รูปบทความ Work Life Balance : ผนวกงานให้เข้ากับชีวิต

Work Life Balance : ผนวกงานให้เข้ากับชีวิต

Work-Life Balance ตามคำนิยามของ European Foundation for the Improvement of Living and Working Conditions หมายถึง จุดดุลยภาพระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานของบุคคล การมีดุลยภาพ ย่อมหมายถึงการมีมากกว่าหนึ่งสิ่งที่เป็นเงื่อนไข ในที่นี้หมายถึงการทำงานและเวลาส่วนตัว ที่แยกเป็นสองสิ่งชัดเจน



แต่ในยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีถูกนำเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ความสะดวก รวดเร็ว และการเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายแทรกซึมอยู่ทุกที่ กลายเป็นว่างานจะมีเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ และเราจะทำมันเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่หยิบอุปกรณ์ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาก็ทำมันได้ทันที เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตทุกด้านของคนทำงานไปโดยปริยาย


เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า แม้แต่ในเวลาที่กำลังนอนเล่นอยู่ในคอนโดมิเนียมส่วนตัว หากมีอีเมลงานเข้ามา ก็สามารถเปิดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วจัดการมันได้เลย เป็นต้น


เครือข่ายไร้พรมแดนดังกล่าวนั่นเอง ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้สมดุลของชีวิตค่อย ๆ ลดเลือนหายไป กลืนกินสัดส่วนรูปธรรมที่คนส่วนใหญ่มักจะตั้งเอาไว้จนตราชั่งความสมดุลไม่เข้าที่ เป็นเหตุให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง หลัก ๆ คือปัญหาสุขภาพ และบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาทางความสัมพันธ์กับคนรอบตัวอีกด้วย


แต่มนุษย์ฉลาดที่สุดอยู่เสมอ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เมื่ออิทธิพลจากเทคโนโลยีและค่านิยมใหม่ ๆ หลั่งไหลเข้ามา มนุษย์ทำงานต่างก็คิดค้นวิธีที่จะทำให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ในอิทธิพลของโลกไร้พรมแดนได้อย่างสบายตัว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ให้มันมาเบียดเบียนชีวิตมากเกินไป ดังนั้น จึงเห็นว่าในสมัยนี้ ผู้หาเลี้ยงชีพไม่ว่าจะรูปแบบมนุษย์เงินเดือนหรือฟรีแลนซ์ก็ยังคงอยู่กินอย่างสบายดี สวนทางกับรูปแบบการทำงานที่ดูคล้ายจะเบียดเบียนเวลาได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน


Work Life Balance กับชีวิตวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม คอนโดมิเนียมเกี่ยวข้องอย่างไรกับสมดุลชีวิตที่ดี …


ยุคสมัยเปลี่ยนไป แนวคิดก็เปลี่ยนไปด้วย


ในอดีต แนวคิดเรื่อง Work Life Balance อาจชัดเจนว่าต้องมีแบบแผนเวลาที่เป็นรูปธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลจากแนวคิดแบบแผนใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนความคิดวัยทำงานให้หาทางออกจากสภาพสังคมและค่านิยมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง


แต่เดิมที่มักจะกะเกณฑ์เวลาเอาไว้ ควรใช้เท่าไหร่กับงาน เท่าไหร่กับกิจกรรมทางสังคม และเท่าไหร่สำหรับส่วนตัว แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งหากทำได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี



หากในปัจจุบันกลับไม่เป็นแบบนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่คนทำงานรู้ตัวดีว่าไม่สามารถจะลงล็อคเวลาและดำเนินมันตามที่ต้องการได้เสมอไป จึงเกิดเป็นแนวคิดใหม่ คือ Work-Life Intergration หรือจะนิยามเอาเองง่าย ๆ ว่าเป็น Work-Life Balance แบบคนรุ่นใหม่ก็ได้ คือการผสานทุกกิจกรรมเข้าไว้ด้วยกัน และจัดหมวดหมู่ตามลำดับความสำคัญ เพื่อบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพที่สุด นำไปสู่การใช้ชีวิตที่ดี ควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในเส้นปกติ ไม่ตึงไปและไม่หย่อนไป


