Design & Decor in Cinema : Alien Covenant , สุนทรียะของงานศิลปะในการตกแต่งภายใน
30 June 2560
“หากคุณเป็นผู้สร้างผม แล้วใครเป็นผู้สร้างคุณ ? ”
แอนดรอยด์เดวิดวางมือทั้งสองลงบนคีย์เปียโน เอ่ยถามปีเตอร์ เวย์แลนด์ ที่ยืนอยู่เบื้องหน้า , ชายผู้เป็นดั่งบิดาของเขา
หนึ่งในบทสนทนาจากฉากเปิดเรื่องอันทรงพลังของ Alien : Covenant โดยผู้กำกับเจ้าของผลงานต้นตำหรับหนังสยองขวัญ - ไซไฟ Alien ภาคแรกอย่าง Ridley Scott ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราเมื่อเดือนที่แล้ว หลายคนจดจำฉากนี้ได้จากการแสดง และบทสนทนาที่แยบคายทรงพลังอันเป็นนัยยะของความสัมพันธ์หวานขื่นระหว่างพ่อลูก หรืออีกนัยหนึ่ง พระเจ้าและบุตรแห่งพระองค์ ผ่านสองนักแสดงมากฝีมือ Michael Fassbender และ Guy Pearce
“คำถามแห่งยุคสมัย ที่ผมหวังว่าคุณกับผมจะช่วยกันหาคำตอบนี้ให้ได้ในสักวัน”
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมาก ๆ สำหรับฉากนี้ก็คือรสนิยมของตัวผู้กำกับในการเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบฉากในห้องสีขาวเรียบ ๆ นั้น ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ภาพเขียน เปียโน และผลงานประติมากกรมขนาดยักษ์ เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่ปรากฏขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงไม่เพียงแต่เป็นผลงานระดับชั้นครูของแต่ละวงการแทบทุกชิ้น แต่งานศิลปะเหล่านั้นยังช่วยสะท้อนกลับไปยังความหมายอันเป็นแก่นของภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้าง และงานสร้างสรรค์ของพวกเขา (Creator and the creations)
ซึ่งผลงานชิ้นแรกที่ถูกเอ่ยถึงก็คือเก้าอี้ที่เดวิดนั่งอยู่ขณะที่ลืมตาตื่นขึ้นมีชีวิต เก้าอี้ไม้ขนาดใหญ่รูปทรงประหลาด ที่เสริมความรู้สึกยิ่งใหญ่น่าเกรงขามให้กับผู้ที่นั่งอยู่ราวกับเป็นบัลลังก์แห่งผู้พิชิต - Throne Chair โดย Carlo Bugatti
Carlo Bugatti เป็นปรมาจารย์นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวอิตาลีผู้โด่งดังแห่งยุค Art Nouveau ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับศิลปินในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมคนอื่น ๆ ที่พยายามค้นหาสไตล์ที่ใหม่และบริสุทธิ์มากกว่าผลงานจากโรงงาน , ผลงานของ Carlo Bugatti เป็นการผสานลักษณะของงานออกแบบดั้งเดิมเข้ากับลักษณะพิเศษหลากที่มาที่ได้แรงบันดาลใจจากจุดเด่นของศิลปะจากนานาชาติ ทั้งจากสไตล์ Gothic ดั้งเดิม , ศิลปะแอฟริกันเหนือ ลักษณะการเพ้นท์ลายพืช สัตว์ และลักษณะธรรมชาติจากงานฝั่งตะวันออก และศิลปะจากฝั่งเปอร์เซียและประเทศอิสลาม
ด้วยความสนใจด้านสัตววิทยาและธรรมชาติ ทำให้งานออกแบบของเขาดูมีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปร่างของสิ่งมีชีวิต บางครั้งก็ดูเป็นการหยิบยืมอวัยวะหรือ Movement บางอย่างของสัตว์เข้ามาปรับใช้กับงานออกแบบ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับตัวภาพยนตร์ Throne Chair ตัวนี้หากพิจารณาดี ๆ เราจะเห็นลักษณะบางอย่างที่ดูคล้ายคลึงกับกระดูกส่วนหางหรือสันหลังของสัตว์ หรือไกลกว่านั้นก็คือหางของ Xenomorph อสูรกายตัวเอกของเรื่อง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงความสนใจในสัตววิทยาของตัวเดวิดได้อีกด้วย
