รูปบทความ 'โอ่งอ่าง' คลองลับแล ที่ถูกฟื้นคืนชีพใหม่

'โอ่งอ่าง' คลองลับแล ที่ถูกฟื้นคืนชีพใหม่


คลอง’ กับ ‘วิถีชีวิต’ ของคนไทย ถือเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คลองมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และคลองถูกขุดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นเส้นทางในการขนส่ง รวมไปถึงการค้าขาย แต่ปัจจุบัน ทางน้ำอย่างคลองก็ไม่ได้มีการใช้งานที่แพร่หลายมากเหมือนในครั้งอดีตอีกต่อไปแล้ว ทำให้คลองที่กระจายอยู่ทั่วเมืองในหลายๆ ที่นั้น ‘ถูกลืม’ ยิ่งที่ที่มีคนอยู่ล้อมคลองมาก คลองแห่งนั้นก็ยิ่งเหม็นเน่า สกปรก ไม่น่าอภิรมย์ จนกลายเป็นความทุกข์ของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบในที่สุด เพราะลำคลองที่อยู่อาศัย ขาดไร้ซึ่งระบบจัดการน้ำที่ดี


หากจะพูดถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานี้ ต้องบอกเลยว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เราสามารถเปลี่ยนคลองสีคล้ำดำให้กลับมาสดใสได้ ด้วยการจัดการระบบน้ำที่ดี การปรับภูมิทัศน์ของคลองในลักษณะนี้ มีให้เห็นกันอยู่แพร่หลาย แต่ที่ที่ถูกพูดถึงมากมาย จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในปัจจุบันอย่าง ‘คลองชองเกชอน’ ก็กลายมาเป็นหนึ่งในต้นแบบแผนงานการฟื้นฟูผังเมืองของประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด



‘คลองชองเกชอน’ หนึ่งในต้นแบบแผนงานการฟื้นฟูผังเมืองของประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด


ที่มา: Daumcdn

การพัฒนา’ เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของโลกที่หมุนเวียนไป กว่าจะมาเป็นพวกเราได้ในทุกวันนี้ ก็มีประวัติศาสตร์มากมายที่ทิ้งรอยไว้ในอดีต ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่ ‘อดีต’ หรือ ‘ประวัติศาสตร์’ ก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เราจากโลกยุคปัจจุบันได้เรียนรู้ ดูเป็นตัวอย่าง และศึกษาเป็นบทเรียน


จากบทความเรื่อง ‘ศิลปะการพัฒนาเมืองผ่านการ Make Over สลัม’ ทำให้เราได้เห็นรูปแบบวิธีการในการพัฒนาชุมชนเสื่อมโทรมในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุผลในหลากหลายทาง ทั้งเพื่อพัฒนาที่ดินเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากขึ้น, เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปจนถึงการสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองโลกแห่งทุนนิยม


เช่นตัวอย่างจากคลองชองเกชอน ประเทศเกาหลีใต้ ที่หลังสงครามในคาบสมุทรเกาหลีจบสิ้น ในยุค 70 ก็ได้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศขึ้น ทำให้กลุ่มชาวบ้านท้องถิ่นจากสังคมเกษตรกรรมต้องปรับตัวใหม่ กลายมาเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่กระจายทั่วทั้งเมืองโซล รวมไปถึงที่บริเวณริมคลองชองเกชอนในสมัยนั้นด้วย


ความเจริญของเมือง ไม่ได้นำพาความสุขมาให้เสมอไป


ต่อมาในระหว่างปี 1958-1977 คลองชองเกชอนแห่งนี้ก็ถูกปิดทับ เพิ่มเส้นทางการจราจร เพื่อรองรับถนนสำหรับขนส่งสินค้า จากนั้นในยุค 80 คลองแห่งนี้ก็กลายมาเป็นทางยกระดับเพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบและเพื่อเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิกอย่างสมเกียรติในปี ค.ศ. 1988


แต่การพัฒนาก็ไม่ได้ราบรื่นเช่นนั้นเสมอไป เพราะในเวลาต่อมา คุณภาพชีวิตของคนในเมืองก็กำลังแย่ลงด้วยมลพิษจากควันรถกว่า 170,000 คันต่อวัน และเกาะความร้อนที่เกิดจากตอม่อ ทั้งยังมีเรื่องของงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทที่ต้องเสียในทุกๆ ปี เพื่อไม่ให้ตอม่อทางด่วนยกระดับต้องพังลงมา


