ESTOPOLIS | 132 ข้อ สรุปคำแนะนำการเลือกซื้อคอนโด ที่ไม่อยากให้คุณพลาด
2 July 2560
ตั้งใจว่าสักวันจะสรุปข้อแนะนำการเลือกซื้อคอนโดแบบละเอียดยิบ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อคอนโดได้ลองพิจารณากัน เพื่อไม่ให้เสียเวลา ทาง Estopolis จะสรุปเป็นข้อ ๆ ในแต่ละหมวดให้อ่านง่ายสบาย ๆ กันค่ะ
ทำเลกับการเลือกซื้อคอนโด
1. หากคอนโดอยู่ในซอย ซอยที่คอนโดนั้นตั้งอยู่ หากโดยรอบเป็นบ้านคนโดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่ ๆ คอนโดในย่านนั้นจะเงียบสงบ แต่กลางคืนจะเปลี่ยว ต่อให้อยู่ในระยะเดินจากรถไฟฟ้าก็จะไม่สามารถเดินได้
2. หากในซอยที่คอนโดตั้งอยู่เข้าออกได้หลายทาง แต่รอบข้างเป็นบ้านคนหลังใหญ่ ๆ และที่ดินเปล่า ค่อนเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม
3. ในซอยที่ค่อนข้างเงียบสงบ หากพบสุนัข โดยเฉพาะหากจับกลุ่มกัน สุนัขเหล่านั้นจะดุ และตัวคอนโดไม่สามารถเข้าออกโดยการเดินได้
4. คอนโดที่ไม่เปลี่ยวควรมีรอบข้างเป็นคอนโด หรืออพาร์ทเม้นท์ ที่สำคัญต้องมีร้านสะดวกซื้ออยู่ใกล้ ๆ
6. สังเกตความสูงของซอยกับถนนใหญ่ หากถนนซอยยกตัวสูงกว่า น้ำไม่ท่วม แต่ถ้าถนนใหญ่สูงกว่าน้ำจะท่วม
7. คอนโดที่ไม่ใกล้รถไฟฟ้า ลูกบ้านจะต้องมีรถ อาจจะมีปัญหาเรื่องการแย่งที่จอดรถกัน
8. คอนโดใกล้สถานศึกษา มักจะมีลูกบ้านเป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะเสียงดังหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งคืน ผนังห้องควรกันเสียง
9. คอนโดที่ใกล้กับสถานบันเทิง ลูกบ้านมักจะเป็นคนที่ทำงานกลางคืน อาจจะมีเสียงเข้าออกห้อง หรือทำอาหารในยามวิกาล
10. บางครั้งลูกบ้านในคอนโดที่อยู่ใกล้สถานบันเทิง อาจจะเป็นนักเที่ยว ผู้มีอิทธิพล ชอบดืมสุรา และสูบบุหรี่
11. คอนโดอยู่ใกล้กับสถานบันเทิงอาจจะไม่ได้มีปัญหามลภาวะทางเสียงเท่ากับคอนโดที่อยู่ใกล้กับลานจัดกิจกรรม
12. หากพื้นที่ใกล้คอนโดเป็นลานกว้าง ๆ และมักจะมีกิจกรรมมาจัด อาจจะมีปัญหาเรื่องเสียง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ และปีใหม่
13. หากรอบโครงการเป็นสวน ป่า ที่ดินว่างเปล่า อาจจะมีปัญหาเรื่องยุง แมลง และสัตว์ไม่พึงประสงค์
14. หากรอบโครงการเป็นที่ดินเปล่า สิ่งก่อสร้างที่ทรุดโทรม ในอนาคตอาจจะมีการปลูกสิ่งก่อสร้างและทำให้โดนบล็อควิวได้
15. คอนโดที่อยู่ใกล้มัสยิส อาจจะได้ยินเสียงสวด
16. หากใกล้กับโครงการเป็นชุมชนแออัด ให้ระวังเรื่องไฟไหม้ และอาชญากรรม
17. ระยะห่างจากรถไฟฟ้าที่สามารถเดินได้อยู่ที่ไม่เกิน 600 - 800 เมตร
