‘รวมร่าง แต่ไม่รวมราง’ ความคืบหน้าของบัตรแมงมุมวันนี้
1 June 2562
หลายคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวง และเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ เรือ รถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดิน คงต้องเคยได้ยินชื่อ “บัตรแมงมุม” บัตรใบเดียวที่สามารถใช้จ่ายค่าโดยสารได้ทั้งหมดที่กล่าวไปโดยไม่ต้องพกบัตรหลายใบ และยังสามารถใช้ซื้อของในร้านค้าที่ร่วมรายการได้อีกด้วย
บัตรแมงมุมคืออะไร ?
บัตรแมงมุมในปัจจุบันนั้นมีทั้งหมดสามประเภท คือ บัตรบุคคลทั่วไป บัตรนักเรียนนักศึกษา และบัตรผู้สูงอายุ โดยในปัจจุบัน ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้เป็นบัตรแมงมุมได้ด้วย แต่ต้องผ่านการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว บัตรแมงมุมสามารถเติมเงินเข้าไปในบัตรได้สูงสุด 10,000 บาท สามารถใช้เงินจำนวนนี้ในการเดินทาง และซื้อของในร้านค้าที่ร่วมรายการในเครือเซนทรัล และเดอะมอลล์
บัตรแมงมุมอัพเกรดอีกขั้นแล้ว
ด้วยสิทธิพิเศษของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้ที่มีคุณสมบัติครบตามที่รัฐบาลกำหนดและทำการลงทะเบียนรับบัตรไว้ สามารถขึ้นรถเมลล์โดยมีวงเงินจากรัฐให้เดือนละ 500 บาท ทำให้บัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 คือบัตรแมงมุมที่ผูกกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเอาไว้ได้รับสิทธิ์นี้ไปด้วย ส่วนผู้ที่ถือบัตรแมงมุม 2.0 หรือบัตรแมงมุมธรรมดาจะไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้ แต่สามารถเติมเงินเข้าบัตรเพื่อจ่ายค่าโดยสารได้ตามปกติ
ล่าสุด ในวันที่ 20 พฤษภาคม ได้มีการประกาศว่าผู้ที่ถือบัตรแมงมุม เวอร์ชั่น 2.0 และ 2.5 (เป็นแบบที่ผูกกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) และบัตรแมงมุม 4.0 EMV สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ได้แล้ว ได้ทั้ง 8 สถานี โดยจะเริ่มให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
และสำหรับผู้ถือบัตรแมงมุม 2.5 และบัตร EMV 4.0 ได้รับวงเงินค่าโดยสาร รถเมลล์ ขสมก. BTS MRT และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ จำนวน 500 บาท/เดือน ส่วนบัตรเวอร์ชั่น 2.0 จะไม่ได้รับแต่สามารถเติมเงินเข้าบัตรแล้วจ่ายค่าโดยสารได้ตามปกติเช่นเดิม
บัตรแมงมุม..รวมร่าง!
