รูปบทความ TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานศิลปะและการออกแบบแห่งใหม่ ใจกลางย่านเจริญกรุง !

เยี่ยมชม TCDC ; ศูนย์สร้างสรรค์งานศิลปะและการออกแบบแห่งใหม่ ใจกลางย่านเจริญกรุง

นักออกแบบ เป็นคำที่เราใช้เรียกรวมกลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพในสายงานเกี่ยวกับการออกแบบและการสร้างสรรค์ผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับคำนี้เพียงในสายงานของศิลปะ เช่น นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ , แฟชั่นดีไซน์เนอร์ หรือในสายงานของวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เช่น มัณฑนากรและสถาปนิก


แต่ในความเป็นจริง สายงานที่ขึ้นตรงกับทักษะของการ “ออกแบบ” นั้น มีมากมายกว่าที่คนทั่วไปคุ้นเคย และยังสามารถพบเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวันอีกด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่กำลังหลักของการขับเคลื่อนสังคมไหลเวียนเปลี่ยนผ่านเข้ามาสู้ช่วยวัยของหนุ่มสาวสมัยใหม่ เรายิ่งสามารถพบกับผู้คนที่ประกอบอาชีพในสายงานด้านสื่อสร้างสรรค์และการออกแบบได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ถูกเรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นคุณสมบัติที่มักจะถูกเข้าใจ และตัดสินรวมไปว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สงวนไว้ให้เพียงกับกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพในสายงานการออกแบบเท่านั้น ซึ่งหากลองตรองดูใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ควรจะเป็นสิ่งที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนทุกประเภท ทุกสายงาน โดยไม่แบ่งแยกสงวนไว้กับสายอาชีพใด ๆ


เช่นเดียวกับการผลิตอื่น ๆ ในงานอุตสาหกรรม ต้นทุนของงานออกแบบที่ดีก็ย่อมมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย สำหรับนักออกแบบ ขั้นตอนการทำงานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการได้รับ Input หรือ Source ที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการศึกษา ปรับใช้ และพัฒนากับงานของตน ซึ่งในขั้นตอนนี้ สภาพแวดล้อมโดยรวมของสังคมเป็นเรื่องสำคัญ หากนักออกแบบมีทรัพยากรและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพการผลิตและการพัฒนางาน


ด้วยเหตุนี้ แหล่งรวบรวมทรัพยากรทางความคิด ซึ่งจะกลายเป็นวัตถุดิบให้กับงานสร้างสรรค์ของนักออกแบบท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แม้แต่ในยุคสมัยที่เราสามารถค้นหาทุกอย่างได้จากในแล็ปทอปส่วนตัวก็ตาม และไม่เพียงนักออกแบบที่ต้องใช้ทักษะ หรือกระบวนการออกแบบเพื่อประกอบอาชีพ , แต่ผู้คนที่ทำงานในสายงานด้านอื่น ๆ ยังสามารถเรียนกระบวนการและวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสายงานของตน หรือแม้แต่ใช้กับชีวิตประจำวันได้

เมื่อปี พ.ศ. 2546 วันที่ 2 กันยายน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative and Design Center (TCDC) ขึ้น โดยได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สองปีถัดมา TCDC แห่งแรกได้เปิดให้บริการขึ้น ที่ชั้น 6 ของศูนย์การค้า The Emporium ใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท TCDC ในช่วงเวลาแห่งนั้นนับเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สดใหม่ให้กับนักออกแบบ และนักเรียนศิลปะทั่วกรุงเทพ ภายในเต็มไปด้วยองค์ความรู้ในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังเดินทางไปไม่ถึงทุกครัวเรือน หนังสือเกี่ยวกับงานออกแบบมากมายถูกจัดตั้งอยู่ TCDC ได้มอบประสบการณ์การเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ด้วย จนเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 TCDC ที่ The Emporium ได้เปิดให้บริการเป็นเดือนสุดท้าย ก่อนจะย้ายไปลงหลักปักฐานถาวรที่อาคารไปรษณีย์กลาง ย่านเจริญกรุง โดยมีหมุดหมายสำคัญที่จะขับเน้นและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์ให้กับผู้คนในย่านเจริญกรุง อันเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนา เจริญกรุง และ ตึกไปรษณีย์ไทย