Work Life Balance กับมนุษย์เงินเดือน



มนุษย์เงินเดือนเป็นโมเดลที่ถูกนำมาวิเคราะห์ Work Life Balance บ่อยครั้ง และมักจะถูกเข้าใจผิดว่า คนทำงานล่วงเวลา หรือ OT คือคนที่บริหารเวลาไม่เป็น ซึ่งไม่เสมอไป สำหรับสมดุลงานกับชีวิตส่วนตัวแบบใหม่สามารถประยุกต์เข้าด้วยกันได้หมด เจ้าตัวจะเป็นคนรู้ดีที่สุดว่าควรจะจัดวางตารางอย่างไรให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากมัน


บางกรณีที่อาจมีคนยอมทุ่มเวลาให้กับงานหนัก เพื่อให้งานออกมาเสร็จเร็ว และออกมาดี มีคุณภาพ นำไปสู่การเหลือเวลาพักผ่อนโดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง การทุ่มเทกับงานมาก ๆ อาจกินเวลาหลายวัน จนทำให้เหลือเวลาพักผ่อนน้อย แต่เมื่อถึงวันแห่งการพักผ่อนจริง ๆ กลับสามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ สามารถทำกิจกรรมที่จรรโลงใจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบนี้ก็ถือว่าเป็น Work Life Balance ได้เช่นกัน

ไม่จำเป็นว่าต้องทำงาน 8 ชั่วโมง มีเวลาให้สังคมหรือกิจกรรมอื่น 8 ชั่วโมง แล้วเข้านอน 8 ชั่วโมงเสมอไป


หากเข้มงวดกับตารางเวลามากเกินไปทำให้คุณภาพงานออกมาไม่ดี สุดท้ายก็ต้องกลับมาแก้ไขและจมกับปัญหาอยู่ดี สู้ทุ่มเททีเดียว โดยอาจจะปรับลดเวลาบางส่วนให้เข้ากับจังหวะชีวิตในช่วงนั้น แล้วที่เหลือก็นำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ดีกว่า สุขภาพจิตแจ่มใสมากกว่าเห็น ๆ


Work Life Balance กับมนุษย์ฟรีแลนซ์



ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนเริ่มมีไลฟ์สไตล์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น กลับเป็นชาวฟรีแลนซ์เสียเองที่เริ่มจะใช้ชีวิตคล้ายคลึงพนักงานออฟฟิศแทน ลักษณะการทำงานที่อิสระอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทั้งเวลา สถานที่ หรือการเลือกสรรงาน ชาวฟรีแลนซ์ได้เปรียบตรงส่วนนี้ แต่ข้อด้อยที่เห็นชัดคือความไม่แน่นอนที่มักมีโอกาสเจอมากกว่า


ไม่แน่นอน ในที่นี้ หมายถึง เนื้องานที่อาจจะเสร็จช้าเร็วกว่ากำหนด ปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารที่อาจคลาดเคลื่อน ปัญหาเรื่องเหตุสุดวิสัยส่วนตัวต่าง ๆ ทั้งฝั่งผู้ทำงานและลูกค้าเองก็ดี ล้วนเป็นปัจจัยเล็ก ๆ แต่หลัก ๆ ที่มีผลต่อเวลาทำงาน และอาจนำมาสู่การเบียดเบียนชีวิตส่วนตัวได้ นั่นเป็นเหตุผลทำให้ฟรีแลนซ์บางกลุ่มเริ่มปฏิวัติการทำงานตัวเองใหม่ กะเกณฑ์เวลาเป็นสัดส่วนเหมือนพนักงานออฟฟิศอย่างไรอย่างนั้น


แต่เมื่อเริ่มมีการนำเอา Work Life Balance แบบสมัยใหม่ ที่ผนวกเอา งาน (Work) เข้ามาเป็นสับเซ็ตใน ชีวิต (Life) มาใช้ ทำให้เกิดกรรมวิธีหลากหลายในการพยุงสมดุลสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุข มอง Work ให้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของ Life (แต่อยู่ในเงื่อนไขว่าเราต้องมีความรับผิดชอบต่อมัน) เปลี่ยนมุมมอง มองมันให้เป็นเพียงกิจวัตรหนึ่งในหนึ่งวัน และจัดการมันให้เสร็จ เพื่อเหลือเวลาไปทำอย่างอื่นตามที่ใจต้องการ