18. แต่จะเดินได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นทางด้วย ตั้งแต่รถไฟฟ้าจนถึงตัวคอนโดไม่ควรเปลี่ยว
19. คอนโดที่อยู่ใกล้ปั๊มน้ำมัน อาจจะถูกรบกวนโดยกลิ่นของน้ำมันตอนที่รถน้ำมันเข้ามาเติม ให้เลือกห้องที่ไม่เห็นปั๊ม
20. ปัญหาน้ำท่วมขัง รถติด ให้ถามคนในพื้นที่ อาจจะไปทานอาหารแล้วถามแม่ค้าก็ได้ และควรลงไปดูพื้นที่จริงทั้งกลางวันและกลางคืนก่อนการตัดสินใจ
เคล็ดลับการซื้อคอนโดจากดิวิลอปเปอร์และโครงการ
21. หากเป็น Developer ที่เคยมีผลงาน หากซื้อโครงการตั้งแต่พรีเซล ให้ศึกษาผลงานที่ผ่านมา
22. หากเป็น Developer เจ้าใหม่ การซื้อตั้งแต่พรีเซลอาจมีความเสี่ยง ซื้อตอนที่โครงการเสร็จพร้อมอยู่น่าจะสบายใจกว่า
23. Developer ที่มีชื่อเสียงลำดับต้น ๆ เป็นแบรนใหญ่ ธนาคารมักจะปล่อยกู้ในอัตราที่สูง หลายธนาคารให้ตามราคาซื้อขายเลย
24. ให้ระวัง Developer ที่ทำธุรกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปพร้อมกับอสังหาฯ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือมีความผันผวน
25. Developer เจ้าใหม่ ๆ มักจะมีความตั้งในการก่อสร้างมาก วัสดุที่ให้ค่อนข้างดี แต่เรื่องของการออกแบบอาจจะไม่มีประสบการณ์มากนัก
26. แม้ว่าคุณจะชอบความเป็นส่วนตัว แต่อยากให้เลือกโครงการที่มีจำนวนยูนิตเยอะ มีคอมมูนิตี้มอลล์ หรือมีพื้นที่ให้เปิดร้านค้าในโครงการเยอะ ๆ เพราะจะทำให้มีเงินมาหมุนเวียนดูแลคอนโดให้อยู่ไปนาน ๆ
27. หากโครงการคอนโดมีห้องตั้งแต่ 80 unit ขึ้นไป และมีพื้นที่ตั้งแต่ 4,000 ตร.ม. ต้องผ่าน EIA แล้ว ณ ตอนจอง ไม่เช่นนั้นโครงการอาจจะมีการปรับเปลี่ยน และไม่ตรงกับที่ดูไว้ตอนแรก
28. คอนโดราคาแพงไม่ได้ช่วยคัดกรองลูกบ้าน เพียงแต่ปัญหาลูกบ้านจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป
29. คอนโดที่มีแต่ห้อง penthouse จะอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ หรือคอนโดบางโครงการก็ยินยอมให้เลี้ยงสัตว์เช่นกัน ใครไม่ชอบสัตว์ หรือรักไม่มาก ควรเช็คข้อมูลนี้ด้วย
30. ส่วนหนึ่งที่คอนโดแบบ high rise มีราคาแพงกว่า low rise เพราะการก่อสร้างที่จอดรถ
31. บางโครงการมีการทำการตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ทำให้ลูกบ้านส่วนหนึ่งเป็นคนจีน แต่คนจีนเหล่านี้ค่อนข้างมีคุณภาพ ไม่เหมือนกลุ่มที่มาท่องเที่ยวเท่าไร
32. สำหรับนักลงทุน คอนโดที่มีการรับประกันค่าเช่า จะกี่ปีก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่ควรสนใจ เรื่องของทำเลและคุณภาพคอนโดต่างหากที่สำคัญ
33. ยอดจองเต็ม ไม่ได้เป็นตัวตัดสิน real demand ของคอนโดเหล่านั้น แนะนำให้ใจเย็น ๆ และรอบคอบในการตัดสินใจ
