รูปบทความ 10 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุอัคคีภัยในคอนโด ให้ 'ไฟไหม้' เป็นเรื่องใหญ่ 'ที่รับมือได้'

10 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุอัคคีภัยในคอนโด ให้ 'ไฟไหม้' เป็นเรื่องใหญ่ 'ที่รับมือได้'


เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญหน้ากับฤดูร้อน ที่นับวันก็ยิ่งทวีความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่อยากขยับตัวให้พลังงานความร้อนในร่างกายเผาผลาญไปมากกว่านี้ การเปิดแอร์ นอนห่มผ้า ดูซีรีส์เพลินๆ คงดีกว่าออกไปข้างนอกเป็นไหนๆ แต่อยู่ในที่พัก ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้เสมอไป เพราะนอกจากอุณหภูมิความร้อนที่เราต้องเผชิญแล้ว เหตุไฟไหม้ตามบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ก็ยังคงมีให้เห็นตามหน้าข่าวกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งต้นเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร, ก๊าซหุงต้มรั่วไหล ไปจนถึงความประมาทที่เกิดจากตัวบุคคลอย่างก้นบุหรี่ หรือในบางกรณีก็ไม่ทราบสาเหตุ เมื่อผนวกกับอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้ ก็ยิ่งทำให้เหตุอัคคีภัยเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย


และจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้เราต้องหันมาตระหนักถึงอัคคีภัยกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดภายในตึกสูง ที่มีกลุ่มคนอยู่ด้านในเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากต่อการอพยพออกจากพื้นที่ อย่างเช่นอาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า และคอนโดมิเนียม


วันนี้ Esto เลยมีคำแนะนำในการเอาตัวรอดจากเพลิงไหม้สำหรับคนที่อยู่อาศัยบนตึกสูงอย่างคอนโดมิเนียมมาฝากกัน เพราะหากเรารู้วิธีการที่ถูกต้อง ก็จะช่วยลดการบาดเจ็บและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยวิธีการเอาตัวรอดนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้



กรณีที่เหตุเพลิงไหม้ยังไม่รุนแรง ยังสามารถอพยพออกจากอาคารได้



  • เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ อย่าตื่นตระหนก ให้ตั้งสติ ยิ่งเรามีสติเท่าไหร่ โอกาสในการเอาตัวรอดก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะสามารถตั้งหลัก และพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย


  • นอกจากเปลวไฟที่สามารถเผาไหม้ร่างกายของเราได้ ให้จำไว้เสมอว่าควันก็สามารถทำให้เราเสียชีวิตได้เช่นกัน เพราะการสูดดมควันก็เท่ากับการหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เข้าสู่ร่างกาย หากมีปริมาณที่มากเกินไปก็อาจส่งผลให้ร่างกายหมดสติ และเสียชีวิตได้


  • พยายามเคลื่อนไหวไปที่ประตูห้องด้วยการหมอบคลาน เพื่อให้ร่างกายของเราไม่ได้รับควันมากจนเกินไป เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์จะอยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต 


  • อย่าเปิดประตูจนกว่าจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีไฟอยู่ด้านหลังประตู ให้ทดสอบโดยการใช้มือสัมผัสลูกบิดประตูหรือผนัง ถ้าหากร้อน เป็นไปได้ว่าเพลิงไหม้อาจอยู่หน้าประตูของเรา


  • หากกลอนประตูไม่ร้อนจนเกินไป ให้เปิดประตูออกด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรรีบร้อนเปิดประตูกว้างจนเกินไป เพราะหากมีเปลวไฟอยู่ที่ด้านหน้า อาจโถมเข้ามาคลอกร่างกายของเราได้ แต่หากสามารถฝ่าไปได้ ให้รีบเคลื่อนที่ไปยังเส้นทางหนีไฟที่ใกล้ตัวโดยเร็วที่สุด


  • อย่าเสียเวลาเก็บข้าวของส่วนตัวของตัวเองเด็ดขาด ให้รีบปิดประตูและนำกุญแจห้องติดตัวไปด้วย