ทำให้นายกเทศมนตรีของโซลในขณะนั้น นาย อี มย็องบัก ได้คิดที่จะฟื้นฟูคลองแห่งนี้ขึ้น โดยเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และกลายมาเป็นโครงการการต้นแบบของการพัฒนาระดับเมือง ที่เชื่อมโยงมิติทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของเมือง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนมากมายให้แวะมาเดินเล่น ชื่นชมบรรกาศร่มรื่นกลางเมืองโซลอย่างในปัจจุบัน



‘กรุงโซล’ ต้นแบบการพัฒนาของกรุงเทพฯ


เรื่องการปรับปรุงคลองเน่าเสียในกรุงเทพฯ จากโรลโมเดล ‘ชองเกชอน’ คงเป็นเรื่องที่ใครหลายคนเคยได้ยินผ่านหูกันมา (นาน) ระยะหนึ่งแล้ว ในที่สุดการปรับปรุงก็ได้เริ่มดำเนินการมาจนใกล้แล้วเสร็จกว่า 80% แล้ว โดยคลองที่ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์นี้ คือ คลองโอ่งอ่าง คลองเก่าแก่คู่เมืองกรุงที่อยู่ร่วมกับชุมชนมานานกว่า 230 ปี หรือที่รู้จักกันในนามของตลาดสะพานเหล็ก โดยในช่วงแรก จะเริ่มปรับปรุงจากบริเวณสะพานดำรงสถิต ไปถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ก่อน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ และจะขอจัดสรรงบประมาณปี 63 เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณคลองโอ่งอ่างเพิ่มเติมจากสะพานโอสถานนท์ยาวไปถึงสะพานผ่านฟ้าต่อไป


ที่มา: Thairath

ซึ่งก่อนที่คลองโอ่งอ่างแห่งนี้จะได้รับการปรับปรุง คลองแห่งนี้มีสภาพที่แทบจะไม่เหมือนคลอง เพราะมีแต่หลังคาร้านค้ามากมายที่บดบังผิวน้ำ มีแต่ความแออัดและไร้ระเบียบ แถมตลาดสะพานเหล็กก็ยังบดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงน้ำในคลอง น้ำก็เลยทั้งสกปรกและเน่าเหม็น จนเรียกได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่แทบไม่น่าอยู่อาศัย 


การจัดการปรับปรุงภูมิทัศน์ในครั้งนี้ เลยทำให้ชาวชุมชนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้คลองเกิดความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ปัญหาเรื่องมลภาวะทางกลิ่นก็จะหมดไปอีกด้วย แม้ว่าคลองจะไม่ได้เปลี่ยนไปจนใสสะอาดร้อยเปอร์เซ็นก็ตาม



มองไกลกว่าแค่การเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ  


แม้ในท้ายที่สุดคลองโอ่งอ่างจะไปไม่ถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่นี่คือก้าวเล็กๆ ของการพัฒนาเมืองที่น่าจับตามอง


การปรับภูมิทัศน์ของคลองโอ่งอ่างนี้ ถือเป็นต้นแบบใหม่ของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนที่น่าจับตามอง เพราะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับมาสะอาดสะอ้านดังเดิมเท่านั้น แต่ยังปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่เดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจกลางกรุงที่ร่มรื่นไปด้วยร่มไม้อีกด้วย และจากพื้นที่พักผ่อนสาธารณะสำหรับชาวชุมชน โครงการนี้ก็มองไกลถึงหนทางที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่แหล่งท่องเที่ยว ให้กลายมาเป็นถนนคนเดิน ที่สามารถดึงดูดผู้คนจากต่างพื้นที่เข้ามาได้ในอนาคต



แผนการฟื้นฟูคลองในปัจจุบัน ยังคงเร่งดำเนินการและหาหนทางแก้ไขอยู่ในหลายพื้นที่ มีทั้งที่ดำเนินงานแล้วเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีทั้งโครงการที่ต้องวางแผนแก้ไขในระยะยาวที่ต้องจัดการให้เป็นไปตามขั้นตอน แม้ว่าอาจจะยังไม่เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้ แต่อย่างน้อย...ส่วนนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง ‘คลอง’ ให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน



ที่มา:    www.compasscm.com/view/209

           www.komchadluek.net/news/scoop/264741

           www.posttoday.com/social/local/40189 




เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์