34. เสียงวิจารณ์คอนโดในอินเตอร์เน็ต เป็นตัวช่วยวิเคราะห์ได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องใช้วิจารณญาณ เพราะห้องที่ไม่มีปัญหาก็จะไม่ออกมาโพสชมอยู่แล้ว
35. หากจะซื้อคอนโดแบบผ่อนดาวน์ ในสัญญาไม่ควรจะมีข้อแม้ในเรื่องของการยึดเงินดาวน์หากกู้ไม่ผ่าน ยกเว้นว่าคุณจะมั่นใจจริง ๆ ว่าสามารถกู้ผ่านได้แน่นอน
36. จริงๆ แล้วโครงการไม่สามารถทำสัญญาในการยึดเงินดาวน์กรณีที่กู้ไม่ผ่านได้ เนื่องจากผิดกฏของ สคบ. หากเกิดปัญหาเหล่านี้สามารถฟ้องศาลคดีผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง
37. โครงการต้องระบุวันที่พร้อมเข้าอยู่ และถ้าหากเสร็จไม่ทันตามกำหนด ผู้ซื้อสามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือสามารถฟ้องเรียกค่าปรับได้
38. หากโครงการมีการสร้างผิดเสป็ค ผิดข้อตกลงในระดับหนึ่ง สามารถฟ้องเรียกค่าปรับ หรือยกเลิกสัญญาและคืนเงินได้
39. ห้ามทำเรื่องโอนห้องเด็ดขาด หากการแก้ไขห้องยังไม่เรียบร้อย เพราะโอนเมื่อไรการแก้ไขห้องจะยิ่งยากขึ้น
40. หนังสือสัญญาควรมีการพูดถึงการรับประกันซ่อมแซมเมื่อเกิดปัญหาด้วย
เคล็ดลับการเลือกทำเลห้อง
41. โครงการ low rise นิยมเลือกห้องที่เห็นวิวสระหรือส่วนกลาง เพราะอนาคตรอบข้างอาจจะมีการก่อสร้างตึกสูงมาบังวิว
42. หากกลัวว่าวิวจะปลี่ยน หรือมีตึกมาบล็อควิว แนะนำให้เลือกวิวสวนหรือสระว่ายน้ำไว้ก่อน
43. ห้องทิศใต้เป็นห้องที่ดีที่สุด เพราะ ได้รับลม 8 เดือน ได้รับแสงแดดพอให้ห้องไม่อับชื้นในช่วงเที่ยง
44. ห้องทิศเหนือ จะเป็นห้องที่แทบไม่โดนแดดเลย ได้รับลม 4 เดือน อาจจะมีปัญหาอับชื้น
45. ห้องทางทิศตะวันออก จะร้อนในช่วงสายถึงตอนบ่าย ความร้อนพอ ๆ กับห้องทิศตะวันตก
46. ห้องทางทิศตะวันตก จะร้อนตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึง 2 - 3 ทุ่ม เป็นทิศที่บ้านเราไม่ค่อยชอบ
47. เลี่ยงห้องที่ติดกับห้องขยะ เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องกลิ่น หนู และแมลงสาบ
48. พยายามเลี่ยงห้องที่ติดกับลิฟต์ เพราะจะมีเสียงขึ้นลงตลอดเวลา
49. ห้องติดบันไดหนีไฟ จริง ๆ แล้วเป็นห้องที่เงียบสงบ เพราะไม่มีคนใช้เดินเท่าไร
50. ยกเว้นห้องที่ติดบันไดหนีไฟตั้งแต่ชั้น 1 - 3 เพราะอาจจะคนแอบใช้ขึ้นลงอาคาร เสียงปิดประตูจะดังมาก
51. เลี่ยงห้องที่เพดานเป็นสระน้ำ เพราะอาจจะมีปัญหาน้ำรั่วซึม
52. เลี่ยงห้องที่ติดกับดาดฟ้า เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำรั่ว และความร้อน
53. ห้องมุมคือห้องที่ดีคนชอบที่สุด เนื่องจากส่วนตัวและได้รับวิวมุมกว้าง
