รูปบทความ 100 กว่าปีรถเมล์ ย้อนดูอดีตที่ส่งผลสู่ปัจจุบันของค่าเดินทางชาวกรุง

100 กว่าปีรถเมล์ ย้อนดูอดีตที่ส่งผลสู่ปัจจุบันของประวัติค่าเดินทางชาวกรุง

จากการขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์แบบก้าวกระโดดจนได้รับคำถามกันมากมาย ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้ Esto ได้นึกถึงต้นกำเนิดการเกิดของรถเมล์ พร้อมกับปัจจัยอะไรที่ทำให้การขึ้นราคาต้องเป็นแบบนี้ มาดูกัน


กว่าจะเป็น “ รถเมล์ ” ในวันนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

แนวคิด “ รถเมล์ ” มีมาตั้งแต่สมัย พ.ศ.2450 โดยพระยาภักดี นรเศรษฐ (นายเลิศ เศรษฐบุตร) เป็นผู้ริเริ่มกิจการ เริ่มแรกใช้กำลังม้าในการลากจูง ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์หรือเชื้อเพลิง ต่อมามีแผนพัฒนาให้สามารถเดินรถโดยสารได้เร็วขึ้น และระยะทางไกลขึ้น จึงนำรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดมาวิ่งแทน



กิจการรถเมล์โดยสารดำเนินมาเรื่อย ๆ ผ่านยุครุ่งเรืองมาสู่ยุคที่กำไรหดหาย ในขณะนั้นมีทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจก่อตั้งทำบริษัทมาแข่งขันกัน เกิดปัญหากระทบกระทั่ง แย่งเส้นถนนวิ่งรถ ทั้งปัญหาภายในองค์กรเองก็ดี หรือราคาต้นทุนสูงจนชักหน้าไม่ถึงหลังก็ดี ก่อให้เกิดหนี้สิน จนในที่สุดก็ยุบรวมเหลือเพียงหน่วยงานเดียวที่มาบริหารจัดการ และกลายมาเป็น “ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ” ในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 จนถึงปัจจุบัน




องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. จัดเป็นสาธารณูปโภคชนิดหนึ่งของรัฐ ที่คอยให้บริการประชาชนในเรื่องของการคมนาคมขนส่ง-เดินทาง ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเดินทางที่สะดวก คล่องตัว และเหมาะสมกับรายได้ของตน เป็นบริการที่ไม่หวังผลกำไร จัดเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าทุนเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ประชาชนผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ที่รายได้น้อยถึงปานกลาง


ทำไมต้องมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร

เพราะ “รถเมล์” เป็นสาธารณูปโภคที่มีต้นทุนสูง แต่เก็บค่าบริการต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจมีการขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กราฟสูงบ้าง ต่ำบ้าง ต้นทุนและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนราคาให้สูงขึ้นตามการปรับตัวของผู้ประกอบการนำจ่าย ข้าวของแพงขึ้นตามกาลเวลา สิ่งที่เคยซื้อได้ในราคาไม่กี่บาท เดี๋ยวนี้ไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้แล้ว เป็นธรรมดาของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป



ซึ่งในอดีต ราคาค่าโดยสารของรถเมล์เคยเริ่มต้นอยู่ที่ 0.75 บาท เทียบกับตอนนั้นที่ต้นทุนเชื้อเพลิงยังมีราคาไม่กี่สิบบาทเท่านั้น หากในปัจจุบัน เชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว เล็งเห็นแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถคงราคาค่าโดยสารไว้ที่ 0.75 บาทได้อีกต่อไป เหตุนี้ จึงต้องปรับราคาขึ้นไปตามเหมาะสม แต่กระนั้น รถเมล์ก็ยังเป็นสาธารณูปโภคที่ราคาต่ำกว่าทุน สบายกระเป๋าผู้ใช้บริการมากที่สุด อยู่ดี


ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อราคาค่าโดยสาร

อิงข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต้นทุนในการเดินรถ หลัก ๆ ประกอบด้วย

  1. เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทน
  2. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่าแก๊ส ที่ใช้เดินรถ
  3. เงินบำเหน็จและสวัสดิการพนักงาน
  4. ค่าเสื่อมราคา
  5. ค่าประกันภัย ค่าผ่านทางด่วน
  6. อื่น ๆ

ต้นทุนในการเดินรถเหล่านี้ คือตัวแปรหลักในการขึ้นราคาค่าโดยสาร โดยเฉพาะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่าแก๊ส เป็นปัจจัยอันดับแรก ๆ ที่จะกำหนดตัวเลขค่าบริการว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลงอย่างไร ส่วนข้ออื่น ๆ ก็มีผลต่อการพิจารณาเปลี่ยนแปลงค่าโดยสารเช่นกัน โดยจุดประสงค์หลักเพื่อนำมาเป็นเงินทุนในการปรับปรุง ซ่อมบำรุง และพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น


ปรับขึ้นแล้ว ดีขึ้นอย่างไร ?

