7 ประเภทสวนสาธารณะเป็นอย่างไร เรามีอยู่เท่าใดกันแน่
18 April 2562
ตอนเช้าไปทำงาน เลิกงานแล้วก็อยากพักผ่อนกับครอบครัว เดินเล่นดูผู้คน ชมธรรมชาติแล้วผ่อนคลายจิตใจไปกับมันอย่างช้าๆ นี่คือสิ่งที่ใครหลายคนต้องการ โดยเฉพาะเมื่ออาศัยอยู่ในเมืองที่เร่งรีบและเคร่งเครียด มีเพียงพื้นที่สี่เหลี่ยมให้พักผ่อน ก็ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมออกแรงกันบ้าง อย่างเช่น สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตรงกับช่วงระหว่างกลางสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มีแรงงานอพยพเข้ามาทำงานในเมืองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นชุมชนแออัด ที่ขาดสุขลักษณะขึ้นมา ด้วยพื้นที่แออัดตรงนั้นไม่เพียงพอต่อการพักผ่อน พวกเขาจึงเริ่มบุกรุกสวนของชนชั้นสูง เกิดเป็นคดีบ่อยครั้ง
สุดท้ายจึงมีการเรียกร้องให้เปิดอุทยานให้ประชาชนเข้าไปใช้งาน โดยสมัยนั้นจะเรียกกันว่า อุทยานประชาชน แล้วก็ผันมาเรียกว่า สวนสาธารณะ อย่างทุกวันนี้ในเวลาต่อมา
สวนสาธารณะหลักในประเทศไทยมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง
- จะต้องมีรั้วล้อมรอบ
- มีการกำหนดเวลาปิด-เปิดที่แน่นอน
- มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลประจำ
- สามารถรองรับและให้บริการประชาชนทั่วไป
- มียามรักษาความปลอดภัยดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง
- มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย มีการปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับหมุนเวียนตลอดปี
- มีสิ่งอำนวยต่างๆ ทั้งสวนนันทนาการและกีฬา
- มีกฎหมายและระเบียบการใช้สวนสาธารณะที่กรุงเทพฯ ประกาศใช้ในสวนสาธารณะ
แต่หากเรานับพื้นที่สีเขียวที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสวนสาธารณะจริงๆ แล้ว ยังมีสวนอื่นๆ ที่แบ่งออกได้อีก 7 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 สวนย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park, Mini Park, Tot lots)
มีทั้งหมด 3,942 แห่ง รวมพื้นที่ 4,294,610.546 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 5
ลักษณะที่ต้องมี
- มีขนาดพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
- รัศมีบริการเป็นวงรอบประมาณ 1 กิโลเมตร
- การให้บริการระยะเดินใช้เวลา 5-10 นาที
- การกระจายตัวของสวนควรอยู่ในระยะเดินเท้า
- มีการเข้าถึงโดยสะดวกและไม่ต้องข้ามถนน อาจอยู่ระหว่างอาคารหรือกลุ่มอาคาร
- มีแนวทางการพัฒนาโดยอาศัยที่เว้นว่างขนาดเล็ก ที่ทิ้งร้าง
- เหมาะสำหรับย่านที่มีครอบครัวมาก ใช้เป็นที่สำหรับเด็กเล่น ออกกำลังกายและพักผ่อนของประชาชน
มีทั้งต้นไม้ที่ปลูกไว้บนทางเท้าหรือพื้นที่จอดรถ หรือเป็นสวนหย่อมในร้านค้าต่างๆ ก็นับด้วยเช่น เท่าที่ดูการนับบางครั้งก็นับที่อยู่ส่วนพื้นที่คอนโดมิเนียม เช่น สวนหย่อม คอนโดลุมพินีเพลส ถนนบรมราชชนนี
ประเภทที่ 2 สวนหมู่บ้าน (Neighbourhood Park)
มีทั้งหมด 1,107 แห่ง รวมพื้นที่ 10,434,822.676 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 1
- มีขนาดพื้นที่มากกว่า 2 ไร่แต่ไม่เกิน 25 ไร่
- รัศมีการให้บริการเป็นวงรอบประมาณ 1-3 กิโลเมตร
- เป็นสวนสำหรับประชาชนผู้อาศัยในละแวกบ้านนั้น
- มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าสวนหย่อมขนาดเล็ก
หากให้เห็นภาพจริงๆ สวนหมู่บ้านจะเป็นสวนที่ชาวคอนโดคุ้นเคยกันดี เพราะก็คือสวนที่ทางโครงการจัดเตรียมไว้ให้ลูกบ้านนั่นเอง ซึ่งจะมีทั้งในแนวราบและแนวสูง เพียงแต่แนวสูงอาจมีการนับทั้งพื้นที่ตั้งของโครงการเลย เช่น สวนหย่อมรอบอาคารคอนโดมิเนียมแซมเบอร์ส เฌอ ถนนรัชดารามอินทรา สาย 350
ประเภทที่ 3 สวนชุมชน (Community Park)
มีทั้งหมด 87 แห่ง รวมพื้นที่ 6,505,315.116 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 4
- มีพื้นที่มากกว่า 25 ไร่แต่ไม่เกิน 125 ไร่
- รัศมีบริการเป็นวงรอบประมาณ 3-8 กิโลเมตร
- มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มมากกว่า 2 สวนแรกและมีที่เล่นกีฬา
- มีพื้นที่สำหรับการพักผ่อนแบบเพลิดเพลินกับสิ่งสวยงาม เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ
