคอนโดบางคนจึงนิยมซื้อตู้เย็นขนาดเล็กมากกว่า ด้วยเหตุผลที่กินไฟน้อยกว่าและใช้พื้นที่ภายในไม่มาก แต่ใช้ไปใช้มาก็ยังกินไฟเหมือนเดิม เผลอๆ นานวันเข้ายิ่งมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ?
สิ่งสำคัญในการเลือกซื้อตู้เย็นควรเลือกตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟได้ดีสุด ทั้งในเรื่อง ค่าไฟฟ้า อายุการใช้งาน เครื่องไม่ส่งเสียงดัง ดังนั้นการลือกซื้อตู้เย็นไม่ได้วัดกันที่ขนาดที่ยิ่งใหญ่ยิ่งเปลืองไฟเสมอไป
สิ่งที่คุณควรดูก่อนซื้อตู้เย็นคือฉลากประหยัดไฟ เพราะบนนั้นจะระบุกำลังไฟ และไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี ซึ่งคุณสามารถนำไปเปรียบเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ที่วางขายอยู่ในห้างเดียวกันได้

6. ปิดทีวีที่เครื่อง กินไฟน้อยกว่า
ทุกคนคงจะเคยได้ยินพ่อแม่พูดกรอกหูมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า “ห้ามปิดทีวีด้วยรีโมท ให้กดปิดที่สวิสต์จะได้ไม่เปลืองไฟ” จึงทำตามคำพูดนั้นจนติดนิสัย แต่หลงลืมไปรึเปล่าว่าที่ปิดด้วยสวิสต์น่ะ ได้ดึงปลั๊กออกแล้วหรือยัง ? ถึงแม้จะกดปิดด้วยสวิสต์ไปแล้วแต่ยังเสียบปลั๊กค่าไว้อยู่ทำให้ยังเหลือไฟเลี้ยงวงจรอยู่ส่วนนึง
ทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดการใช้พลังงานจากทีวีได้ก็คือเลือกใช้ตัวช่วยอย่างปลั๊กพ่วงในการตัดวงจรไฟฟ้า เพียงแค่กดสวิสต์ครั้งเดียวก็สามารถเปิดปิดการทำงานของเครื่องได้แล้ว ทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งานจาการถอดๆ เสียบๆ ปลั๊กอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟที่ได้รับรู้มาอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป สิ่งสำคัญจริงๆ ที่จะลดการใช้พลังงานในคอนโดได้ดีที่สุดอยู่ที่ “ตัวคุณ” ด้วยการ ปิด ปรับ ปลด ลด การใช้ไฟฟ้าเพื่อลดค่าไฟที่ปรับขึ้นในงวดพฤษภาคม - สิงหาคม กันเถอะ
ขอบคุณข้อมูลจาก