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยกล่าวเอาไว้ว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารในแต่ละครั้ง เพื่อ ยกระดับฐานะการเงินให้หน่วยงานมีทุนทรัพย์ในการพัฒนาและบำรุงกิจการให้ดีขึ้น ผันแปรไปตามต้นทุนเชื้อเพลิง เช่าซื้อรถ ซ่อมบำรุง ค่าประกัน ค่าบำรุงถนนเนื่องจากการใช้งาน และเป็นค่าเงินเดือน ค่าสวัสดิการของพนักงานอีกด้วย


หากหน่วยงานมีฐานะการเงินที่ดี คล่องตัว การบริหารจัดการก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น สุขภาพจิตคนทำงานดีขึ้น การบริการอันเป็นมิตรก็ตามมา แน่นอนว่าผู้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือประชาชนผู้ใช้งาน



ปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2562 นี้ ขสมก.ได้มีการจัดหารถเมล์โดยสารรูปแบบใหม่ ๆ มารองรับการใช้งานให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะรถปรับอากาศ เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย พนักงานบนรถก็มีเครื่องแบบเข้าชุด น่ามอง เป็นเกียรติแก่อาชีพ ภาพลักษณ์น่าประทับใจมากขึ้นกว่าเดิม


พัฒนาการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์จากอดีตถึงปัจจุบัน

การปรับอัตราค่าโดยสารของ ขสมก. ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน พอสังเขป เนื่องจากอัตราค่าโดยสารมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถี่ ในตลอดมาที่ดำเนินกิจการ ทางเราจึงขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเพียงคร่าว ๆ เฉพาะช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงเห็นอย่างชัดเจน


รถธรรมดา



  • 1 ต.ค.19 ในโซนเก็บ 0.75 บาท ข้ามโซนเก็บเพิ่ม 0.50 บาท ตลอดสาย 1.25 บาท
  • 1 เม.ย. 21 ในโซนเก็บ 1 บาท ข้ามโซนเก็บเพิ่ม 0.50 บาท ตลอดสาย 1.50 บาท
  • 1 ส.ค. 23 10 กม.แรก 1.00 บาท ทุกๆ 10 กม.ถัดไป เก็บเพิ่มอีก 1 บาท ตลอดสายไม่เกิน 2.00 บาท
  • 20 มี.ค. 24 10 กม.แรก 1.50 บาท ทุกๆ 10 กม.ถัดไป เก็บเพิ่มอีก 1 บาท ตลอดสายไม่เกิน 4.50 บาท
  • 25 พ.ย. 25 10 กม.แรก 1.50 บาท ทุกๆ 10 กม.ถัดไป เก็บเพิ่มอีก 1 บาท
  • 15 ก.พ. 28 เก็บค่าโดยสาร 2 บาท ตลอดสาย
  • 1 ก.พ. 31 รถโดยสารครีม-น้ำเงิน เก็บค่าโดยสาร 2 บาท ตลอดสาย และเริ่มให้บริการรถโดยสารครีม-แดง เก็บค่าโดยสาร 3 บาท ตลอดสาย
  • 1 ก.ย. 35 รถโดยสารครีม-น้ำเงิน เก็บค่าโดยสาร 2.50 บาท ตลอดสาย รถโดยสารครีม-แดง เก็บค่าโดยสาร 3.50 บาท ตลอดสาย
  • 1 ต.ค. 40 รถโดยสารขาว-เขียว เก็บค่าโดยสาร 5 บาท ตลอดสาย
  • 1 ก.พ. 47 รถโดยสารครีม-แดง เก็บค่าโดยสาร 4 บาท ตลอดสาย
  • 8 ก.ค. 48 รถโดยสารครีม-แดง เก็บค่าโดยสาร 6 บาท ตลอดสาย รถโดยสารขาว-เขียว เก็บค่าโดยสาร 7 บาท ตลอดสาย
  • 17 เม.ย.49 รถโดยสารครีม-แดง เก็บค่าโดยสาร 7 บาท ตลอดสาย รถโดยสารขาว-เขียว เก็บค่าโดยสาร 8 บาท ตลอดสาย


