อยากเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดในคอนโด ต้องทำอย่างไร!
26 March 2560
หลายคนคิดว่าการเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดนั้นดี มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าลูกบ้านคนอื่นๆ แต่หารู้ไม่ว่าการเป็นคณะกรรมการฯ ของคอนโดนั้นต้องแบกรับปัญหาที่มองเห็นและมองไม่เห็นอีกมากมายเสมือนหนึ่งเป็นส.ส.ที่คอยดูแลทุกข์ของประชาชน ฉะนั้นคนที่จะเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจึงต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับเจ้าของร่วมคนอื่นๆ ได้ Estopolis จึงขอนำคุณสมบัติสำหรับคนที่อยากเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดในคอนโดที่ต้องรู้ ซึ่งอ้างอิงจากพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาฝากกันครับ
1.เป็นเจ้าของร่วมหรือคู่สมรสเจ้าของร่วม
2. ในกรณีที่เจ้าของห้องเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือเสมือนคนไร้ความสามารถ สามารถมีผู้แทนโดยชอบธรรมได้
3. เป็นบุคคลที่ไม่เคยถูกที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือเคยถูกถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการเพราะเหตุทุจริต มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรม
4. เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่
5. เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
อยากสมัครคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดต้องทำอย่างไร
สำหรับการสมัครเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดนั้นจะมีวาระการรับสมัครคือช่วงก่อนการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมสามัญครั้งแรก จะจัดขึ้นภายใน 6 เดือนหลังจากมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก ซึ่งในการประชุมใหญ่นี้นอกจากจะเป็นการพบปะพูดระหว่างลูกบ้านและผู้จัดการนิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของโครงการให้มาดูแลโครงการแล้วยังเป็นการประชุมเพื่อเฟ้นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดอีกด้วย
คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดตามปกติแล้วจะประกอบไปด้วยกรรมการ 3- 9 คน จะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม โดยมีองค์ประชุมจำนวน 1/4 ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมด เมื่อได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ผู้จัดการนิติบุคคลจะต้องไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ในกรณีที่เจ้าของร่วมมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมคือมาน้อยกว่า 1/4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด ถือว่าต้องยกเลิกและให้เรียกประชุมใหม่อีกครั้งภายใน 15 วัน แต่การประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ไม่จำเป็นต้องครบองค์ประชุมแล้ว
การประชุมครั้งต่อไปผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจะมีหน้าที่จัดและเรียกประชุมคณะกรรมการทุกๆ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย และมีการกำหนดว่ากรรมการอาคารชุดจะสามารถดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ ยกเว้นจะหาคนมาแทนไม่ได้จริงๆ
หน้าที่ของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด
เมื่อได้รับการโหวตและแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว และหลังจากผู้จัดการนิติบุคคลนำรายชื่อไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินแล้ว การเป็นคณะกรรมการก็จะสมบูรณ์และเริ่มทำงานได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีอำนาจดังต่อไปนี้
1. ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดให้ตรงตามความรับผิดชอบ เมื่อเห็นว่าไม่ถูกไม่ควรสามารถตรวจสอบได้ เช่น ค่าไฟฟ้าส่วนกลางที่แพงเกินไป เงินค่าส่วนกลางที่เก็บเกินจริงส่วนต่างหายไปไหน เป็นต้น
2. แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งการทำงานของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดและคณะกรรมนิติบุคคลอาคารชุดจำเป็นต้องการมีตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส โดยผู้ตรวจสอบบัญชีนี้จะมีการคัดเลือกคุณสมบัติโดยการเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ในที่ประชุม
3.แต่งตั้งกรรมการหนึ่งคนในคณะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เกิน 7 วัน
4.ร่วมกับนิติบุคคลอาคารชุดในการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้ภายในคอนโดมิเนียม ซึ่งการออกกฎระเบียบนี้จะต้องยึดหลักความจริงตามบริบทของคอนโดและได้การยอมรับจากเจ้าของร่วมด้วย แต่หากออกกฎแล้วเจ้าของร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยจนอาจก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นก็ไม่ควรนำมาใช้โดยเด็ดขาด
5. ตัดสินใจในการเบิกจ่ายของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งบางครั้งอาจจะเกินจากที่คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าเห็นว่ามีความเหมาะสมก็สามารถอนุมัติได้เลย
6. ร้องขอนิติบุคคลอาคารชุดให้จัดประชุมเจ้าของร่วมทั้งเล็กและใหญ่เมื่อมีความจำเป็น หรือเป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งปกติแล้วการจัดประชุมคณะกรรมการจะมี 1 ครั้งในทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อยอยู่แล้ว
7.พิจารณาเรื่องอื่นๆ เมื่อมีข้อเสนอต่างๆ เกิดขึ้นจากกรรมการหรือเจ้าของร่วม
สำหรับคุณสมบัติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้กล่าวมานี้ หากลองๆ ศึกษาดูดีๆ แล้วการเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และง่ายเลยทีเดียวนอกจากจะมีวัยวุฒิและวุฒิภาวะแล้วสิ่งที่ต้องมีคือปฏิภาณไหวพริบและความกล้าหาญนั่นเอง นอกจากจะเป็นหูเป็นตาให้เจ้าของร่วมคนอื่นๆ แล้วยังต้องเป็นกระบอกเสียงรักษาผลประโยชน์ให้กับเจ้าของร่วมทุกคนอีกด้วย ดังนั้นหากใครมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามที่ Estopolis กล่าวมาแล้วอยากเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดก็ลองดูสักตั้งนะครับ
ภาพจาก : https://www.pinterest.com