รูปบทความ ‘6 เทคนิคการเขียนสัญญาเช่า’ ให้วินวินทั้งผู้เช่าและเจ้าของห้อง

‘6 เทคนิคการเขียนสัญญาเช่า’ ให้วินวินทั้งผู้เช่าและเจ้าของห้อง


การปล่อยเช่าคอนโด หนึ่งในตัวเลือกการลงทุนที่ได้รับความนิยมและให้ผลกำไรที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มักทำงานอยู่ในเมืองซึ่งห่างไกลจากบ้าน หลายคนจึงตัดสินใจเช่าคอนโดหรือหอพักเพื่อย่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นี่จึงเป็นจุดที่น่าสนใจในการลงทุน เพราะผู้เช่าเมื่อหมดสัญญาไป เราก็ยังสามารถดำเนินการปล่อยเช่าใหม่ให้กับผู้ต้องการเช่ารายอื่นที่สนใจได้

แม้การลงทุนปล่อยเช่าจะน่าสนใจ แต่หลายคนก็ยังคงกังวลและไม่แน่ใจเกี่ยวกับการลงทุนปล่อยเช่ามากนัก เพราะการปล่อยเช่าในลักษณะนี้ เท่ากับว่าเราปล่อยห้องของเราให้กับคนแปลกหน้า ซึ่งอาจดูแลห้องของเราได้ไม่ดีพอ จนอาจเกิดความเสียหาย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตามมาในภายหลัง


แต่ถ้าหากเรามีหนังสือสัญญาเช่าที่ชัดเจนและรัดกุม ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน วันนี้ Esto มี 6 เทคนิคดีๆ ในการเขียนหนังสือสัญญาเช่าสำหรับเจ้าของห้องมาฝากกัน


1. ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับค่ามัดจำและค่าเช่า

ก่อนผู้เช่าเข้าอยู่ ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเงินมัดจำ ค่าเช่าล่วงหน้า ตกลงร่วมกันว่าจะคิดเป็นกี่เดือนของค่าเช่ารายเดือน รวมถึงระบุค่าปรับหากผู้เช่าไม่ดำเนินการ เช่น ค่าทำความสะอาด เฟอร์นิเจอร์ในห้องเกิดความเสียหาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิ์ไม่คืนเงินมัดจำ เต็มจำนวน


2. กำหนดภาระในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ 

ระหว่างผู้เช่าเข้าอยู่ กำหนดภาระหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งในอนาคต ผู้ให้เช่าและผู้เช่าจึงควรกำหนดหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ครบถ้วนและชัดเจน เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้ากรณีชำรุดหรือเสื่อมสภาพ เป็นต้น


3. ระบุขอบเขตการใช้และรักษาทรัพย์สิน

ระหว่างผู้เช่าเข้าอยู่ ระบุขอบเขตการใช้และการรักษาทรัพย์สิน การตกแต่งภายในห้องเพิ่มเติมหากจำเป็นต้องเจาะ ตัด หรือขูดขีดภายในห้อง สิทธิ์ในการให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อ จำนวนผู้เข้าพัก พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ


4. กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพักอาศัยที่ผู้ให้เช่ากังวลใจ

ระหว่างผู้เช่าเข้าอยู่ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพักอาศัยที่ผู้ให้เช่ากังวลใจ เช่น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การจัดสังสรรค์ขนาดใหญ่ภายในพื้นที่ การสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะสร้างมลพิษที่ไม่น่าอยู่อาศัย ยังอาจสร้างความรบกวนให้กับเพื่อนบ้านได้เช่นกัน บางคนแพ้ขนสัตว์ บางคนอาจแพ้บุหรี่ แน่นอนว่าปัญหานี้ล้วนเป็นปัญหาที่สำคัญ ส่งผลต่อการอยู่อาศัยเป็นอย่างมาก


5. ทำรายการตรวจสอบห้องเช่าไว้ในสัญญาเช่า ยิ่งถ่ายเป็นรูปไว้ยิ่งดี

ก่อนผู้เช่าเข้าอยู่ และหลังผู้เช่าย้ายออก ทำรายการตรวจสอบห้องเช่าไว้ในสัญญาเช่า ทั้งขาเข้า-ขาออก รายการตรวจสอบห้องควรระบุถึงจำนวนเฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆ ให้ชัดเจนว่ามีรายการอะไรบ้าง หากเป็นไปได้ผู้ให้เช่าควรมีรายการมูลค่าของเฟอรนิเจอร์และของใช้ต่างๆ ด้วยกรณีเกิดความเสียหาย ก็เพื่อความสะดวกในการทำเรื่องย้ายเข้า-ย้ายออก และยังช่วยลดข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้จะยิ่งรัดกุมยิ่งขึ้นหากถ่ายรูปทรัพย์สินต่างๆ เก็บไว้เป็นหลักฐานก่อนทำการเช่าห้อง แล้วแนบกับหนังสือสัญญาเช่าด้วย เพื่อเป็นหลักฐานและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย


6. ควรหาที่ปรึกษาหรือนักกฎหมายเตรียมพร้อมไว้

หากเกิดข้อสงสัย ความไม่มั่นใจ ควรหาที่ปรึกษา เพราะปัญหาบางอย่างผู้ให้เช่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามวิธีการของตนเองได้ ต้องเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมาย ฉะนั้นหากเกิดข้อสงสัย ควรหาที่ปรึกษาหรือนักกฎหมายเพราะใช่ว่าทุกคนจะสามารถตีความข้อบทกฎหมายได้อย่างถ่องแท้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า แล้วผู้ให้เช่าใส่กุญแจล็อกห้องเช่า โดยอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งตามข้อกฎหมายแล้วการกระทำดังกล่าวมีความผิดทั้งทางกฎหมายแพ่งและอาญา


ยิ่งหนังสือสัญญาเช่าของเรา มีรายละเอียดมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งเท่ากับว่า สัญญาเช่าของเรา จะมีความรัดกุมขึ้นมากเท่านั้น อย่าปล่อยผ่านแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะนั่นอาจส่งผลให้เจ้าของทรัพย์สินอย่างเราเสียเปรียบได้ในภายหลัง เพียงเท่านี้ เราก็สามารถปล่อยเช่าห้องได้อย่างสบายใจ ไม่มีเรื่องให้ต้องกังวลในภายหลังได้อย่างแน่นอน



ที่มา: www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/write-rental-agreement.html

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์