54. ห้องที่อยู่ติดกับส่วนกลาง อาจจะไม่เป็นส่วนตัว เพราะจะมีคนมาใช้งานส่วนกลางตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้แล้วแต่คนชอบ เพราะตอนดึก ๆ ไม่มีคนใช้ส่วนกลางแล้ว จะให้อารมณ์เหมือนรีสอร์ท
55. ห้องที่อยู่ชั้น 1 - 2 หรือห้องที่มองเห็นลานจอดรถ อาจจะมีเสียงรถรบกวน
56. ห้องที่อยู่ชั้น 1 ให้ระวังหนู และสัตว์เลื้อยคลาน
เคล็ดลับการเลือกห้องให้ถูกใจ
57. คอนโดที่ขายแบบ fully furnish คือมีการแถมเฟอร์นิเจอร์มาให้ สะดวก แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง
58. คอนโดที่ขายแบบ fully fitted คือขายห้องเปล่า สามารถตกแต่งได้ถูกใจมากกว่า และประหยัดกว่า
59. ห้อง 1 ห้องนอน แบบห้องรับแขกติดระเบียง ควรมีขนาดตั้งแต่ 33 ตร.ม. ขึ้นไป และมีหน้ากว้างมากกว่า 6 เมตร
60. ห้อง 1 ห้องนอน แบบห้องครัวติดระเบียง ขนาดที่เหมาะสมอยู่ที่ 25 ตร.ม. ขึ้นไป
61. หากห้องมีขนาดต่ำกว่า 25 ตร.ม. แนะนำให้เลือกเป็นห้องที่มีแปลนคล้าย ๆ ห้อง Studio จะทำให้อยู่แล้วไม่อึดอัด
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแปลน 1 ห้องนอนที่เหมาะสมกับห้องขนาดต่าง ๆ คลิก!
62. เพดานห้องยิ่งสูงยิ่งดี เพราะจะทำให้ห้องดูโปร่งโล่ง
63. ประตูเข้าห้องควรมีการยกธรณีประตูให้สูงกว่าโถงทางเดิน เพื่อกันแมลง และฝุ่นเข้าห้อง
โซนห้องครัว
64. ครัวปิดคือครัวที่มีประตูกั้นแยกส่วนจากห้องอื่นๆ นิยมทำเป็นประตูกระจกบานเลื่อน
65. ครัวเปิดคือครัวที่มีลักษณะเปิดโล่ง ส่วนใหญ่ครัวแบบนี้จะอยู่บริเวณหน้าห้อง
66. ครัวปิดจะช่วยไม่ให้กลิ่นอาหารและควันกระจายไปโซนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระบบการระบายกลิ่น
67. เครื่องดูดควันมี 2 แบบ คือดูดไปปล่อยข้างนอก และแบบใส้กรอง(filter) ซึ่งแบบดูดควันไปปล่อยข้างนอกจะระบายกลิ่นและควันได้ดีกว่า
68. ท่อระบายควันและกลิ่นควรเดินท่อแยกจากท่อระบายความชื่นในห้องน้ำ
69. พื้นในโซนครัว ควรเป็นกระเบื้องเพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด
70. ท็อปของเค้าเตอร์ครัวที่แข็งแรงและนิยมใช้กัน คือ แกรนิตโต้ หรือท็อปหินเทียม ซึ่งทนต่อแรงกระแทกและความเปียกชื้น
71. ผนังบริเวณครัวควรเป็นวัสดุที่สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย
72. เตาที่ติดตั้ง Built-in มากับครัว หลายคนอาจจะอยากได้ แต่จริง ๆ แล้วทำให้พื้นที่ใช้งานลดลง และหากเสียการจะเปลี่ยนก็จะเป็นเรื่องใหญ่
73. ช่องวางไมโครเวฟ ไม่ควรอยู่สูง เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากการทำของร้อนหกใส่ตัวขณะเอาออกจากเตา
