อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการปิดไฟ 1 ชั่วโมง ...ช่วยโลกได้อย่างไรบ้าง ?
24 May 2562
ครองแชมป์มาหลายปีแล้ว สำหรับ ปัญหาโลกร้อน ที่ไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ รังแต่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด โดยปัญหาโลกร้อนที่ว่านี้ ก็มีสาเหตุมาจาก พฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งนั้น ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งหลีกเลี่ยงได้และไม่ได้
โลกร้อน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เพื่อทำเป็นพลังงาน โดยกระบวนการเหล่านั้นไปเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อากาศ และก๊าซพิษ ก๊าซเสียอีกหลายชนิด กลายเป็น ก๊าซเรือนกระจก ดูดซับและกักเก็บรังสีความร้อนจากพระอาทิตย์เอาไว้ เมื่อมีเกินจำเป็น ก็จะทำให้อากาศร้อนอบอ้าวมากเกินไปด้วย
ไฟฟ้า ก็เป็นพลังงานชนิดหนึ่งเหมือนกัน
มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้หากไร้ไฟฟ้า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยจำเป็นอันดับต้นๆ ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พร้อมกันนั้น ก็เป็นอีกสาเหตุที่อยู่ในลำดับสำคัญของการเพิ่มอุณหภูมิโลกด้วย
เปิดไฟ 1 ครั้ง ใช้พลังงานเท่าไหร่
หน่วยวัดกำลังไฟฟ้า เรียกว่า วัตต์ (Watt)
1 หน่วย (หรือ 1 ยูนิต) = 1,000 วัตต์ ใน 1 ชั่วโมง (หรือเรียกว่า 1 กิโลวัตต์)
หลอดไฟ มีกำลังไฟฟ้าอยู่ที่ 1-100 วัตต์ แล้วแต่แบบและขนาด
สมมติว่า หลอดไฟ มีกำลังไฟฟ้า 36 วัตต์ เปิดใช้งาน 24 ชั่วโมง/วัน 36 x 24 = 864 = ใช้ไป 0.864 ยูนิต/วัน สำหรับการเปิดไฟเพียงอย่างเดียว ต่อ 1 หลอด
คอนโดมิเนียม 1 ห้อง ใช้ไฟขนาดนี้ !
คอนโดมิเนียมมีหลอดไฟมากกว่า 1 หลอดอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ห้องนอน ห้องน้ำ ระเบียง หากเป็นคอนโดมิเนียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีห้องแยกหลายห้อง หลอดไฟก็จะเพิ่มจำนวนตามไปด้วย
ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว มีระเบียง จะต้องมีการติดตั้งหลอดไฟอย่างน้อย 5 หลอด คือ
- ห้องนั่งเล่น
- ห้องนอน
- ห้องน้ำ
- ห้องครัว
- ระเบียง
ยังไม่คิดเผื่อกรณีที่ห้องกว้าง หรือเจ้าของโครงการมีดวงไฟเพื่อการตกแต่งเพิ่มให้อีก อาจใช้ไฟมากกว่า 1 หลอด ต่อ 1 สัดส่วนห้อง
สมมติว่าในคอนโดมิเนียมหลังหนึ่ง มีไฟทั้งหมด 5 ดวง ใช้หลอดไฟที่มีกำลังไฟฟ้า 36 วัตต์ มีการเปิดใช้ประมาณ 10 ชั่วโมง/วัน
(36 x 5) x 10 = 1,800 วัตต์
คิดเป็น 1.8 กิโลวัตต์ หรือ 1.8 ยูนิต ต่อ 1 วัน
1.8 x 30 = 54 ยูนิต ต่อ 1 เดือน
1.8 x 365 = 657 ยูนิต ต่อ 1 ปี
เฉพาะการใช้ไฟฟ้าจากหลอดไฟเท่านั้น ไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นอีก
ถ้าปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ 1 ชั่วโมง ช่วยโลกได้ขนาดนี้เชียวนะ !
อ้างอิงจากกิจกรรมรณรงค์ ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ทั่วกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์โครงการไว้ว่า การปิดไฟ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,026 ตัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 7.8 ล้านบาท โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นสถิติจากกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงทั่วกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2561
เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ผลที่ตามมาคือ อากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็น องค์ประกอบสำคัญที่สุดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะอากาศเกี่ยวพันกับทุกสิ่งรอบตัวสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายของมนุษย์เราเอง
แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เราสามารถทำได้
- เปลี่ยนมาใช้หลอดประหยัดพลังงาน โดยหลอดไฟประหยัดพลังงาน จะมีกำลังไฟฟ้าอยู่ระหว่าง 10-18 วัตต์ เท่านั้น
- ปิดสวิตช์ไฟทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งานแล้ว หรือลดการใช้ไฟบริเวณที่ไม่ได้ต้องการใช้แสงสว่าง
- เปิดม่าน หน้าต่าง รับแสงจากธรรมชาติมาใช้ในตอนกลางวัน ช่วยประหยัดไฟ และช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวกอีกด้วย
- จัดแยกสวิตช์ไฟเป็นส่วน ๆ ง่ายต่อการเปิด-ปิดเฉพาะจุด ไม่ควรติดตั้งสวิตช์แบบคุมทั้งห้อง
- หมั่นตรวจสอบการชำรุด รีบซ่อมแซมทันทีเมื่อพบความเสียหาย ป้องกันการสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น
คนละไม้ คนละมือ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยวิธีง่าย ๆ แค่ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้ เพียงแค่ 1 ชั่วโมงยังช่วยโลกได้มากขนาดนี้ ลองนึกดูว่า หากทุกคนทำแบบเดียวกัน และหากในหนึ่ง ๆ วัน ครัวเรือนแต่ละหลังสามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 1 ชั่วโมงไปอีก ถ้าจะบอกว่าผลลัพธ์ของมันคือจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นอีกเป็น สิบเท่า ก็คงจะไม่เกินจริงนัก เราทุกคนคือนักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โลกจะมีอากาศที่บริสุทธิ์ไม่ได้เลย หากขาดการร่วมมือจากใครคนใดคนหนึ่งไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
ความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทางเลือกของคนเมือง
3 ตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เหมาะกับเมืองใหญ่ ไร้พื้นที่
ทำความรู้จักกับพื้นที่สีเขียวที่ไม่ใช่สวนสาธารณะ อะไรบ้างที่เป็นปอดให้เราได้
มากที่สุด 7 เขตแรกที่มีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะมากที่สุดในกรุงเทพ