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า EMV มีชื่อย่อมาจาก Europay Mastercard and visa เป็นชื่อของ 3 บริษัทที่ร่วมกันสร้างมาตรฐานของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง ข้อดีของบัตร EMV คือ เพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้กับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เพราะจะมีการให้ผู้ใช้ใส่พินหรือเซ็นผ่านเครื่องรับบัตร
บัตรแมงมุมได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยออกบัตรเดบิตเมงมุม” หรือ “บัตรกรุงไทย เมโทร ลิงค์ (Krungthai Metro Link)” เป็นบัตรที่มีชิปการ์ดของทั้งบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ดและบัตรแมงมุมมารวมกัน ทำให้บัตรใบนี้สามารถเบิก ถอน โอนเงินสด ซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) และใช้เป็นบัตรจ่ายค่าโดยสารได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับบัตรแมงมุม
นอกจากนั้น รฟม. กำลังพัฒนาระบบโมบายแอปพลิเคชันร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเติมเงินเข้าบัตรแมงมุมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วย
การพัฒนาบัตรแมงมุมเป็นแบบ EMV นั้น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)กล่าวว่ากำลังอยู่ในช่วงพัฒนา และคาดคะเนเงินลงทุนไว้ 500 ล้านบาท โดยจะมีธนาคารกรุงไทยเป็น Center ของระบบ ทำให้ในอนาคตเราอาจจะไม่เห็นบัตรแมงมุมอีกต่อไป แต่ความสามารถของบัตรแมงมุมจะไปฝังรวมอยู่กับบัตรเครดิตและเดบิตต่างๆ ทำให้ฝั่งผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเงินซื้อบัตรแมงมุมช่วยลดจำนวนบัตรที่ต้องพกในกระเป๋า ในส่วนของฝั่งผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตบัตรแมงมุมที่มีความสามารถเดียวมาขายได้ถึง 40%
อย่างไรก็ตาม การใช้งานบัตรแมงมุมระบบ EMV ตามกำหนดการแล้วจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน ธันวา ปี 2562 จะเป็นจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้โดยสารระบบขนส่งสาธารณะทั้งหลายต้องร่วมลุ้นและคอยติดตามกันต่อไป
สรุปประเภทและชนิดของบัตรแมงมุม
บัตรแมงมุมจะมีสำหรับสามช่วงอายุ คือ เด็ก/นักศึกษา บุคคลทั่วไป และคนชรา ทั้งหมดสามเวอร์ชัน คือ
- บัตรแมงมุม 2.0 เป็นบัตรแมงมุมแบบธรรมดาที่ใช้เป็นบัตรเติมเงินเพื่อจ่ายค่าโดยสารได้ตามปกติ
- บัตรแมงมุม 2.5 เป็นบัตรแมงมุมที่ใช้เป็นบัตรเติมเงินจ่ายค่าโดยสารได้เช่นเดียวกับ 2.0 แต่จะบวกเพิ่มสวัสดิการที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมอบให้เข้าไปด้วย เช่นได้รับค่าโดยสาร รถเมลล์ BTS และฟรี 500 บาทเป็นต้น
- บัตรแมงมุม EMV 4.0 ประเภทนี้จะไม่ได้เป็นบัตรแมงมุมโดยตรง แต่คล้ายกับว่าบัตรแมงมุมได้ไปรวมร่างรวมอยู่กับบัตรเดบิต และเครดิตอื่นๆ ทำให้บัตรเครดิตและเดบิตใบนั้นสามารถใช้แทนบัตรแมงมุมได้ด้วย และหากเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย ก็จะทำให้ได้รับสวัสดิการของบัตรสวัสดิการไปด้วยนั่นเอง
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือรู้จักกันในอีกชื่อคือ “บัตรคนจน” นั่นเอง เป็นบัตรที่รัฐบาลออกให้สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ตัวบัตรจะมอบสวัสดิการมากมาย เช่น ซื้อของในร้านค้าที่ร่วมรายการได้ฟรีโดยมีวงเงินกำหนดให้ และมีค่าโดยสารฟรีให้ด้วย ทำให้บัตรแมงมุมที่ผูกกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับสิทธิ์ตรงนี้ไปด้วย
ในอนาคตเราอาจจะได้พกบัตรใบเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง ตามคอนเสป ‘แมงมุม’ ที่มันจะชักใยโยงไปทุกที่โดยแมงมุมสามารถเดินไปไหนมาไหนก็ได้บนใยของมัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
พาส่องค่าใช้จ่ายการเดินทางในไทยและเทศ การรวมบัตรจะเป็นไปได้ไหม?
100 กว่าปีรถเมล์ ย้อนดูอดีตที่ส่งผลสู่ปัจจุบันของประวัติค่าเดินทางชาวกรุง
อยู่กันอย่างไร? ในยุคที่ราคาขนส่งมวลชน ผกผันต่อคุณภาพชีวิต