ข้อได้เปรียบของฟรีแลนซ์คือความอิสระที่มีมากกว่า ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ต้องทำงาน อาจจะหากิจกรรมคั่นเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ สั้น ๆ มาทำสลับกันบ้างในยามที่เคร่งเครียดมากเกินไป อาจจะออกไปหาสถานที่สงบ ๆ บรรยากาศดี ๆ เอื้ออำนวยต่อการทำงาน หรือจะนั่งทำงานอยู่ในห้อง ในบ้าน ที่ถูกตกแต่งตามใจชอบก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้อัตราความต้องการ Balance ที่ดีของฟรีแลนซ์ในสมัยนี้ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมนุษย์เงินเดือน เพราะนอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวไป ฟรีแลนซ์ยังมีอิสระในการเลือกงานที่ทำตามความถนัดและสนใจได้ก่อนอีกด้วย


Work Life Balance กับคนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม



เพราะ Balance ส่วนที่วัยทำงานต้องการมากที่สุดคือด้านชีวิตส่วนตัว คือการพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือกิจกรรมที่สามารถทำคนเดียวได้ ไม่เกี่ยวข้องกับงาน


ดังนั้น คอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญหลัก ๆ เหมือนกันในการจัดสรร Balance ของชีวิตวัยทำงานอย่างเรา ๆ

  • สัดส่วนของห้อง เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมโปรดหรืองานอดิเรกของเราไหม
  • มีพื้นที่ส่วนกลาง Facility อะไรบ้างที่เราสามารถใช้ได้ เพื่อสร้างความผ่อนคลายจากการทำงานที่เหนื่อยสะสมมาทั้งวัน
  • ทำเลที่ตั้ง สะดวกแก่การเดินทางไป-กลับมากน้อยแค่ไหน ละแวกรอบด้านมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ใดบ้าง

ปัจจัยที่กล่าวมามีความเกี่ยวข้องกับ Work Life Balance ทั้งสิ้น ซึ่งไม่ควรมองข้ามข้อเล็ก ๆ เหล่านี้เลย

เราสามารถพักผ่อนด้วยงานอดิเรกที่ชอบภายในห้องคอนโดฯ ในวันหยุดหรือในยามที่งานเสร็จแล้ว เราสามารถใช้พื้นที่ Free-space, Co-working space เปลี่ยนที่ทำงาน บรรยากาศใหม่ สร้างแรงบันดาลใจใหม่ หรือลงมาออกกำลังกาย ทำกิจกรรมกลางแจ้งหากคอนโดฯมีพื้นที่สำหรับทำสิ่งนี้ หรือเราสามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้สะดวก มีเส้นทางถนนเชื่อมไปที่ต่าง ๆ โดยง่าย ไปเที่ยว ไปพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมนอกบ้านกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก ได้โดยไม่ต้องพะวงกับการจราจรที่ติดขัด


เพียงเปลี่ยนมุมมองใหม่จาก Work and Life เป็น Work-Life มอง Work เป็นส่วนหนึ่งของ Life เป็น To do list หนึ่งข้อที่ต้องทำในแต่ละวัน อาศัยการจัดลำดับความสำคัญ ยืดหยุ่นเวลาให้เหมาะสมกับงานในขณะนั้น เมื่องานเสร็จสิ้นตามกำหนดไป ก็จะเหลือเวลาสำหรับการใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเต็มที่และมีความสุข นั่นแหละคือการจัดสมดุลชีวิตส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพที่สุด


อย่าลืมว่าที่อยู่อาศัยก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิด Balance มีคอนโดมิเนียมหลายแห่งที่ถูกสร้างมาเพื่อช่วยจัดการสมดุลที่ดีให้แก่ผู้อาศัย อยู่ที่ตัวเราเองด้วยว่าจะบริหารสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้วก็มีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ความต้องการของตัวเองเป็นอย่างดี



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์