ภาครัฐยืนยันปลูก "มะนาว" ลดภาษีที่ดิน หมื่นล้านย่านรัชดาได้ !
18 December 2562
ปลัดกระทรวงการคลังยันปลูกมะนาวบนที่ดินรัชดามูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หวังลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถทำได้ เพราะเข้าข่ายการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
อย่างที่ทุกคนได้ทราบกันดีว่าในวันที่ 1 มกราคม 2563 จะมีการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนที่ภาษีฉบับเก่า โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน เร่งให้ผู้ครอบครองที่ดินจำนวนมากปล่อยขายหรือใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์สูงสุด แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับมีช่องโหว่ให้แลนด์ลอร์ดนำที่ดินไปทำเกษตรกรรมเพื่อลดภาษีได้ ตัวอย่างเช่น ที่ดิน 1 หมื่นล้านย่านรัชดาที่นำไปปลูกมะนาว
เปลี่ยนที่หมื่นล้าน ทำเกษตรกรรม ลดภาษีที่ดิน
เว็บไซต์ประชาชาติรายงานว่ามีที่ดินผืนใหญ่แปลงหนึ่งขนาด 20 ไร่เศษ ที่ติดถนนรัชดาภิเษก ติด MRT ศูนย์วัฒนธรรม ได้มีการล้อมรั้วปลูกต้นมะนาวร่วม 4,000 ต้น โดยที่ดินผืนนี้ตั้งราคาขายสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท
คลังยืนยันลดภาษีได้จริง ที่ญี่ปุ่นก็ทำกัน
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้ระบุถึงความคิดเห็นของ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังว่าการปลูกมะนาวเพื่อลดภาษีที่ดินนั้นเป็นสิทธิ์เจ้าของที่ สามารถทำได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการปลูกข้าวบนที่ดินกลางกรุงโตเกียวเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินเช่นกัน
คำนวณแล้วลดภาษีได้มากถึง 16 ล้าน/ปี
จากกรณีตัวอย่างนี้หากปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะต้องเสียภาษี 0.60% (ล้านละ 6,000 บาท) แต่ถ้านำที่ดินมาทำเป็นเกษตรกรรมจะเสียภาษี 0.10% (ล้านละ 1,000 บาท
ตามการรายงานของเว็บไซต์ Thai PBS ระบุว่าที่ดิน 20 ไร่เศษดังกล่าวมีราคาประเมินไร่ละ 160 ล้านบาท รวม 20 ไร่จะมีมูลค่า 3,200 ล้านบาท เมื่อนำมาคิดภาษีในกรณีที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และ กรณีที่ดินเกษตรกรรม แบบคร่าวๆ จะได้ข้อมูลดังนี้
- กรณีเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า 3,200,000,000 x 0.60% = 19,200,000 บาทต่อปี
- กรณีเป็นที่ดินเกษตรกรรม 3,200,000,000 x 0.10% = 3,200,000 บาทต่อปี
เมื่อนำมาหักลบกันแล้วการนำที่ดินรกร้างว่างเปล่า 20 ไร่มาปลูกมะนาวทำเป็นที่ดินเกษตรกรรม สามารถลดภาษีได้มากถึง 16 ล้านบาท (19,200,000 - 3,200,000 = 16,000,000 บาท)
นักวิเคราะห์ชี้ภาษีที่ดินไม่ช่วยลดการกระจุกตัว
เว็บไซต์ Thai PBS ยังระบุความคิดเห็นของ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เอาไว้อีกว่าภาษีที่ดินฉบับนี้ไม่สามารถลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินได้ด้วยสาเหตุดังนี้
- เปิดช่องโหว่ให้แลนด์ลอร์ดนำที่ดินไปทำเกษตรกรรมได้ ซึ่งเสียภาษีน้อยกว่าปล่อยให้ที่ดินรกร้าง
- เก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าน้อยเกินไป
- บิดเบือนภาระภาษี แทนที่จะเก็บภาษีจากราคาที่ดินที่ตั้งกันในตลาด แต่เก็บในราคาประเมินที่ถูกกว่า
ทั้งนี้ นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่าเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่ได้แจ้งการทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังต้องรอกฎหมายลูกอีก 8 ฉบับให้แล้วเสร็จจึงสามารถสรุปได้ว่าการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรที่เข้าข่ายสำหรับภาษีที่ดินเกษตรกรรมเป็นอย่างไรกันบ้าง