74. ปลั๊กไฟบริเวณครัว ไม่ควรอยู่ใกล้กับอ่างล้างจาน และควรมีฝาครอบให้เรียบร้อย
75. ห้องครัวของเราไม่ควรติดกับผนังห้องนอนของห้องข้าง ๆ เพราะจะไปรบกวนห้องอื่น แน่นอนว่าครัวของห้องอื่นก็ไม่ควรติดกับห้องนอนของเราด้วย
76. ห้องครัวที่อยู่ติดกับระเบียง ค่อนข้างดีในเรื่องระบายอากาศ เพราะสามารถเปิดประตูเพื่อระบายอากาศได้
77. เครื่องตรวจไฟไหม้ในห้องครัว ควรเป็นแบบตรวจจับความร้อน หากเป็นแบบตรวจจับควันจะทำให้มีสัญญาณเตือนดังได้ง่าย
78. ในคอนโดแบบ high rise ต้องมีสปริงเกอร์ หรือท่อฉีดน้ำเพื่อดับไฟ กรณีที่ไฟไหม้ด้วย
79. เช็คช่องวางตู้เย็นให้ดีเพราะมันส่งผลต่อขนาดของตู้เย็นที่วางได้
80. หากเป็นครัวแบบติดระเบียง จุดวางตู้เย็นไม่ควรอยู่ติดระเบียง เพราะจะทำให้ตู้เย็นโดนความร้อน และทำงานหนัก
81. จุดวางตู้เย็นควรมีปลั๊กไฟแยกสำหรับตู้เย็น ไม่งั้นคุณจะมีปัญหาในการต่อสายที่วุ่นวาย
82. เฟอร์นิเจอร์แบบ Soft close (ระบบที่ช่วยลดแรงผลัก) ใช้ไปนาน ๆ มันจะไม่ซอฟต์แล้ว อีกวิธีที่ดีคือการติดปุ่มยางกันกระแทก
83. บางโครงการ ห้องครัวจะมีที่วางเครื่องซักผ้า อย่าลืมวัดขนาดช่องให้ดี
84. โต๊ะทานอาหารไม่ควรเป็นแบบ Built-in หากไม่สามารถพับได้ โต๊ะทานอาหารที่พับเก็บไม่ได้ควรเป็นแบบลอยตัวเพราะปรับเปลี่ยนได้มากกว่า
ห้องน้ำ
85. ทางเข้าห้องน้ำควรมีการลดระดับพื้นห้องน้ำ หรือยกธรณีขึ้นมาเพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นออกจากห้องไปเปียกพื้นข้างนอก
86. พื้นห้องน้ำควรมีความลาดเอียงไปยังท่อระบายน้ำ
87. หากห้องน้ำไม่ได้แยกโซนเปียกและโซนแห้งอย่างชัดเจน ประตูควรจะเป็นวัสดุที่กันน้ำ ไม่บวมลอก
89. ต่อให้มีการแยกโซนเปียกและโซนแห้ง ประตูห้องน้ำก็ควรเป็นวัสดุกันน้ำอยู่ดี เพราะในห้องน้ำมีความชื้นสูง อาจจะมีปัญหาเปิดประตูห้องน้ำไม่ได้
90. ห้องน้ำต้องมีพัดลมระบายความชื้น และควรต่อท่อออกไปที่ระเบียง เพื่อป้องกันกลิ่นและเชื้อรา
91. บางโครงการต่อท่อดูดความชื่นไปที่ช่องเซอร์วิสประปารวม ทำให้มีปัญหาเชื้อรา และอาจจะมีกลิ่นบุหรี่ หรือกลิ่นไม่ถึงประสงค์เล็ดลอดออกมาเมื่อไม่ได้เปิดพัดลมระบายความชื้น
92. วาล์วสายฉีดชำระ และโถสุขภัณฑ์ควรแยกกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและซ่อมแซมในอนาคต
93. สะดืออ่างล้างมือ วาล์วที่เป็นแบบกดเมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจจะทำรุดทำให้กดแล้วค้าง แบบติดโซ่ใช้ไปนาน ๆ โซ่จะขาด แบบเป็นแกนน่าจะใช้ได้นานที่สุด
94. หากคุณไม่ได้อาศัยอยู่คนเดียว หรือมีเพื่อนมาเยี่ยมบ่อย ๆ แนะนำให้เลือกแปลนคอนโดที่เข้าห้องน้ำผ่านห้องรับแขกหรือห้องครัวได้ แปลนที่ต้องเข้าห้องน้ำผ่านทางห้องนอนจะทำให้คนที่นอนอยู่ถูกรบกวน
