รูปบทความ กฎหมายพื้นฐานการกู้ยืมเงิน รู้ไว้ไม่ถูกเอาเปรียบ

กฎหมายพื้นฐานการกู้ยืมเงิน รู้ไว้ไม่ถูกเอาเปรียบ

เงินไม่พอใช้ เงินขาดมือ จำเป็นต้องใช้


การกู้ยืมจึงเป็นทางออกอย่างหนึ่งของคนร้อนเงิน แต่ด้วยความที่เงินขาดมือ จำเป็นต้องใช้ ก็อาจเสียรู้ผู้ให้กู้ยืมได้ ทำความเข้าใจและศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินก็จะช่วยได้ ทางเรา Estopolis จึงได้รวบรวมกฎหมายการกู้ยืมเงินที่ควรรู้มาไว้ที่บทความนี้



การกู้ยืมเงิน เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง มีคู่กรณีสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” และอีกฝ่ายเรียกว่า “ผู้กู้ยืม” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่


ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงิน ได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม มาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น ได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอน ลงในเอกสารนั้นแล้ว”


สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง หมายความว่า สัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคหนึ่ง "อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น"


ดังนั้น การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมทำสัญญาหรือข้อตกลงว่าจะชดใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ตามกฎหมายไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง "สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"



หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน



หลักฐานการกู้ยืมเงิน มี 2 กรณี คือ


1. กรณีจำนวนเงินกู้ยืมไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินต่อกัน แต่ถ้าผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องตามกฎหมายได้


2. กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมเงิน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันมิได้ หลักฐานการกู้ยืมเงินจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันเกิดขึ้น เป็นจำนวนเท่าใด และตกลงจะใช้คืนเมื่อใด สิ่งสำคัญจะขาดเสียไม่ได้ คือ ลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือชื่อจะต้องมีลายนิ้วมือ 2 คน เป็นพยานรับรอง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่


ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”


สรุปหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ว่าให้พิจารณา 4 อย่าง ต่อไปนี้


1. ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ

2. ผู้กู้ยืมเงินต้องลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น

3. หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ทำขึ้นเมื่อใด

4. การกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ยกขึ้นฟ้องหรือต่อสู้คดีไม่ได้ 



อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน



สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรม 2 ฝ่าย เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาตรงกันของคู่สัญญา แต่จะตกลงกันว่าคิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ ถ้าตกลงกันคิดดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงและวิธีการคิดดอกเบี้ยทบต้น ต้องไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และมาตรา 655


มาตรา 654 "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”


มาตรา 655 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ


ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่”


ในการคิดดอกเบี้ย มีปัญหาที่พบบ่อยๆ


1. ดอกเบี้ยที่กำหนดโดยกฎหมาย ในกรณีสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ (พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)


2. ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี” สรุปได้ว่า

             

2.1 ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือว่าเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เงินต้นสมบูรณ์ ก็คือไม่เป็นโมฆะ

2.2 ผู้กู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าแล้วนำไปรวมกับเงินต้นในสัญญากู้

2.3 ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไปแล้วจะเรียกคืนไม่ได้

2.4 ผู้ให้กู้ยังมีสิทธิในการเรียกดอกเบี้ยจากเหตุผิดนัดได้ด้วย


3. ดอกเบี้ยกรณีผู้ให้กู้เป็นสถาบันการเงิน


3.1 สัญญาระบุให้ผู้ให้กู้ปรับอัตราดอกเบี้ยได้

3.2 เมื่อเลิกสัญญาแล้ว ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

3.3 การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับจากการผิดนัด หรือไม่ ผู้กู้จะต้องพิจารณาให้ดี สอบถามให้เข้าใจ


4. ดอกเบี้ยทบต้น ตามมาตรา 655 วรรคหนึ่ง “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ”


กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ต้องสนใจคือ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ยกเลิก พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2560 เป็นต้นไป สาระสำคัญคือ กำหนดให้ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี (ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) ถ้าเรียกเกินมีผลให้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ และผู้ให้กู้อาจถูกดำเนินคดีอาญาได้ แต่ในกรณีในสัญญาไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าจะคิดเท่าใด เมื่อมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ผู้ให้กู้จะคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี



การแก้ไขหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน



หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในหลักฐานการกู้ยืม ขณะที่ยังทำเอกสารไม่เสร็จตามความประสงค์ของคู่กรณี ควรลงลายมือชื่อกำกับทุกครั้ง เพราะเมื่อไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ ก็อาจมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน ต้องพิสูจน์กันยาว และอาจเป็นคดีอาญาขึ้นโรงขึ้นศาลกันได้


ในกรณีที่หลักฐานการกู้ยืมเงินสมบูรณ์แล้ว แต่ภายหลังมีการกู้เงินเพิ่มเติม โดยไม่ทำหลักฐานการกู้ยืมขึ้นมาใหม่ แต่ไปขีดฆ่าจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมเงินเดิม แล้วเขียนจำนวนเงินเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่กู้ไปทั้งสองครั้งรวมกัน โดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ ถือว่าการกู้ยืมเงินเฉพาะครั้งแรกเท่านั้นที่มีหลักฐานการลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม ส่วนการกู้ยืมเงินครั้งหลังไม่มีหลักฐาน ส่งผลให้ผู้กู้รับผิดเฉพาะการกู้ยืมเงินครั้งแรกเท่านั้น ดังนั้นทางที่ดีการกู้ยืมเงินแต่ละครั้ง ต้องเขียนสัญญาใหม่ทุกครั้ง และห้ามลืมลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมโดยเด็ดขาด 



ข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน



1. ก่อนลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนที่ได้รับ และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วย ตรวจสอบให้ชัดเจน ละเอียด รอบคอบ เช่น 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)


2. สัญญาต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ ให้ผู้กู้ยืมเงิน 1 ฉบับ ผู้ให้กู้ 1 ฉบับ หรือจะให้พยานเก็บไว้ 1 ฉบับ ด้วยก็ได้


3. ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นพยานในสัญญา อย่างน้อย 1 คน (โดยทั่วไปมักจะใช้ 2 คน)


4. ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าโดยเด็ดขาด


5. การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมลงกำกับด้วยทุกครั้ง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระหนี้แล้ว

         

6. ปัญหาที่พบมากคือ เมื่อชำระครบแล้ว แต่ไม่ได้ขอสัญญากู้ยืมเงินคืนจากผู้ให้กู้ แต่ต่อมามีการฟ้องร้องก็อ้างว่าชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว


ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว หมายความว่า ถ้าไม่มีการบันทึกไว้ในสัญญากู้ยืมหรือทำบันทึกไว้ต่างหากว่าผู้กู้ชำระหนี้เงินกู้ ฉบับลงวันที่ใด จำนวนเท่าใด และได้ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ไว้ หรือสัญญากู้ยืมกลับมาอยู่กับผู้กู้เพราะได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว หรือมีการขีดฆ่าเพิกถอนในสัญญากู้ยืมฉบับแล้ว ก็จะนำมาอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้วไม่ได้ แต่ถ้าชำระหนี้ครบถ้วนแล้วโดยการชำระหนี้ด้วยเครื่องประดับ เช่น เพชร ทองคำ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ค ฯลฯ ก็สามารถนำสืบหักล้างว่ามีการชำระหนี้ครบถ้วนแล้วได้ ซึ่งก็ต้องมีพยานบุคคล พยานหลักฐานอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาให้เห็นชัดเจนจนเชื่อได้


ดังนั้น มื่อชำระหนี้ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ผู้กู้ยืมต้องขอสัญญากู้ยืมเงินคืนจากผู้ให้กู้ด้วย


7. ห้ามเอาโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส. 3) ไปให้ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ยึดไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินโดยเด็ดขาด 



การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ 10 ปี นับแต่ถึงวันกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน และถ้าในสัญญากู้ยืมตกลงไว้ว่า ให้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ก็ถือว่าเป็นกรณีคู่สัญญาได้ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ จะมีอายุความเพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ถ้ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นให้รีบติดต่อผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นมีคดีความฟ้องร้องกันก็ได้





บทความที่เกี่ยวข้อง


เทคนิคการกู้เงินซื้อคอนโดสำหรับมนุษย์เงินเดือน


3 วิธีหาเงินแต่งคอนโดแบบร้ายกาจ ประหยัดกว่ากู้สินเชื่อเพื่อการตกแต่ง


12 สิ่งที่ธนาคารไม่บอก เพื่อเตรียมตัวในการยื่นกู้สินเชื่อซื้อคอนโด


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์