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ Throne chair คือระบบโมดูลาร์ของมัน เมื่ออยู่ติดกันสองตัวจะกลายเป็นที่นั่งยาวแบบ Bench ได้
นิทรรศการส่วนตัวของ Carlo Bugatti
ซึ่ง Throne Chair อันดุดันทรงพลังนี้นี้ถูกวางอยู่เคียงคู่กับโต๊ะ Side Table สุดแสนโมเดิร์น โดย Eileen Gray นักออกแบบหญิงและสถาปนิกชาวไอริช โต๊ะเคียงที่ทำจากสเตนเลสคุณภาพสูง ท็อปบนก้วยกระสกใสให้ความรู้สึกเรียบสะอาดล้ำสมัย เฟอร์นิเจอร์ทั้งสองชิ้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ของสไตล์และความรู้สึก แต่กลับส่งเสริมกันและกันและทำให้บรรยากาศโดยรวมของมุมดูลื่นไหลไม่ฉูดฉาดจนเกินไป
นอกจากมุมที่นั่งแล้ว ในห้องนั้นยังมีงานจิตรกรรม The Nativity โดยศิลปินอิตาลีชื่อดังยุคต้น Renaissance Piero Della Francesca ประดับอยู่บนกำแพง The Nativity ภาพการกำเนิดของพระเยซู บุตรของพระเจ้า โดยมีพระแม่มารีย์ ทูตสวรรค์ทั้งห้า และโหราจารย์ทั้งสามรวมกันอยู่ในเพิงซอมซ่อ อันสื่อถึงรูปกาย และความเป็นจริงที่บุตรแห่งพระเจ้าได้ประสูติลงในเลือดเนื้อแห่งมนุษย์แล้วและผลงานชิ้นเอกระดับโลกของประติมากรชั้นครู David โดย Michelanchelo
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือนที่มีลักษณะยิ่งใหญ่ดุดัน ราวกับที่พำนักของกษัตริย์ ภาพเขียนที่พูดถึงการกำเนิดของพระเจ้า และประติมากกรรมหินอ่อนแสดงสัดส่วนมนุษย์ที่งดงามราวกับเป็นทูตสวรรค์ ทุกสิ่งที่ผู้กำกับ Ridley Scott เลือกใช้ในฉากเปิดเรื่องอันทรงพลังนี้ นอกจากจะสวยงามทรงคุณค่าแล้ว ยังเน้นย้ำและช่วยขยายความแก่นเรื่องอันสำคัญของภาพยนตร์เกี่ยวกับพระเจ้า (ผู้สร้าง) และมนุษย์ (ผลงานการสร้างสรรค์) ได้อย่างแยบยลและมีรสนิยม
แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะไม่ถูกพูดถึงมากนักในแง่ของเนื้อหาโดยรวมและคุณภาพ แต่สำหรับเพียงเรื่องการเลือกอุปกรณ์ประกอบฉากเพื่อเล่าสาระสำคัญแล้ว Alien : Covenant ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำได้ยอดเยี่ยมและน่าจดจำมากอีกเรื่องหนึ่ง
ภาพมุมกว้างของห้อง เราจะเห็นรูปปั้นเดวิดขนาดเท่าของจริงอยู่ที่กลางห้อง ซึ่งภาพนี้เป็นงานออกแบบที่ไม่ได้ใช้จริงของภาพยนตร์ที่ผนังมุมซ้ายมือ จะเห็นได้ว่าภาพเขียนแรกที่ทีมงานได้ออกแบบไว้ จะเป็น Second version of triptych โดยศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษ Francis Bacon ซึ่งสื่อถึงความทุกข์ทรมานของการถูกตรึงกางเขน โดยแสดงผ่านความปวดร้าวของเนื้อหนังมนุษย์ ซึ่งมีนัยยะทางความหมายแตกต่างจาก The Nativity โดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังคงเป็นสัญญะทางศาสนา ความตาย และการเริ่มต้นใหม่
Second version of Triptych 1944 โดย Francis Bacon