รถปรับอากาศ



  • เริ่มให้บริการปี 2521 เก็บค่าโดยสารในอัตรา 5, 10 บาท
  • 1 ต.ค. 22 เก็บค่าโดยสารในอัตรา 5, 7, 9, 10 บาท
  • 9 ต.ค. 23 เก็บค่าโดยสารในอัตรา 5, 7, 9, 11, 13, 15 บาท
  • 9 พ.ย. 34 เก็บค่าโดยสารในอัตรา 6, 8, 10, 12, 14, 16 บาท (8 กม.แรก 6 บาท เพิ่มขึ้นทุก ๆ 4 กม. ๆ ละ 2 บาท ตลอดสายไม่เกิน 16 บาท)
  • 1 พ.ค. 41 เริ่มนำรถโดยสารปรับอากาศยูโรทูเข้ามาให้บริการ เก็บค่าโดยสาร 12 บาท ตลอดสาย
  • 1 ก.พ. 42 รถโดยสารปรับอากาศยูโรวัน-ทู เก็บค่าโดยสารในอัตรา 8, 10, 12, 14, 16, 18 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 18 บาท)
  • 1 ธ.ค. 43 รถโดยสารปรับอากาศธรรมดา (ครีม-น้ำเงิน) เก็บค่าโดยสารในอัตรา 8, 10, 12, 14, 16 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 16 บาท)
  • 1 ม.ค. 44 รถโดยสารปรับอากาศยูโรวัน-ทู เก็บค่าโดยสารในอัตรา 10, 12, 14, 16, 18 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 18 บาท)
  • 16 ม.ค. 46 รถโดยสารปรับอากาศยูโรวัน-ทู เก็บค่าโดยสารในอัตรา 12, 14, 16, 18, 20 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 20 บาท)
  • 1 พ.ค. 47 รถโดยสารปรับอากาศยูโรวัน-ทู เก็บค่าโดยสารในอัตรา 10, 12, 14, 16, 18, 20, 22 บาท (4 กม.แรก 10 บาท เพิ่มขึ้นทุก ๆ 4 กม. ๆ ละ 2 บาท ตลอดสายไม่เกิน 20 บาท)
  • 8 ก.ค. 48 รถโดยสารปรับอากาศธรรมดา (ครีม-น้ำเงิน) เก็บค่าโดยสารในอัตรา 10, 12, 14, 16, 18 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 18 บาท) รถโดยสารปรับอากาศยูโรวัน-ทู เก็บค่าโดยสารในอัตรา 12, 14, 16, 18, 20, 22, 24 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 24 บาท)
  • 17 เม.ย. 49 รถโดยสารปรับอากาศธรรมดา (ครีม-น้ำเงิน) เก็บค่าโดยสารในอัตรา 11, 13, 15, 17, 19 บาท (ตลอดสายไม่เกิน 19 บาท)

และทรงตัวมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 มีอัตราค่าบริการรถโดยสารประจำทาง หรือ รถเมล์ อยู่ที่ รถธรรมดา 6.50 - 9 บาท, รถปรับอากาศ 10-23 บาท โดยประมาณ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอัตราตามปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา


ผลกระทบจากการขึ้นค่าโดยสาร

หากจะบอกว่า การขึ้นค่าโดยสารของรถเมล์ จะไม่มีผลกระทบอะไรเลยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ใช้งานเกือบร้อยละ 90 ต่างได้รับผลกระทบ และเป็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย แรงงานรับเงินค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด



ให้เห็นภาพได้ง่ายจากการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ในรอบปัจจุบัน เมื่อ 22 เมษายน 2562 ราคากระโดดขึ้นจากเดิมอยู่ระหว่าง 1-7 บาท ตามประกาศทั่วไปจากข่าวหรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตอนนี้ค่าโดยสารที่สูงที่สุดในตารางบอกราคาอยู่ที่ 25 บาท ซึ่งเพิ่มเงินอีกไม่กี่บาทก็สามารถซื้อข้าวได้ 1 จาน อาจเป็นค่าอาหาร 1 มื้อของใครหลายคน



แต่ในอีกมุมหนึ่ง จากฝั่งผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการก็ดี หากจะยังคงยืนพื้นค่าโดยสารเท่าเดิมก็เห็นจะเป็นไปได้ยาก เพราะปัญหา หนี้สินทับตัวเป็นตัน เนื่องจาก ขสมก.เป็นหน่วยงานบริการคิดราคาต่ำกว่าทุน ไม่สมดุลกับต้นทุนที่มีราคาแพง แถมยังเป็นบริการที่เสื่อมสภาพ ทรุดโทรมได้ง่าย ต้องซ่อมแซม ปรับปรุงบ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็ใช้งบประมาณมากโข



ซึ่งปัญหาการคมนาคมขนส่งสาธารณะ สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร จะว่าก้าวหน้าก็ใช่ แต่ก็ยังไม่เสถียรภาพดี แม้จะมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในทางเดียวกัน การพัฒนาเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนภาระก้อนใหญ่ของทั้งสองฝ่าย “ ต้นทุนสูงขึ้น จำเป็นต้องเก็บค่าบริการมากขึ้น อาจนำมาซึ่งการหมดโอกาสใช้บริการในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือ หากจำเป็นต้องกดให้ต่ำที่สุด ฝั่งผู้ประกอบการก็อาจจะไม่ไหวกับค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่ราคาแพงขึ้นทุกวัน ” ควรจะมีหน่วยงานที่มีอำนาจควบคุมตรงนี้ได้เข้ามาจัดการ เพื่อความอยู่รอดของทั้งสองฝั่ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่อยากลำบากขึ้น 'รถเมล์' มาดู 3 ทำเล 'เดินเท้า' ถึงได้สะดวก

อยากไปอยู่ประเทศไหนสำรวจค่าครองชีพดูก่อน! จัดอันดับค่าครองชีพของทุกประเทศทั่วโลก

นี่เงินเดือนหรือเงินทอน? หาคำตอบพร้อมกันว่า เงินเดือนของพวกเราหายไปกับเรื่องอะไรบ้าง



เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์