  • และจะดีกว่า ถ้าหากเราสามารถหาผ้าชุบน้ำมาคลุมตัวก่อนอพยพออกจากห้อง เพราะผ้าชุบน้ำจะช่วยป้องกันไฟไม่ให้ไหม้ร่างกายและสามารถใช้ปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟได้


  • ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด เพราะลิฟท์สามารถหยุดทำงานได้ทุกเมื่อ และวัสดุของตัวลิฟท์ก็เป็นโลหะ ที่นำความร้อนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


  • ก่อนใช้บันไดหนีไฟ ให้ตรวจสอบปริมาณควันภายในก่อนที่จะเปิดประตูเข้าไป เพราะหากมีมากจนเกินไป เราอาจสูญเสียอากาศจนหมดสติขณะอพยพได้


  • หากบันไดหนีไฟปลอดภัยพอ ให้เดินลงอย่างระมัดระวัง ห้ามวิ่งเด็ดขาด และคอยจับผนังหรือราวบันไดเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม เมื่อลงมาถึงชั้นล่างให้พาตัวเองไปยังที่ปลอดภัยหรือจุดรวมพลโดยทันที 



กรณีที่เหตุเพลิงไหม้รุนแรงจนไม่สามารถอพยพออกจากอาคารได้



หากเพลิงลุกไหม้รุนแรงมากจนไม่สามารถลงจากตึกได้ ให้รีบขึ้นไปที่ชั้นสูงสุดเพื่อรอรับการช่วยเหลือ เพราะเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะปฏิบัติการช่วยเหลือโดยเริ่มจากชั้นล่างและชั้นบนสุดก่อน และจะค่อยๆ ไล่เข้าหากันจนสิ้นสุดที่บริเวณกลางตึก แต่หากบันไดหนีไฟไม่สามารถใช้งานได้ ให้รีบกลับเข้าไปที่ห้องโดยเร็ว หรือหากลองเปิดประตูแล้ว ที่ด้านนอกมีความร้อนที่สูงมากหรือควันที่เยอะจนเกินไป ให้รีบปิดประตูในทันที และทำตามวิธีดังต่อไปนี้


  • ให้เปิดหน้าต่างออกเล็กน้อยเพื่อระบายควัน ห้ามทุบกระจกให้แตกเด็ดขาด เพราะเราอาจจะต้องปิดเพื่อป้องกันควันจากด้านนอกในกรณีที่ไฟลุกลามหนักจนกลุ่มควันมีมากเกินไป


  • ห้ามกระโดดลงจากตึกโดยเด็ดขาด ให้หมอบต่ำอยู่ภายในห้อง หาผ้าชุบน้ำมาคลุมตัวและปิดปากเอาไว้


  • รีบอุดรูต่างๆ ทันที เช่น ช่องใต้ประตู, หน้าต่างระบายอากาศภายในห้องน้ำ โดยใช้ผ้าชุบน้ำ อุดตามรูต่างๆ และรอการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง


เมื่อมีการซ้อมหนีไฟ ให้เข้าร่วมการฝึกซ้อมด้วยทุกครั้ง เพื่อเรียนรู้ช่องทางในการอพยพ และวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์จริง


สิ่งสำคัญที่สุดในการเอาตัวรอดจากเหตุอัคคีภัย คือการให้ความร่วมมือในการฝึกซ้อมหนีไฟ อย่าประมาทและมองข้ามความสำคัญโดยเด็ดขาด เพราะหากเหตุเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า อาจทำให้ตระหนก ขาดสติ และไม่รู้วิธีการในการรับมือที่ถูกต้อง จนนำมาซึ่งความสูญเสียได้


หากเราเคยฝึกซ้อมในการรับมือมาก่อน เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นจริงๆ

  • เราจะสามารถประเมินสถานการณ์ได้
  • เข้าใจการทำงานของอุปกรณ์ระงับเหตุอัคคีภัยและใช้งานได้อย่างถูกต้อง
  • รู้วิธีการป้องกันร่างกายจากเปลวไฟและควัน
  • ทราบทิศทางในการอพยพออกจากอาคาร

และหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์