เจริญกรุง เป็นหนึ่งในย่านที่เก่าแก่ของไทย เคยเป็นย่านการค้าที่คึกคักทั้งกับคนไทยและกับคนต่างชาติ ซึ่งเวลาต่อมา ความครึกครื้นด้านเศรษฐกิจได้ขยับขยายและเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าในย่านสีลมและสาทร ทำให้เจริญกรุงยังคงความเก่าแก่ที่เรียกว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่ไม่ขาดหาย เหล่านี้ทำให้เจิรญกรุงกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับภารกิจและบทบาทหน้าที่ของ TCDC ที่จะเข้าไปทำการพัฒนาฟื้นฟูให้กลายเป็นย่านศูนย์กลางการออกแบบสมัยใหม่

ส่วนอาคารไปรษณีย์กลางบางรักตั้งอยู่ที่ 1160 ถนนเจริญกรุง ตัวอาคารมีความสวยงามสไตล์นีโอคลาสสิก การออกแบบเน้นการใช้เส้นสายทุกเส้นอย่างเกิดประโยชน์และเพื่อความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาแบบงานราชการ ทางเข้า TCDC ตั้งอยู่ที่ปีกทางทิศใต้ ฝั่งซ้ายของตัวอาคาร 
อนุเสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช อธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรเลขพระองค์แรกของไทย ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าอาคาร  

ทางเข้าของ TCDC จะดูโดดเด่นออกมาจากตัวอาคารด้วยสีดำ และการตกแต่งแบบสมัยนิยมมากกว่า

แรกเข้าเราก็จะพบกับโถงรับรองของ TCDC ให้ความรู้สึกหรูหรา แต่ก็ไม่เป็นทางการมากจนเกินไป ในสุดจะเป็นมุมขายของที่ระลึก หนังสือ และสินค้าที่สร้างสรรค์โดยนักออกแบบไทย

ร้านขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ภายในจัดจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกที่สร้างสรรค์โดยนักออกแบบชาวไทย

ฝั่งซ้ายมือของโถงเป็นเบาะที่นั่งเล็ก ๆ สำหรับแขก หรือคนที่รอลงทะเบียนสมัครสมาชิก

โดยทาง TCDC จัดให้ชั้นบนสุด และค่อย ๆ ไล่ลดหลั่นลงมาเมื่อขึ้นลิฟท์มาถึงชั้นดาดฟ้า เราจะพบกับโถงทางเดินที่พาเราเดินผ่าทั้งตัวอาคารไปยังปีกฝั่งขวามือ และจะมีสวนลอยฟ้าอยู่ สำหรับนั่งพักและชมวิวเมืองย่านบางรักได้ 22 สวนดาดฟ้าของอาคารไปรษณีย์กลาง จุดเด่นอยู่ที่พญาครุฑที่สยายปีกแปะอยู่ตรงขอบอาคาร

สวนดาดฟ่ามีความกว้างขวางโอ่โถง เหมาะที่จะมานั่งพักชมวิว มีการประดับประดาเล็กน้อยด้วยพืชล้มลุกขนาดเล็ก ดูแล้วสบายตาและไม่แย่งซีนทัศนียภาพของเมือง

ทิวทัศน์เมื่อมองออกไปจากสวนลอยฟ้า

ประติมากรรมพญาครุฑ สร้างสรรค์โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คนท้องถิ่นว่ากันว่าพญาครุฑตนนี้ช่วยพิทักษ์อาคาไปรษณีย์กลางให้รอดพ้นจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เคยโจมตีละแวกเจริญกรุงในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

สวนดาดฟ้ามีทางเข้าออกสองทาง และยังมีบันไดวนที่สามารถพาเราไปยังดาดฟ้าชั้นสูงสุดได้

โถงทางเดินภายในมีการจัดแสดงเป็นนิทรรศการหมุนเวียนเล็ก ๆ

ที่ปลายโถงทางเดินจะเป็นห้องประชุมงานและล็อคเกอร์สำหรับจัดเก็บสิ่งของ

สุดโถงทางเดิน เราจะเข้าสู่พื้นที่บริเวณแรกของ TCDC ซึ่งก็คือบริเวณ Creative Space