มาถึงสวนสีเขียวคุณภาพกันบ้าง เพราะพื้นที่สวนตรงนี้จะมีการกำหนดชัดเจนว่าให้มีต้นไม้ประดับ และต้องมีพื้นที่กว้าง ส่วนใหญ่จึงเป็นสวนสีเขียวอย่างเช่น สวนปทุมวนานุรักษ์, สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 7 รอบ
ประเภทที่ 4 สวนระดับย่าน (District Park)
มีทั้งหมด 19 แห่ง รวมพื้นที่ 7,492,456.600 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 3
- มีขนาดพื้นที่มากกว่า 125 ไร่แต่ไม่เกิน 500 ไร่
- รัศมีบริการมากกว่า 8 กิโลเมตร
- การให้บริการผู้อยู่ใกล้มาด้วยการเดินผู้ที่อยู่ไกลเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน รถยนต์
- มีสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างที่ไม่มีในสวน 1-3 ก่อนหน้าเช่น บริเวณปิกนิก ที่จอดรถ ลานอเนกประสงค์ บริเวณที่มีฃักษณะเฉพาะเช่น สวนดอกไม้ขนาดใหญ่สระ แล่นเรือ จักรยาน บึงตกปลา ลำธาร
นับเป็นสวนที่มีจำนวนไม่มาก แต่คุณภาพดีเยี่ยม เพราะมีทั้งกิจกรรมเพื่อคนเมืองมากมาย และพื้นที่สีเขียวให้เราได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ เช่น พื้นที่สีเขียวในวังทวีวัฒนา, พื้นที่สีเขียวในพระราชวังสวนจิตรลดา
ประเภทที่ 5 สวนระดับเมือง (City Park)
มีทั้งหมด 2 แห่ง รวมพื้นที่ 2,322,843.600 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 6
- มีพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ขึ้นไป
- รัศมีบริการเป็นวงรอบแก่คนทั้งเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง ในเขตอิทธิพลของเมือง
- มีลานกว้างสำหรับการจัดงานประเพณี
- ผู้มาใช้บริการเดินทางมาจากทั่วกรุงเทพมหานครและใช้เวลาพักผ่อนนานกว่าครึ่งวัน
- มีกิจกรรมในสวนที่หลากหลายและเน้นหนักไปทางด้าน Active Recreation นอกเหนือจากกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในสวนระดับ 1-4 เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ตื่นเต้น ดึงดูดใจ
มีน้อยแต่เน้นหนักด้านคุณภาพกับจริงกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่าง สวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอนและ สวนหลวง ร.๙
ประเภทที่ 6 สวนถนน (Street Park)
มีทั้งหมด 2,904 แห่ง รวมพื้นที่ 7,183,103.892 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 2
แบ่งประเภทได้อีก 3 ประเภท
- สวนไหล่ทางหรือทางจักรยาน: เป็นแนวต้นไม้ที่เรามักจะเห็นกันตามข้างถนน
- สวนเกาะกลาง: สวนที่เกาะกลางถนน
- สวนทางแยก: สวนที่เกาะทางแยก มักมีพื้นที่เป็นทรงสามเหลี่ยม
ประเภทที่ 7 สวนเฉพาะทาง (Special Purpose Park)
มีทั้งหมด 17 แห่ง รวมพื้นที่ 290,672.000 ตารางเมตร มีเยอะเป็นอันดับที่ 7
ไม่จำกัดขนาดเช่น สวนอนุเสาวรีย์ลานอเนกประสงค์ สวนประวัติศาสตร์สวนวัฒนธรรม เช่น สวนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สวนหย่อมลานพลับพลามหาเจษฏาบดินทร์ ฯลฯ
และพื้นที่สีเขียวที่ยังไม่ได้ระบุประเภทอีกกว่า 8,093 แห่ง รวมพื้นที่ 38,540,949.190 ตารางเมตร
ดังนั้นหากจัดอันดับเรียงตามจำนวนพื้นที่จริงๆ จะได้ดังนี้
- สวนหมู่บ้าน (Neighbourhood Park)
- สวนถนน (Street Park)
- สวนระดับย่าน (District Park)
- สวนชุมชน (Community Park)
- สวนย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park, Mini Park, Tot lots)
- สวนระดับเมือง (City Park)
- สวนเฉพาะทาง (Special Purpose Park)
ได้เห็นข้อมูลที่ทางสำนักงานสวนสาธารณะและสำนักงานสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกันมา น่าจะทำให้ทุกคนได้เห็นปริมาณพื้นที่สีเขียวที่มีในเมืองกรุงง่ายมากขึ้น และได้สังเกตอย่างหนึ่งว่าสวนสาธารณะเหล่านี้ยังไม่ได้รับการกระจายมากพอ โดยเฉพาะกับสวนที่สามารถพักผ่อนได้จริง (สวนชุมชน - สวนระดับย่าน - สวนระดับเมือง) ดังนั้นหากต้องการพื้นที่สีเขียวไว้พักผ่อนจริงๆ แนะนำว่าควรเลือกที่พักอาศัยที่มีสวนหมู่บ้านหรือสวนหย่อมในพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางไปก่อน เพราะอย่างไรกรุงเทพฯ ก็ยังมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอยู่เรื่อยๆ มารอดูกัน
ที่มา: http://203.155.220.118/green-parks-admin/