จาก 'พ่อ' ถึง 'ลูก' : เรียนรู้วิถีการออมตามรอยพ่อ
18 October 2560
แนวพระราชดําริการออมเงิน จาก พระมหากษัตริย์นักออม
เมื่อนึกถึง 'พ่อ' แน่นอนว่า สร้างความอบอุ่นใจให้กับลูกได้เสมอ และเมื่อพูดถึง 'พ่อ' แน่นอนว่า มีต้นแบบนับล้านอย่างที่พ่อหยั่งรากและปลูกฝังไว้ให้ลูกทุกคนได้น้อมนำแนวพระราชดําริ เพื่อไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงเรื่องของการ 'ออมเงิน' ที่พ่อก็ยังเป็นต้นแบบของ พระมหากษัตริย์นักออม ที่ควรนำเป็นเยี่ยงอย่าง และดำเนินรอยตามเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต
ในวันนี้ Estopolis ของเราจึงถือโอกาสน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญและถือเป็นหลักการออมและบริหารเงิน ซึ่งมีประโยชน์สำหรับทุกครอบครัวและทุกวัย
แนวพระราชดําริการออมเงิน : รู้จักปลูกฝังนิสัยการออมเงินตั้งแต่เล็ก
พระมหากษัตริย์นักออมเงินนี้ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน เรื่องนี้จำเป็นต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เพื่อสร้างนิสัยรักการออม ซึ่งแนวทางและวิธีการสอนของสมเด็จย่านั้นเป็นประโยชน์และสามารถน้อมนำมาปฎิบัติได้จริง โดยเราได้แนวคิดนี้มาจาก หนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร” มีรายละเอียดที่สามารถดำเนินรอยตามได้ ดังนี้
จัดค่าขนมให้สัปดาห์ละครั้ง
แนวพระราชดําริการออมเงินนี้ จะช่วยสร้างให้เด็กรู้จักการบริหารเงินด้วยตนเอง รู้ว่าจะต้องเผื่อเงินไว้ใช้สำหรับวันต่อไปและไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ต่างจากการจัดค่าขนมให้รายวันที่เด็กจะรู้ว่า วันถัดไปก็ได้ใหม่ทำให้ใช้จ่ายเงินที่ได้มาจนหมด เพราะไม่จำเป็นต้องคิดวางแผนการใช้เงิน
สำหรับผู้ใหญ่เองก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และจัดสรรปันส่วนของเงินเดือนให้ชัดเจน โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน คือ เงินออม หนี้สินและรายจ่ายส่วนตัว (อ่านวิธีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ได้ที่ วิธีเก็บเงินซื้อคอนโด ที่ เด็กจบใหม่ทำตามได้สบาย)
เก็บออมเงินเพื่อของที่อยากได้
พระมหากษัตริย์นักออมเงินครั้งยังทรงพระเยาว์ รู้จักการเก็บหอมรอมริบเงินค่าขนมไว้ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อของเล่นที่อยากได้ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ของเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน แต่การจะซื้อทุกอย่างให้ลูกน้อยดูจะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับลูก เพราะทุกอย่างที่ได้มาง่ายเกินไปนั้น เรามักจะมองไม่เห็นคุณค่ามากเท่ากับของที่เราต้องใช้เวลาและความอดทนในการแลกมาด้วยตนเอง
ผ่อนปรนด้วยการใช้ของขวัญพิเศษ
คำว่าพิเศษก็ควรได้มาเฉพาะในวันพิเศษเท่านั้น การมอบของขวัญให้กับเด็กๆ เฉพาะวันสำคัญนั้นเพื่อเป็นการฝึกนความอดทน ให้เด็กรู้จักรอคอยและให้คุณค่ากับสิ่งของที่ได้รับ ส่วนผู้ใหญ่เองก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ด้วยการปรับระบบความคิดด้านการจับจ่ายใช้สอยเสียใหม่ 'ให้รางวัลตัวเอง' เฉพาะวันพิเศษ เพื่อการออมและเป็นการจำกัดการใช้เงินไปกับของไม่มีประโยชนน์ด้วยตนเอง
แนวพระราชดําริการออมเงิน : รู้จักการออมเงินอย่างชาญฉลาด
การออมเงินด้วยบัญชีเงินฝาก
“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘
พระมหากษัตริย์นักออมเงินตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเก็บออมเงินไว้กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ตามคำสอนของสมเด็จย่าผ่านสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสินส่วนพระองค์ ซึ่งมีเงินฝากเข้าเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งเราควรน้อมนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเอง (อ่านบาทความเกี่ยวกับบัญชีเงินฝาก ได้ที่ ทำความรู้จักกับประเภทของบัญชีเงินฝากแบบต่างๆ)
ชีีวิตดีถ้าไม่มีหนี้
"...มีเงินเดือนเท่าไหร่จะต้องใช้ภายในเงินเดือน...กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สําหรับ ไปเล่น ไปทําอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”
พระราชดํารัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
แน่นอนว่า นอกจากการออมเงินที่ควรจะกระทำจนเป็นนิสัยแล้ว ก็ควร ลด ละ เลิกการสร้างหนี้ที่เกินตัว อย่างเช่น การใช้บัตรกดเงินสด เงินกู้นอกระบบ การใช้บัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นการนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต หรือไม่ก็ควรศึกษาวิธีการใช้งานให้เกิดประโยชน์มากกว่าสร้างโทษให้กับตัวเอง (ศึกษาการช้บัตรเครดิตได้ที่ รู้ทันบัตรเครดิต ใช้อย่างไรให้มีแต่ได้กับได้ ไม่เสียประโยชน์)
พอเพียงก็เพียงพอ
“...การประหยัด เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ... ขอให้คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการประหยัดนี้ให้มาก... การประหยัดนี้ ควบคู่ไปกับหลักการพออยู่ พอกิน พอใช้ จึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตนตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้...”
พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่ทฤษฎีสวยหรูเท่านั้น แต่พระองค์ทรงยึดหลักปรัชญานี้ในการดำเนินชีวิตหลายๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น การเลือกของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือเป็นแบรนด์เนม, ของใช้เก่าที่คนทั่วไปอาจทิ้ง แต่พระองค์ท่านกลับทรงนำมาซ่อมเพื่อใช้งานต่อ เป็นต้น สมกับเป็นพระมหากษัตริย์นักออมที่สอนให้ลูกๆ คนไทยรู้จักประหยัด และใช้ของให้คุ้มค่ามากที่สุด
ความจริงแล้วสิ่งดีๆ ที่ 'พ่อ' สอนไว้เกี่ยวกับการออมเงินยังมีอีกมาก เพราะท่านเป็นพระมหากษัตริย์นักออม ที่ทรงมีแนวพระราชดําริการออมเงินเป็นแบบอย่างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผลของการออมก็ไม่ได้ออกผลเป็นเพียงเม็ดเงินเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงความสุขที่พ่อได้ทำให้ลูกทั้งประเทศอยู่ดี กินดี ได้ด้วยตัวเอง
บทความเกี่ยวกับ 'พ่อ'
ชม 9 นิทรรศการน้อมรำลึกถึง 'พ่อหลวง' รัชกาลที่ 9