ถัดมาเราจะเข้าสู่โซน Creative Space เป็นพื้นที่รับรองหลักของ TCDC ประกอบไปด้วย Cafe สำหรับนั่งพักผ่อนหรือทำงานได้อย่างอิสระ และเคาน์เตอร์ทำการของเจ้าหน้าที่ คอยให้บริการทั้งกับแขกขาจรและสมาชิกขาประจำ

Creative Space ออกแบบมาเพื่อรองรับทั้งการนั่งหย่อนใจและทำงานหลาย ๆ ชั่วโมง แต่จะไม่เป็นส่วนตัวเท่าพื้นที่บริเวณภายในที่รองรับเพียงสมาชิกที่ลงสมัครไว้แล้วมีที่นั่งหลากหลายขนาดให้เลือก รองรับทั้งการนั่งทำงานคนเดียวและการประชุมคุยงานเล็ก ๆ

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบริเวณก็คือคาเฟ่ The Box , Cafe now in the box ที่มีกาแฟสด เครื่องดื่ม และอาหารว่างหลากหลายชนิดไว้คอยบริกา

บริเวณข้างเคียงเป็น Show Case ผลงานและสินค้าของศิลปิน และนักออกแบบชาวไทย มีผลงานจัดแสดงพร้อมข้อมูลการติดต่อ สำหรับนักลงทุนและผู้สนใจทั่วไป

งานที่คัดเลือกมาจัดแสดงมีหลากลายครบครันทุกสาขาการออกแบบ 

ถัดจากโซน Creative Space ไปจะเป็นพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับสมาชิกของ TCDC จะมีหนังสือและนิตยสารให้บริการ ขนาดของพื้นที่จะใหญ่ขึ้นมาก โต๊ะจะเป็นลักษณะที่รองรับการทำงานอย่างมีสมาธิจดจ่อได้ง่ายขึ้น

บริเวณนี้ทำให้เรานึกถึงรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์และการจัดวางเลย์เอ้าท์ของห้องที่คล้ายคลึงกับ TCDC เดิมที่ The Emporium

มุมนี้จะคัดสรรนิตยสารหัวต่าง ๆ ชั้นนำ ทั้งของสำนักพิมพ์ในประเทศและต่างประเทศให้สมาชิกได้นั่งอ่านกัน ส่วนมากจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ
ผู้มาใช้งานบริเวณนี้ส่วนมากจะนั่งทำงานกัน จึงเป็นโซนที่เงียบกว่า Creative Space อยู่ค่อนข้างมาก

เก้าอี้โซฟาสำหรับคนที่อยากนั่งสบาย ๆ ก็มีไว้คอยให้บริการ

สำหรับคนที่ต้องการความส่วนตัวมากหน่อย จะมีเคาน์เตอร์ยาวลักษณะคล้ายเป็นบาร์อยู่ตรงระเบียงกระจก ที่จะสามารถมองเห็นวิวของบริเวณห้องสมุดหลัก Function Room ได้

Marshmallow Sofa ของ George Nelson ที่อยู่กับ TCDC มาตั้งแต่สมัยที่ The Emporium ก็ตามมาที่เจริญกรุงด้วย โซฟาตัวนี้ถูกจัดวางอยู่บริเวณหน้าบันไดเลื่อนลงไปยังชั้น 4

Function Room ที่ชั้นสี่ บริเวณหลักของ TCDC ที่รวบรวมเอาหนังสือและวารสารเกี่ยวกับงานออกแบบเอาไว้ เป็นวัตถุดิบชั้นดีของศิลปินและนักออกแบบที่จะมาหาแรงบันดาลใจในการทำงาน
พื้นที่บริเวณนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานและการค้นคว้าที่จำเป็นต้องใช้สมาธิของสมาชิกแต่ละคน มีความเป็นห้องสมุดสูง และเป็นบริเวณที่ค่อนข้างเงียบที่สุดของพื้นที่ทั้งหมด