95. ปลั๊กไฟหากมีในห้องน้ำ ไม่ควรอยู่ใกล้อ่างล้างมือ หรือโซนอาบน้ำเกินไป และต้องมีฝาครอบให้เรียบร้อย
96. หากคุณเป็นคนที่ขี้เกียจทำความสะอาด อ่างล้างหน้าไม่ควรเปลือย ควรมีเคาเตอร์ตัดตั้งครอบการเดินท่อ เนื่องจากบริเวณท่อหากเปลือยจะทำความสะอาดยากมาก
ห้องรับแขก
97. ห้องรับแขกที่อยู่ติดระเบียง จะเหมาะกับการนั่งชมวิว แต่อาจจะได้รับการรบกวนจากแสงสะท้อนตอนดูทีวี อาจจะต้องปิดม่านเพื่อดูทีวี
98. ห้องรับแขกที่อยู่ติดโถงทางเดิน จะเหมาะสำหรับคนที่ชอบดูทีวีมากกว่า เพราะได้ระยะห่างระหว่างทีวีและโซฟาเยอะ พร้อมทั้งไม่มีแสงสะท้อนรบกวน
99. หากต้องการติดโคมระย้าในโซนนี้ แนะนำว่าให้ติดสูงหน่อย เพราะแสงจากโคมอาจจะรบกวนการดูทีวีได้
100. ระยะห่างระหว่างทีวีกับโซฟา หากต่ำกว่า 2.5 เมตร แนะนำให้วางทีวีขนาด ไม่เกิน 40 นิ้ว เพราะถ้าใหญ่กว่านั้นอาจจะทำให้ดูแล้วเวียนหัวได้
101. หากโครงการแถมชั้นวางทีวี และชั้นวางของมาให้ แนะนำให้วัดขนาดช่องสำหรับวางทีวีให้ดี เพราะบางโครงการทำมาบีบพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถวางทีวีขนาดใหญ่ได้
102. ช่องสัญญาณและปลั๊กไฟต้องอยู่บริเวณหลังทีวี หรืออยู่ในจุดที่โยงสายได้สะดวก บางโครงการติดตั้งเอาไว้ในจุดที่ไม่ดี การเดินสายเลยต้องเดินอ้อม ทำให้ดูเกะกะไม่สวยงาม
103. ช่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต ควรอยู่ในโซนทีวีด้วย สำหรับการใช้ Smart TV การต่อสายแลนจะสะดวกกว่า
104. เครื่องปรับอากาศไม่ควรติดตั้งบนผนังฝั่งร้อน หรือฝั่งที่โดนแดด เพราะจะทำให้เครื่องทำงานหนัก
106. บริเวณข้าง ๆ จุดวางโซฟา ปลั๊กไฟติดตั้งอยู่
107. โครงการที่ทำไฟแบบดรอปฝ้าซ่อนไฟมาให้ อาจจะทำให้ห้องไม่ค่อยสว่าง
108. ในจุดนี้ต้องมีเครื่องตรวจจับควันติดตั้งอยู่ด้วย และหากเป็นคอนโดแบบ High rise (ตึกสูงกว่า 8 ชั้น) ต้องมีสปริงเกอร์ติดตั้ง
ระเบียง
109. ทางเข้าออกระเบียงต้องมีการยกธรณีประตูขึ้นมาเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลเข้าห้องในช่วงที่ฝนตกหนัก
110. พื้นระเบียงปกติจะปูด้วยกระเบื้อง และพื้นต้องลาดเอียงไปยังท่อระบายน้ำ
112. ราวระเบียงควรมีความสูงอยู่ที่ 120 ซม. เพื่อความปลอดภัย และไม่หวาดเสียวจนเกินไป
113. หลอดไฟบริเวณระเบียง หากติดตั้งบนเพดาน อาจจะเปลี่ยนยาก ปัจจุบันนิยมติดตั้งบนผนังในระดับความสูงที่เอื้อมถึงได้แทน
114. สำหรับคนที่ต้องการตากผ้าให้แห้งไวคอมเพรสเซอร์แอร์ควรเป่าไปด้านข้าง
