รูปบทความ ดีไซน์แบบแปลนห้องนั่งเล่น ให้ปลอดโปร่ง ด้วยเทคนิค Flow Space

ดีไซน์แบบแปลนห้องนั่งเล่น ให้ปลอดโปร่ง ด้วยเทคนิค ‘Flow Space’

‘ห้องนั่งเล่น’ เป็นพื้นที่ส่วนกลางภายในที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน, คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ซึ่งพื้นที่ภายในห้องนั่งเล่นต้องมีการจัดวางฟังก์ชัน เลือกเฟอร์นิเจอร์ และจัดรูปแบบแปลนให้สอดคล้องกับพื้นที่ในส่วนอื่นด้วยเช่นกัน เพื่อการเชื่อมต่อการใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น


วันนี้ Esto เลยอยากจะแชร์แบบแปลนห้องนั่งเล่น กับโปรเจค “The HACHI Skyscape” จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามเข้ามาดูแบบแปลน พร้อมกับการดีไซน์สวย ๆ พร้อมกันเลย




ออกแบบพื้นที่ภายในห้องนั่งเล่น ให้สอดคล้องกับบริบท


ขอเกริ่นและพาไปทำความรู้จักกับโปรเจค “The HACHI Skyscape” กันก่อน พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดรวมได้ 150 ตารางเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยประเภทบ้านพัก หรือถ้าจะให้เปรียบเทียบคงมีขนาดใกล้เคียงกับ ห้องพักภายในคอนโดมิเนียมประเภท 2-3 Bedroom Plus หรือ Penthouse


บ้านหลังนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ตัวบ้าน ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ซึ่งถูกปรับปรุงให้กลายเป็นโรงแรม ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับแขก VIP ให้สามารถเข้าพักแบบ Executive ที่จะได้พักผ่อนพร้อมกับดื่มด่ำบรรยากาศในย่านลาดพร้าว


ในส่วนของงานดีไซน์ในสไตล์ Modern Japanese ซึ่งทางทีมออกแบบจาก “WARchitect” ได้วางกรอบของตัวอาคารโดยคำนึงถึงบริบทเป็นหลัก และยึดแนวความคิดให้บ้านหลังนี้เหมือนไม่ใช่อาคาร ไม่ให้รู้สึกถึงฟอร์ม แต่เน้นเส้นของขอบเขตที่ว่าง จึงได้เลือกใช้หลายต่อหลายเทคนิคเข้ามาประกอบ หนึ่งในนั้นได้แก่ เทคนิค Folw Space




เทคนิค Flow Space


เทคนิค Flow Space ที่ทางทีมออกแบบเลือกใช้ภายในห้องนั่งเล่น คือการเปิดพื้นที่ให้เชื่อมต่อกันระหว่าง ภายในและภายนอก โดยเลือกใช้หน้าต่างกระจกเต็มบานบริเวณด้านหน้า ซึ่งจะเป็นพื้นที่ของสวนย่อมที่จัดเอาไว้ ทำให้เมื่อมองออกมาจะเห็นกับพื้นที่โล่ง และสามารถเปิดหน้าต่างให้เกิดการถ่ายเทอากาศภายในได้สะดวก


ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยให้รับแสงจากธรรมชาติในช่วงกลางวัน ทำให้ประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งตัวบ้านเองถูกออกแบบให้มีหลังคายื่นออกมา ทำให้ลดการปะทะจากแสงแดดโดยตรง อีกทั้งยังเลือกใช้กระจกบริเวณด้านในของห้องนั่งเล่น เพื่อเปิดพื้นที่เชื่อมต่อกับส่วนของ Courtyard ที่กั้นระหว่าง ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และห้องครัวเอาไว้


นอกจากนั้น เทคนิค Flow Space ยังสามารถแยกย่อยการดีไซน์ได้อีก 5 เทคนิคด้วยกัน...



1. เปิดเพื่อปิด


ในความหมายของ “เปิดเพื่อปิด” เป็นหลักการง่าย ๆ ของการสร้าง Partition กั้นระหว่างพื้นที่ใช้งานเพื่อแบ่งระยะในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องนั่งเล่นด้วยแล้ว การสร้างขอบเขตและระยะการใช้งานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด


ซึ่งปัจจุบันการออกแบบแปลนจะมีความแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะในปัจจุบันขนาดพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัยมีขนาดจำกัด การสร้าง Partition จึงเลือกเฉพาะที่จำเป็น คือกั้นบริเวณประตูทางเข้า และช่องแสงอย่างหน้าต่างเท่านั้น โดยเลือกเปิดโล่งเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นได้สะดวก เช่น พื้นที่รับประทานอาหาร หรือส่วนครัว เป็นต้น