ทางเข้า Function Room สังเกตได้ว่า TCDC นี่ก็รวบรวมเก้าอี้ชื่อดังระดับต้น ๆ ของโลกไว้พอสมควรเช่นกัน ฝั่งซ้ายมือเราจะเห็น Barcelona Chair โดยปรมาจารย์สถาปนิกชาวสเปน มีส์ ฟาน เดอโรห์ ถัดมาจะเป็น Egg Chair หรือเก้าอี้รูปไข่ ไอคอนชิ้นสำคัญของเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียนที่หลาย ๆ คนคุ้นตา

บรรยากาศภายใน Function Room

ต่อมาชั้น 3 เราจะพบกับพื้นที่ของ Maker Space

โถงทางเดินของที่ Maker Space ฝั่งซ้ายมือจะเป็นกระจกฝ้า ช่วยทำให้ผนังฝั่งตรงข้ามโปร่งและโดดเด่นยิ่งขึ้น

หน้าตาของเครื่องจักรที่ใช้ผลิตผลงานที่จับต้องได้จริงในบริเวณของ Maker Space

บรรยากาศภายในของบริเวณ Maker Space พื้นที่นี้สร้างสรรค์โดย Fab Cafe Bangkok ; Creative Digital Hub ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ที่ซอยอารีย์

ถัดมาที่ขั้นสอง เราจะพบกับ Material & Design Innovation Center อีกหนึ่งไฮไลท์เด็ดของ TCDC ตั้งแต่สมัยยังไม่ย้ายมา แต่จะมีอะไรใหม่ ๆ เพิ่มบ้าง ต้องติดตามดู

บรรยากาศภายใน Material Center

Installation ที่สร้างจาก Lamp เล็ก ๆ รวมกัน ให้ความรู้เรื่อง Volume ของการออกแบบแสงในที่พักอาศัย

ทีเด็ดของบริเวณนี้คือสารานุกรมวัสดุ รวบรวมเอาทุกนวัตกรรมวัสดุที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมและงานออกแบบมาจัดแสดงไว้ให้สมาชิกได้สำรวจและสัมผัส เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง หรือเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานใหม่ ๆ

มีวัสดุที่สามารถใช้ประยุกต์ในการออกแบบได้แสดงไว้อยู่ ครอบคลุมทุกสายงานสร้างสรรค์สิ่งที่เราจะเห็นบ่อยที่สุดใน TCDC ก็คือพื้นที่สำหรับการ Co - Working ที่มีแทบจะทุกชั้น

วัสดุต่าง ๆ จะจัดเก็บและถูกแสดงอยู่ในรูปแบบเป็นชั้น ๆ คล้ายกับห้องสมุด

ส่วนชั้นล่างสุดจะเป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการหมุนเวียนขนาดใหญ่ นิทรรศการแรกที่ TCDC เจริญกรุงจัด ก็คือ ‘ สำรวจงานสร้างสรรค์ไทยเพื่อไปต่อ ’

เนื้อหาโดยรวมของงานนิทรรศการพูดถึงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในยุคที่ผ่านมาทั้งในเชิงของการบรรยายและวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการพัฒนาต่อในอนาคต นิทรรศการนี้ยังจัดแสดงอยู่จนถึงวันที่ 17 กันยายน
โดยรวมแล้ว ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC เจริญกรุงแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ให้กับศิลปินและนักออกแบบที่ดีเหมือนสมัยยังอยู่ที่ The Emporium สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามานั้นก็คือ Function ที่เพิ่มเติมหลากหลายมากขึ้น มี Maker Space สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานให้จับต้องได้จริง มีห้องสมุด Material สำหรับค้นคว้าและค้นหาแรงบันดาลใจในการทำงาน นอกเหนือจากนั้น ก็คือควาพยายามก้าวสำคัญในการที่จะยกระดับพื้นที่เจริญกรุงไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเพิ่มคุณค่าและเพิ่มมูลค่าของชุมชนด้วยความคิดสร้างสรรค์

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมของทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้ที่ https://web.tcdc.or.th/  

ที่มารูปภาพ :

huaslife.wordpress.com 
wisont.wordpress.com 

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์