115. สำหรับคนที่อยากปลูกต้นไม้ที่ระเบียง คอมเพรสเซอร์แอร์ควรหันออกไปด้านนอก แต่ถ้าหากถูกติดตั้งให้หันไปด้านข้างควรหากริลมาติดเพื่อผลักลมร้อนออกไปด้านนอก
116. บางโครงการแขวนคอมเพรสเซอร์แอร์ในระดับที่ต่ำมาก อาจจะมีปัญหาในการวางเครื่องซักผ้าแบบฝาบน
117. หากเป็นระเบียงใช้งานแบบวางเครื่องซักผ้าได้ ควรมีท่อต่อสำหรับระบายน้ำทิ้งจากเครื่องซักผ้าโดยเฉพาะ ไม่งั้นระเบียงจะเป็นคราบน้ำและมีตะไคร่ขึ้น
ห้องนอน
118. ความกว้างความยาวของเตียงขนาด 6 ฟุตอยู่ที่ 1.8 x 2 เมตร และ 5 ฟุตอยู่ที่ 1.5 x 2 เมตร คำนวนจุดวางเตียงให้ดี บางห้องวางแล้วติดประตู
119. ต้องมีเครื่องตรวดจับไฟไหม้แบบตรวจจับควัน หากเป็นคอนโดแบบ high rise (ตึกสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป) ต้องมีที่ฉีดน้ำ หรือสปริงเกอร์ติดตั้ง
120. กระจกหน้าต่าง แบบบานเลื่อนจะเปิดระบายอากาศได้ดีกว่า
121. กระจกหน้าต่างแบบบานกระทุ้งจะกันลมและฝนสาดได้ดีกว่า ส่วนใหญ่จะติดในคอนโดแบบ high rise
122. ทางเดินตรงปลายเตียงมักจะมีปลั๊กไฟ และช่องสัญญาณทีวี หากมันแคบมากไม่ควรมีชั้นวางทีวี แต่ให้ติดทีวีแบบแขวนแทน
123. บางโครงการให้กระจกหน้าต่างแบบเข้ามุมมา หากติดม่านพอดีม่านจะไปกองและบังส่วนที่เป็นมุม ควรติดม่านให้เกินออกมาเพื่อให้ชมวิวได้เต็มที่
124. เครื่องปรับอากาศไม่ควรติดอยู่บนผนังฝั่งร้อน หรือเหนือหน้าต่าง เพราะจะทำให้เครื่องทำงานหนัก
125. ผนังที่กั้นระหว่างห้องเรากับห้องข้าง ๆ ไม่ควรบางเกินไป อิฐมวลเบาจะเก็บเสียงได้ดีที่สุด
126. ผนั่งที่กันเสียงได้ที่ที่สุดคือการก่ออิฐสองชั้น และตรงกลางเป็นช่องว่าง คือผนังห้องใครห้องมันนั่นเอง
127. หากผนังไม่ได้กันเสียงอาจจะต้องติดวอลเปเปอร์สามมิติเพื่อช่วยลดเสียง
128. หากห้องสร้างเสร็จแล้วพร้อมอยู่ สังเกตบริเวณผนังว่ามีคราบน้ำหรือเปล่า นั่นอาจจะหมายความว่าอาจจะมีน้ำรั่วตอนฝนตก
129. เครื่องปรับอากาศควรติดตั้งห่างจากฝ้าเพดานประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้การไหลเวียนของลมดี และสะดวกในการล้างแอร์
130. คอนโดยูนิตที่ไม่กว้างมาก อาจจะมีการกั้นห้องรับแขกกับห้องนอนด้วยประตูกระจกบานเลื่อน ซึ่งจะทำให้ห้องดูโปร่งโล่งมากขึ้น แต่ก็อาจจะไม่เป็นส่วนตัว
131. ประตูกระจกบานเลื่อนแบบ 3 ตอนจะสามารถเปิดได้กว้างกว่าแบบ 2 ตอน
เพิ่มเติม (แบบไม่จำกัดหมวด)
132. ระบบจอรถอัตโนมัติทำให้มีที่จอดรถมากขึ้น และสะดวกในการจอดรถ แต่ในชั่วโมงเร่งด่วนอาจจะต้องรอกันนานหน่อย
ส่วนหนึ่งของข้อสรุปเหล่านี้ ทาง Estopolis ได้ใช้ประกอบในการรีวิวโครงการคอนโดด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อคอนโดนะคะ