2. เน้นการเปิดโล่งเพื่อระบายอากาศ


ต่อจากเทคนิคเปิดเพื่อปิด มาต่อกันด้วยเทคนิค “เน้นการเปิดโล่งเพื่อระบายอากาศ” โดยเทคนิคนี้ มีรูปแบบที่สอดคล้องกับเทคนิคเปิดเพื่อปิดที่กล่าวไปข้างต้นพอสมควร เพราะหากเราเลือกสร้าง Partition อย่างเหมาะสมแล้ว จะช่วยให้อากาศเกิดการไหลเวียนได้ดี


หรือการเชื่อมอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายใน โดยการออกแบบตัวอาคารและจัดแบบแปลนห้องนั่งเล่นให้อยู่ในตำแหน่งที่มีลมพัดอยู่ตลอดเวลา และให้จัดแปลนให้ห่างจากทิศทางของแสงแดดที่จะตกกระทบ ซึ่งทิศที่โดนแสงแดดมากที่สุดจะอยู่ที่ทิศตะวันออก ส่วนทิศที่โดนแสงแดดน้อยที่สุดอยู่ทางทิศเหนือ



3. พื้นที่ต้องเชื่อมถึงกัน


ด้วยลักษณะของห้องนั่งเล่นเป็นพื้นที่ส่วนกลาง หรือ Common Area ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของที่อยู่อาศัย ดังนั้น การคำนึงถึงการเชื่อมต่อพื้นที่กับส่วนอื่นถือเป็นเรื่องสำคัญ การจัดแบบแปลนจึงต้องมีการวางสัดส่วนของการกั้นพื้นที่อย่างละเอียด


ในกรณีบ้านหรือคอนโดที่มีขนาดพื้นที่จำกัด การเลือกกั้นด้วย Partition อาจเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะนอกจากจะมีในเรื่องของค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้เสียพื้นที่ไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ยกตัวอย่างกับบ้านหลังนี้ ที่เลือกใช้โซฟาแบ่งขอบเขตการใช้งานระหว่าง ห้องนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหารออกจากกัน 



4. วัสดุไม่ควรมองข้าม


อีกหนึ่งองค์ประกอบหลักที่ไม่ควรมองข้ามคือ “การเลือกใช้วัสดุ” เพราะการเลือกใช้วัสดุที่ถูกประเภทและเหมาะสมกับรูปแบบของงานดีไซน์ นอกจากจะช่วยให้เกิดสุนทรียภาพของความสวยงามแล้ว วัสดุยังมีคุณสมบัติที่ช่วยให้พื้นที่ภายในเกิดภาวะอยู่สบายได้เช่นกัน


การเลือกใช้วัสดุนอกจากต้องคำนึงถึงรูปแบบของงานดีไซน์แล้ว การจัดวางแบบแปลนภายในก็สำคัญ เพราะต้องมีการคำนวณวัสดุเพื่อใช้งานให้สอดคล้องกับพื้นที่นั้น ๆ เช่น จะสร้างผนังกั้นระหว่างห้องนั่งเล่นและห้องนอน ควรเลือกใช้วัสดุอะไร ในปริมาณเท่าไหร่ หรือจะเลือกใช้หน้าต่างกระจกใส ควรเลือกกระจกประเภทใด และควรมีความหนา และขนาดเท่าไหร่ เป็นต้น 



5. พื้นที่ว่างก็สำคัญ


การดีไซน์และจัดรูปแบบแปลน “พื้นที่ว่าง” ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กับเทคนิคอื่นเลย เพราะการเว้นที่ว่างส่วนใดส่วนหนึ่งในแต่ละพื้นที่ จะช่วยลดความอึดอัดในส่วนของการใช้งานของผู้พักอาศัย ในทางกลับกัน พื้นที่ว่างนั้นยังช่วยให้เกิด Sapce บางอย่างที่ทำให้พื้นที่ในแต่ละส่วนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างลงตัว


เทคนิค Flow Space สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานออกแบบได้แทบจะทุกประเภท เพราะเป็นเทคนิคพื้นฐานที่เห็นผลจริงเมื่อนำมาปรับให้เข้ากับงานดีไซน์ ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ มีจุดเด่นอยู่ที่การถ่ายเทอากาศ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับพื้นที่ที่จะออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานออกแบบในแต่ละพื้นที่สมบูรณ์




ขอขอบคุณ

Project : The HACHI Skyscape

Category : Private house

Location : Ladprao soi3 , Chompol , Bangkok

Photographs : Rungkit Charoenwat




บทความที่เกี่ยวข้อง





เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์