Gen Y หนี้เยอะกว่าทุกรุ่น! แบงก์เป็นห่วงเตรียมคุมหนี้ด้วยมาตรการนี้!?
15 September 2562
สถิติเผย Gen Y หนี้เยอะกว่าทุกวัย จน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เป็นห่วง กังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง เตรียมศึกษาและผลักดันเกณฑ์ DSR คุมหนี้สินไม่ให้เกิน 70% ของรายได้ ถึงแม้ยังไม่ใช้ในปี 2562 นี้
หลายคนอาจเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับข่าวหนี้ครัวเรือนในประเทศพุ่งสูงขึ้นจนติดอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองแค่เกาหลีใต้ ซึ่งทางเว็บไซต์ประชาชาติได้รายงานว่าสิ้นไตรมาส 1/2562 หนี้ครัวเรือนในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% เท่ากับ 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.7% ของสัดส่วน GDP
Gen Y ช่วงอายุ 19-38 ปีมีหนี้เยอะสุดในรุ่น
ตามการรายงานจาก ธปท. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (via: SCB) มาด้วยว่ากลุ่ม Gen Y ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524-2543 (ช่วงอายุ 19-38 ปี) มีสัดส่วนหนี้มากที่สุด ซึ่งจากสถิติของ ธปท. ระบุว่าคนไทยอายุ 30 ปีมีหนี้ถึง 50%
นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของกลุ่มที่อยู่ช่วงอายุ 29 ปียังเป็น หนี้เสีย (NPLs) ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่องก็คือจากการศึกษาของบริษัทเครดิตแห่งชาติพบว่า "คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น และเป็นหนี้มากขึ้น" อีกด้วย
Gen Y เป็นหนี้จากบัตรเครดิตมากสุด ทิ้งห่างทุกวัย
จากสถิติการขอสินเชื่อประจำไตรมาส 1/2560 ที่ทาง SCB นำมารายงานระบุอันดับการเป็นหนี้แต่ละประเภทของทุก Generation ตั้งแต่มากสุดไปน้อยสุดได้ดังนี้
Gen Y
- บัตรเครดิต 56% (อันดับที่ 1)
- สินเชื่อบ้าน 49% (อันดับที่ 2)
- สินเชื่อรถยนต์ 46% (อันดับที่ 3)
- สินเชื่อส่วนบุคคล 41% (อันดับที่ 4)
Gen X
- สินเชื่อรถยนต์ 40%
- สินเชื่อบ้าน 39%
- สินเชื่อส่วนบุคคล 38%
- บัตรเครดิต 33%
Baby Boomer
- สินเชื่อส่วนบุคคล 21%
- สินเชื่อรถยนต์ 14%
- สินเชื่อบ้าน 12%
- บัตรเครดิต 11%
จากสถิติจะเห็นได้ชัดว่า Gen Y คว้าแชมป์การเป็นหนี้นำโด่งทุกประเภท แต่ที่เห็นชัดที่สุดก็คือหนี้บัตรเครดิตที่ Gen Y ครองสถิติ 56% ขณะที่ Gen X และ Baby Boom มีสัดส่วนการเป็นหนี้บัตรเครดิต 33% และ 11% ตามลำดับ
ผลกระทบที่ Gen Y อนาคตของชาติเป็นหนี้มากที่สุด!?
นักวิเคราะห์หลายท่านได้แสดงความเป็นกังวลในกรณีที่ Gen Y ซึ่งเป็นหนี้มากสุดในรุ่นว่าอาจส่งผลกระทบกับประเทศได้ โดยบทบรรณาธิการของ แนวหน้า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
"อนาคตของประเทศชาติจะน่าเป็นห่วงมากสักเพียงใด เพราะต้องไม่ลืมว่าถ้ากำลังสำคัญของประเทศชาติกลายเป็นผู้ไร้ระเบียบวินัย และมีความอ่อนแอทางการเงิน ก็หมายความว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็ไม่น่าจะเข้มแข็งไปได้"
ธปท. เป็นห่วงเตรียมคุมหนี้ด้วยมาตรการ DSR
แน่นอนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีสถิติการเป็นหนี้ของคนทุกวัยอยู่ในมือ ซึ่งพวกเขาก็รู้ดีอยู่แล้วว่าหากหนี้ครัวเรือนของประเทศพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแบบนี้อาจส่งผลเสียทั้งตัวบุคคลและอนาคตของประเทศได้ จึงเตรียมศึกษาและพลักดัน เกณฑ์หนี้สินต่อรายได้ หรือเรียกสั้นๆ ว่า DSR (ย่อมาจาก Debt Service Ratio)
มีข่าวรายงานมาว่า ธปท. จะกำหนดหนี้สินให้ไม่เกิน 70% ของรายได้ (ไม่รวมภาระสินเชื่ออสังหาฯ) สำหรับ 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1) กลุ่มเริ่มทำงาน 2) กลุ่มผู้มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท/เดือน และ 3) กลุ่มคนเกษียณ ยกตัวอย่างเช่น หากมีรายได้ต่อเดือน 20,000 บาท ควรมีหนี้สินรวมทุกธนาคารไม่เกิน 14,000 บาท (70% ของ 20,000) และมีเงินเหลือ 6,000 บาท (30% ของรายได้) ไว้ใช้ดำเนินชีวิต
หากมีหนี้เกิน 70% ของรายได้แล้ว จะไม่สามารถยื่นกู้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ 3 ประเภื ได้แก่ 1) สินเชื่อรถยนต์ 2) บัตรเครดิต และ 3) สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียและไม่ให้หนี้ครัวเรือนของประเทศเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแน่นอนว่า 2 กลุ่มแรกที่จะโดนคุมเข้มด้วยมาตรการ DSR นั้นส่วนใหญ่จะเป็น Gen Y ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย ส่วนสาเหตุที่ต้องคุมหนี้สินต่อรายได้ของกลุ่มคนเกษียณนั้นเนื่องจากกลุ่มนี้มีอายุมาก และเมื่อทำการกู้เงินแล้วจะได้จำนวนเดือนที่ผ่อนชำระน้อย ทำให้มีหนี้สินที่ผ่อนต่อเดือนจำนวนมากกว่าวัยอื่น
ทั้งนี้เกณฑ์หนี้สินต่อรายได้ หรือ DSR กำลังอยู่ในช่วงศึกษาหาข้อมูล และมีข่าวจากงานเสวนา "LTV ทางร่วมเศรษฐกิจไทย" ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะไม่นำมาตรการ DSR มาปรับใช้ในปี 2562 นี้