เอสโตโกกรีน! ชวนไปงานกาชาดแบบลดขยะ
22 November 2562
กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงในช่วงนี้ หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก Single Use ที่เริ่มจะล้นโลก จึงเริ่มมีการหันมาใช้วัสดุทดแทนที่สามารถย่อยสลายได้ หรือลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อันที่จริงต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถที่จะหยุดการใช้ถุงพลาสติกได้ แต่เราสามารถที่จะลด และหลีกเลี่ยงการใช้ได้ และในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ ร้านค้าต่างๆจะเริ่มงดแจกถุงพลาสติก เราจึงควรฝึกนิสัยการพกถุงผ้าหรือถุง Reuse ให้ชินเข้าไว้
งาน Festival หรืองานออกร้านต่างๆ ก็เป็นอีกแหล่งผลิตขยะแบบ Single Use เพราะใช้งานง่าย สะดวก เก็บทิ้งง่าย ซึ่งวันนี้ เอสโต จะพาทุกคนไปงานกาชาด สวนลุมพินี 2562 ซึ่งงานนี้ มีการรณรงค์ให้ใช้จานช้อนพลาสติก แบบที่ย่อยสลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีการแยกขยะกันอย่างจริงจัง เพื่อนำไปเข้ากระบวนการตามประเภทของขยะต่างๆต่อไป
เอสโตขอ Go Green ด้วยการพกกล่อง พกถุงผ้า พกแก้วไปใส่อาหารเอง เพื่อผลิตขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขอเชิญชวนทุกคนพกกล่อง แก้ว และถุงผ้าเล็กๆ ลดขยะได้ 1 ชิ้นก็ถือว่าได้ช่วยโลกแล้ว
หนักที่เรา เบาที่โลก
กล่องพลาสติกใช้ซ้ำ 1 กล่อง สามารถใส่อาหารซ้ำได้มากกว่า่ 1 ครั้งในงานเดียว เอสโตเริ่มต้นด้วยไส้กรอกอีสานเนื้อแน่น พี่ๆพ่อค้าแม่ค้าให้ความร่วมมือดีมาก จัดแจงใส่กล่องให้อย่างสวยงาม นอกจากจะได้ช่วยโลกแล้ว ยังอร่อยสุดๆ
เดินไปอีกนิด เจอร้านลูกชิ้นปิ้งของโปรด จะไม่กินก็คงไม่ได้ รีบหยิบกล่องเดิมขึ้นมา คุณลุงพ่อค้าราดน้ำจิ้มให้พร้อมทาน และยังใจดีแถมให้อีก 2 ไม้ น่ารักสุดๆไปเลยค่ะ
ร้านค้าบางร้านมีกิมมิกน่ารัก โดยการใช้ภาชนะจากธรรมชาติเช่น กระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำดื่ม นอกจากจะช่วยขยะ เพราะภาชนะสามารถย่อยสลายเองได้แล้ว ยังน่ารักน่าถ่ายรูปเก๋ๆ อัพโชว์ความกรีนใน Social อีกด้วย
ถึงแม้ว่าเราจะพกกล่องมาเอง แต่ก็ยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างเช่น ไม้เสียบลูกชิ้น หลอดพลาสติก หรือขยะอาหารที่เราทานไม่หมด แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ งานกาชาดสวนลุมพินีปีนี้ มีมาตรการแยกขยะอย่างจริงจัง โดยมีจุดทิ้งหลอดและน้ำแข็ง เพื่อแยกหลอดพลาสติกออกไปเพื่อจัดการอย่างถูกวิธี
ถ้าใครกลัวว่าจะแยกขยะไม่ถูกประเภท ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะงานกาชาด สวนลุมพินี 2562 มีอาสาสมัครที่คอยยืนอยู่ตามจุดทิ้งขยะต่างๆ คอยแนะนำวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้อง
นอกจากขยะจากพลาสติกและอื่นๆแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือ ขยะอาหาร หรือ Food wasted ซึ่งมาจากอาหารที่เรากินเหลือเอง และยังมาจากร้านรวงต่างๆภายในงาน ซึ่งมีปริมาณมากถึง 200-300 กิโลกรัมต่อวัน ทางศูนย์อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมงานกาชาด ก็มีวิธีจัดการโดยจะรวบรวมขยะอาหารในแต่ละวัน มาเข้าเครื่องแปลงขยะชีวะมวลเป็นสารชีวภาพปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนขยะอาหารให้มีประโยชน์ขึ้นได้
ซึ่งขยะอาหารทั้งหลายจะถูกเจ้าเครื่องนี้อบด้วยความร้อน และเพิ่มจุลลินทรีย์เข้าไป จนแห้งแต่ยังคงไว้วึ่งสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อดิน
ซึ่งในงานก็มีผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินจากเศษอาหารวางจำหน่าย ซึ่งจะบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อนำรายได้ไปสมทบให้กับสภากาชาดไทย และก็นำสารปรับปรุงดิน กลับไปใช้ที่บ้านได้เลย
เห็นได้ชัดว่า เริ่มมีการตื่นตัวกันถึงปัญหาของขยะพลาสติกกันมากขึ้น เป็นสิ่งดีที่เอสโตอยากจะบอกต่อ เพราะเราทุกคนสามารถช่วยกันได้ คนละไม้คนละมือ หยุดใช้ไม่ได้ก็แค่ลด ลดการใช้ไม่ได้ก็แค่เลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องจัดการกับขยะนั้นอย่างถูกวิธี เท่านี้ โลกก็จะน่าอยู่มากขึ้นด้วยมือเรา...