โครงการ Mega Project 'พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา' แลนมาร์กใหม่ แหล่งรายได้ของกรุงเทพฯ
19 May 2560
ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความผูกพันกับสายน้ำมานานจนก่อเกิดวัฒนธรรมสองฝั่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และตามมาด้วยความสะดวกสบายด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจ นับว่าเป็นการผสมผสานทุกอย่างจนก่อเกิดวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและความเจริญในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ปัจจุบันบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติของการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา และพฤติกรรมการอยู่อาศัยของผู้คนที่มีการรุกพื้นที่ จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยมีรูปแบบโครงการฯ ที่มุ่งพัฒนาการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้อาศัยบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหลักๆ จะประกอบด้วยการก่อสร้างทางเดิน ทางปั่นจักรยานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้นทางการเข้าถึงระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ โดยโครงการนี้จะลงนามสัญญาในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ก่อนจะเริ่มตอกเสาเข็มในเดือนก.ย.60 นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน และคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562
แผนแม่บทสำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
รัฐบาลในความดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จึงมีมติจะใช้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาพัฒนาความเป็นอยู่ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น ในแผนแม่บทของโครงการเมกะโปรเจคนี้ ได้กำหนดเส้นทางและพื้นที่ของโครงการในระยะทางเลียบริมฝั่งรวมระยะทาง 140 กิโลเมตร ทั้งเขตกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ แบ่งเป็น 8 โครงการใหญ่ ได้แก่
โครงการที่ 1 เมืองปทุมธานี ตั้งแต่สะพานปทุมธานี จนถึง สะพานนนทบุรี
โครงการที่ 2 บางคูวัดและบางพูด ตั้งแต่ สะพานนนทบุรี จนถึง สะพานพระรามสี่
โครงการที่ 3 ปากเกร็ด ตั้งแต่ สะพานพระรามสี่ จนถึง กรมชลประทาน
โครงการที่ 4 สะพานสมเด็จพระนั่งเกล้า ตั้งแต่ กรมชลประทาน จนถึง สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
โครงการที่ 5 ท่าน้ำนนท์ ตั้งแต่ สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ จนถึงสะพานพระราม 5
โครงการที่ 6 สะพานพระราม 7 ตั้งแต่ สะพานพระราม 5 จนถึงสะพานพระราม 6
โครงการที่ 7 กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ สะพานพระราม 6 จน สุดเขตกรุงเทพฯ
โครงการที่ 8 บางกระเจ้า พื้นที่ในเขตบางกระเจ้า
หลักการพัฒนาโครงการ Mega Project 'พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
หลักการในการพัฒนานั้นเน้นให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และไม่ให้กระทบกับวิถีชุมชนเดิม การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ของ 8 โครงการใหญ่นั้นจะทำโดยยึดหลักไม่ให้กระทบกับวิถีของชุมชน อีกทั้งเน้นการพัฒนาที่ยังจะคงเอกลักษ์เดิมเอาไว้ ทำให้แผนพัฒนาแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันไป
● การพัฒนาเส้นทางการเดินทาง โดยโครงการหลักในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ก็จะเป็นโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเน้นการสัญจรที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่นการเดินเท้า จักรยาน ทำให้เส้นทางการสัญจรสะดวกยิ่งขึ้น แล้วยังคิดถึงการเชื่อมต่อไปยังระบบรางหรือระบบรถไฟฟ้าสาธารณะที่จะเกิดขึ้นรอบตัวเมืองอีกด้วย การสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อจะเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ของแต่ละโครงการทั้ง 8 โครงการแล้ว พื้นที่โดยรอบก็จะได้รับการพัฒนาอย่างระบบ โดยคิดแบบรอบด้านเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ประโยชน์กันอย่างทั่วถึง พื้นที่สัญจร จะถูกพัฒนาให้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น เชื่อมต่อกับจุดการเดินทางทั้งทางบกและทางเรือได้สะดวก เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการสัญจรเพื่อกิจกรรมสันทนาการอย่างเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน ให้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
● เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบริเวณโดยรอบของโครงการ มีแผนที่จะสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติมในบริเวณโดยรอบเพื่อเติมพื้นที่สีเขียว ให้เป็นปอดและแหล่งพักผ่อนของชุมชนทุกจุดที่อยู่ในโครงการ
● พัฒนาและดูแลพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน พื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางของแต่ละชุมชน ก็จะถูกดูแลเช่นเดียวกัน ให้สามารถรองรับกิจกรรมของชุมชนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน เช่น ศาลาประชาคม ตลาดของแต่ละชุมชน ศูนย์กลางกิจกรรมต่าง ๆ ที่มี หรือ จะสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้ชุมชนได้สามารถใช้ประโยชน์
● อนุรักษ์และรักษาวิถีชุมชนเดิม ด้วยเส้นทางเกินกว่าครึ่งเลียบริมฝั่งแม่น้ำ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ วัดโบราณสถานต่างๆ ที่มีอายุกว่าร้อยปี ก็จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ยังอยู่คู่กับเมืองไทยไปอีกนาน
● ระบบบำบัดน้ำเสียและการดูแลแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองโดยรอบ แนวคิดของโครงการนี้ก็ไม่ลืมเรื่องพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำที่จะช่วยดูแลแม่น้ำรวมถึงคลองเล็กคลองน้อยที่แตกตัวออกจากแม่น้ำให้สวยงามเหมือนในอดีตที่กรุงเทพเคยได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออก และสร้างระบบการป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพจะช่วยดูแลไม่ให้ชุมชนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอีกด้วย
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกวางไว้จะใช้งบประมาณทั้งหมด ราว 36,000 ล้านบาท ระยะเวลาของโครงการที่วางไว้จะสมบูรณ์เรียบร้อยภายในปี 2561 ด้วยความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่ร่วมกันดูแล ผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จตามแผนที่วางไว้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบของโครงการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา
● เพิ่มทำเลทองของการพักอาศัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของชุมชนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ จะทำให้เกิดทำเลทองของพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกมาก ด้วยเส้นทางการเดินทางที่จะเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความสะดวกในการสัญจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลยทีเดียว ที่จะขยายตัวไปในพื้นที่ใหม่ ๆ มากขึ้น
โดยราคาที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกทม.จะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาทต่อตารางวา ส่วนที่อยู่ในเขตปริมณฑลราคาอยู่ที่ 6 หมื่น - 1 แสนบาทต่อตารางวา และคาดการณ์ว่าราคาประเมินที่ดินในปี 62 จะมีอัตราสูงขึ้นอีก 15%
คอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยามักจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ เน้นความหรูหรา ในปัจจุบันราคาจะอยูที่ 60,000 - 80,000 บาทต่อตารางเมตร บางทำเลสูงกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร ส่วนราคาคอนโดที่จะแล้วเสร็จในปี 2561 เป็นต้นไป ราคาพุ่งสูงไปที่มากกว่า 100,000 - 200,000 บาทต่อตารางเมตร ทำให้คาดการณ์ได้ว่าพื้นที่โดยรอบของโครงการจะมีราคาใกล้เคียงหรืออาจจะสูงกว่าทำเลริมแม่น้ำในปัจจุบัน
● สร้างความแตกต่างให้กับทำเลที่พักอาศัยในย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการท่องเที่ยว พักผ่อน ยิ่งคอนโดที่มีระเบียงหันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีวิวที่สวยงามเห็นแม่น้ำจากชั้นสูงเป็นแนวทางยาวหรือทางโค้งให้ทัศนียภาพที่สวยงามซึ่งคอนโดที่ได้วิวแบบนี้จะมีราคาสูงกว่าคอนโดด้านอื่น จึงทำให้คอนโดวิวแม่น้ำเจ้าพระยามีความโดดเด่นเหนือกว่าพื้นที่ทำเลทองอื่น
คอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นพื้นที่ส่วนตัวของการได้พักผ่อนอย่างแท้จริง เมื่อต้องการผ่อนคลายได้นั่งรับประทานอาหารเปิดเพลงเบา ๆ สร้างบรรยากาศ และวิวของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามระยิบระยับในตอนกลางคืนสะท้อนแสงไฟจากสองข้างทางและเรือสัญจรไปมา ก็จะทำให้พลังชีวิตกับความสดชื่นกลับมาจากความเหนื่อยล้าในการทำงาน
เมื่อมีการเดินทางที่สะดวกทั้งทางรถและทางเรือที่จะถูกเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สภาพแวดล้อมของชุมชนจะถูกพัฒนาให้น่าอยู่ ถือว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี เดินทางไปทำงานได้สะดวกเมื่อกลับมาคอนโดสามารถพักผ่อนอย่างเต็มที่
ด้วยเหตุนี้เองทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเนื้อหอมขึ้นมาทันที เป็นทำเลในอนาคตที่ได้รับการยอมรับว่าน่าจับตามองมากที่สุด ทำให้วิถีริมน้ำกลับมาคึกคัก สร้างชีวิตชีวาที่สดใสให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
รูปประกอบจาก : https://pixabay.com