แต่งคอนโดฯ ด้วย 4 เทรนด์การออกแบบ ให้เข้ากับ Lifestyle คนรุ่นใหม่
27 March 2562
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการพักอาศัยในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่บ้านหลังใหญ่อีกต่อไป คอนโดฯ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำหน้าที่ตอบโจทย์ Lifestyle การใช้ชีวิตแบบใหม่ เน้นการผสมผสานฟังก์ชันที่สามารถสอดรับกับพฤติกรรมการใช้งานได้จริง เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไปของคนรุ่นใหม่
วันนี้ Esto ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก IKEA ประเทศไทย ที่ได้ทำการเก็บสถิติและวิเคราะห์ถึงปัจจัยของครอบครัวคนไทยในยุค 4.0 ที่อินเตอร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งได้ทั้งหมด 4 ธีมด้วย จะมีอะไรน่าสนใจตามเข้ามาชมพร้อมๆกันได้เลยครับ
จัดสรรพื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัว
มาเริ่มกันที่ธีมแรกอย่าง “การจัดสรรพื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัว” (Organize your living) ที่เน้นการใช้งานภายในพื้นที่ส่วนกลางของห้องพักเป็นส่วนใหญ่ แบ่งออกเป็นห้องนั่งเล่น (Living Area) และห้องรับประทานอาหาร (Dining Area) ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่เรียกว่า Common Area หรือพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันมากที่สุด
แน่นอนว่านอกจากใช้ห้องนั่งเล่น (Living Area) เป็นที่ดูหนัง นั่งอ่านหนังสือ และใช้ต้อนรับแขกแล้ว บริเวณนี้ถือว่าเป็นส่วนกลางที่ทุกคนจะได้พบปะใช้ทำกิจกรรมรวมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในช่วงวันหยุด หรือหลังเลิกงาน ซึ่งทริคการออกแบบให้สามารถใช้งานได้อย่างลงตัวแบ่งได้ 3 วิธีง่ายๆ
การออกแบบพื้นที่
สำหรับการเลือกออกแบบภายในห้องนั่งเล่น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมาย เพียงแค่เลือกจัดวางระยะของเฟอร์นิเจอร์อย่างพอเหมาะ โดยเว้นทางเดินให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งาน ให้สามารถเชื่อมโยงการใช้งานกับพื้นที่ส่วนอื่นได้ เช่น พื้นที่รับประทานอาหารหรือห้องครัว นอกจากนั้นควรให้พื้นที่ภายในมีความสว่าง อาจเลือกเปิดหน้าต่างบานส่วนเพื่อรับแสงและระบายอากาศ หรือเลือกตกแต่งด้วยโคมไฟเพื่อเพิ่มมิติให้กับพื้นที่
การสร้างจุดสนใจ
การใช้ภาพวาดศิลปะติดบริเวณผนัง หรือเลือกทาสีหรือลวดลายที่น่าสนใจ จะช่วยสร้างจุดเด่นให้กับพื้นที่ รวมถึงสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปทรงแปลกตา เพื่อสร้างความแปลกใหม่
การปรับเปลี่ยนฟังก์ชัน
โดยทั่วไปของห้องนั่งเล่นถูกใช้สำหรับพักผ่อนและพบปะสังสรรค์ภายในครอบครัว การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์จึงมีความสำคัญ การเลือกเฟอร์นิเจอร์ต้องได้มาตรฐาน มีขนาดไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป เพื่อความปลอดภัยป้องกันในเรื่องของอุบัติเหตุ รวมถึงวัสดุของเฟอร์นิเจอร์ต้องรองรับการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดความระคายต่อผิวหนังของเด็กหรือผู้สูงอายุ
ส่วนใหญ่ห้องพักภายในคอนโดฯ จะเลือกจัดมุมรับประทานอาหาร (Dining Area) ให้อยู่ในส่วนเดียวกับห้องนั่งเล่น หรือให้มีพื้นที่เชื่อมโยงถึงกัน เนื่องจากภายในมีพื้นที่จำกัด การนำ 2 ส่วนนี้เข้ามาไว้ด้วยกันเป็นการสร้างพื้นที่แบบ All Space Common Area (ส่วนกลางแบบเต็มพื้นที่) เพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยสามารถเลือกจัดพื้นที่ได้ 2 รูปแบบ
การสร้างความเป็นส่วนตัว
สำหรับครอบครัวไหนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและมีจำนวนสมาชิกไม่เยอะ สามารถสร้าง Partition (ผนัง) กั้นระหว่างพื้นที่ได้ อาจเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป เช่น ชั้นวางหนังสือ หรือตู้เก็บของ นอกจากสวยงามแล้วยังเป็นการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานไปในตัว
การเชื่อมต่อพื้นที่ใช้งาน
ในกรณีที่มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 4 คนขึ้นไป การเลือกวางโต๊ะรับประทานอาหารแบบ 4-6 ที่นั่ง และเว้นระยะบริเวณส่วนรับประทานอาหารให้เชื่อมต่อกับส่วนของห้องนั่งเล่น โดยใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างโซฟาเป็นตัวแบ่งพื้นที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
จัดสรรภายในพื้นที่จำกัด
ลดขนาดสเกลลงมาอีกสักหน่อยกับธีมที่ 2 ในการเลือก “จัดสรรภายในพื้นที่จำกัด” (Small space living) ภายในห้องนอน (Bedroom) และพื้นที่ทำงาน (Work Space) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนเป็นพื้นที่เฉพาะและต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ดังนั้นรูปแบบภายในต้องมีการออกแบบอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครัน
ห้องนอน (Bedroom) จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้งานมากและนานที่สุดกว่าห้องอื่น การเลือกออกแบบพื้นที่ให้มีความเหมาะสมต่อผู้ใช้งานถือเป็นสิ่งสำคัญ และยังสามารถเพิ่มเติมฟังก์ชันการใช้งานอย่างเช่นการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเหมาะสมกับตัวห้อง หรือการตกแต่งความสว่างเพื่อความผ่อนคลายในการพักผ่อน มีเทคนิคหลักด้วยกัน 3 วิธี
การแบ่งสัดส่วน
ให้นึกภาพตามง่ายๆ พื้นที่ห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยม 100% สัดส่วนของพื้นที่พักผ่อนจะอยู่ที่ 70% โดยสามารถเลือกวางเตียงนอนในขนาดที่พอเหมาะ รวมไปถึงเซ็ตเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะข้างเตียงเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ส่วน 30% ที่เหลือจะถูกแบ่งเป็นฟังก์ชันเสริมอื่นๆ เช่น มุมทำงาน พื้นที่แต่งตัว เป็นต้น
การจัดแสง
ถือว่ามีบทบาทในการเพิ่มมิติให้ห้องนอนได้มาก ส่วนมากนิยมเลือกใช้ไฟประดิษฐ์ในการสร้างบรรยากาศ ค่ากำลังวัตต์ของไฟต้องไม่สูงและไม่น้อยจนเกินไป ค่าไฟที่ได้ต้องมีความพอดีในลักษณะของ Warm White (ไฟสีส้มอ่อน) ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมาะแก่การพักผ่อน และนอกจากนั้นแสงสว่างจากธรรมชาติจากหน้าต่างและช่องแสง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ภายในสดใส และช่วยความลดการอับชื้นภายในห้องนอน
การตกแต่ง
สำหรับการตกแต่งเพื่อให้เกิดมิติความสวยงามแบ่งได้ 3 ส่วนด้วยกัน
- พื้น ควรเลือกปูวัสดุที่มีความแข็งแรง ให้ผิวสัมผัสสวยงาม และช่วยในเรื่องของความปลอดภัยในการเดิน วัสดุที่นิยมถูกเลือกใช้งานมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ไม้จริง, ไม้เทียม, กระเบื้องเซรามิก และหินอ่อน
- ผนัง สามารถเลือกตกแต่งได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการทาสี หรือกรุวัสดุปิดผนัง โดยสีที่เลือกใช้ได้แก่สีเบสโทน สีอ่อนที่จะช่วยสร้างความผ่อนคลาย วัสดุปิดผิวเลือกใช้วอลล์เปเปอร์แบบเรียบ
- เพดาน การออกแบบฝ้าเพดานโดยใช้สีสัน-ลวดลาย ไม่เหมาะกับภายในห้องนอน เนื่องจากจะเป็นการรบกวนทางสายตา ตามหลักจิตวิทยาจะทำให้นอนหลับยาก โดยทั่วไปจะเลือกออกแบบให้เรียบเนียน ทาด้วยใช้สีพื้นเช่น ขาว, เทา
ร้อยทั้งร้อย หนึ่งครอบครัวต้องมีมุมส่วนตัวในการทำงาน (Work Space) เพื่อไม่ให้ปะปนกับส่วนอื่น การออกแบบพื้นที่ไม่ให้อึดอัดบวกกับให้ได้ฟังก์ชันการใช้งานที่ลงตัวค่อนข้างสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ควรยึดในการออกแบบภายในห้องนี้ มี 2 เทคนิคด้วยกัน
การถ่ายเทอากาศและความสว่าง
การเลือกจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ในมุมที่สามารถรับแสงสว่างได้พอดี ซึ่งแสงจากธรรมชาติที่ดีที่สุดจะอยู่ทางด้านทิศเหนือ รวมถึงการระบายอากาศด้วยการเลือกเปิดหน้าต่างในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายใน รวมถึงการนำเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่จำเป็นออกจะช่วยให้ห้องปลอดโปร่งขึ้น
การจัดฟังก์ชันเสริมเพื่อการใช้งาน
ฟังก์ชันการใช้งานสำหรับพื้นที่ต้องมีความสอดคล้องกับรูปแบบห้อง การเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้ได้ขนาดที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ โต๊ะ-เก้าอี้ทำงานต้องทำหน้าที่ซัพพอร์ตร่างกายของผู้ใช้งาน เพื่อลดอาการปวดเมื่อยตามหลักสรีรศาสตร์ บวกกับชั้นวางของต้องมีขนาดที่พอเหมาะไม่สูงจนเกินไป ในเรื่องของการจัดวางควรแบ่งแยกออกจากกัน เพื่อลดปัญหาการหาสิ่งของที่ปนกันระหว่างการใช้งาน
จัดสรรพื้นที่เพื่อความยั่งยืน
ธีมที่ 3 อย่างการเลือก “จัดสรรพื้นที่เพื่อความยั่งยืน” (Sustainability) เป็นรูปแบบที่ถูกเก็บสถิติจากครอบครัวคนไทย ว่าการออกแบบในส่วนนี้สามารถเติมเต็มความสุขได้ โดยพื้นที่การใช้งานจะอยู่ที่ ห้องครัว (Kitchen) และห้องแต่งตัว (Walk-in Closet) เนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่ มีรูปแบบการใช้งานที่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากมีฟังก์ชันเฉพาะตัว ดังนั้นการจัดสรรพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้ในระยะยาว ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ
ห้องครัว (Kitchen) ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะทำให้ทุกคนได้มีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร หรือนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน การออกแบบพื้นที่ในส่วนนี้จึงมีความพิถีพิถันในเรื่องของขนาดและระยะการใช้งาน เพื่อความสะดวกและไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้งาน
รูปแบบชุดครัว
สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบหลัก I-Shape, L-Shape, U-Shape, Parallel (วางชุดครัวแบบขนาน) ซึ่งรูปแบบครัวทั้งหมดสามารถเลือกวางได้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นการเลือกตกแต่งชุดครัวสามารถทำได้ทั้ง Built-in Furniture และเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
การจัดวางแผนผัง
ต้องคำนึงถึงรูปแบบของชุดครัวและระยะการใช้งานเป็นหลักโดยสามารถแบ่งได้ 4 ส่วนหลัก
- อุปกรณ์ การเลือกจัดวางอุปกรณ์ เช่น เตา, อ่างล้างและตู้เย็น ควรวางให้อยู่ในระยะการใช้งานที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้สะดวก เพื่อความคล่องตัวขณะประกอบอาหาร
- เคาน์เตอร์ ความสูงโดยทั่วไปอยู่ที่ 80-90 ซม. หากเลือกวางอ่างล้างควรเพิ่มให้สูงกว่านั้นอีก 3 นิ้ว และควรเว้นช่องว่างข้างเตาสำหรับวางจาน-ชาม และเครื่องประกอบอาหาร
- ตู้เก็บของและภาชนะ การจัดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันควรอยู่ใกล้กัน เช่น จานควรอยู่ใกล้อ่างล้าง หรือกระทะกับหม้อควรอยู่ใกล้เตา เพื่อความสะดวกและการใช้งานและเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อย
- ปลั๊กไฟ ควรมีที่เสียบปลั๊กอย่างน้อย 2 ตำแหน่ง คือบริเวณเตาไฟฟ้าและบริเวณที่วางตู้เย็น ซึ่งต้องมีการคำนวณระยะของการใช้งาน เพื่อปลอดภัยในการใช้งาน
อีกหนึ่งพื้นที่อย่างห้องแต่งตัว (Walk-in Closet) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ยิ่งภายในคอนโดด้วยแล้ว ก็มีห้องแต่งตัวถือเป็นการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานออกจากส่วนอื่นๆ ในส่วนของการออกแบบสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก เพื่อการใช้งานได้อย่างยาวนานและตรงจุด
รูปแบบการจัดวาง
สามารถเลือกจัดวางได้ 3 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งขนาดความลึกของตู้เสื้อผ้าแต่ละประเภท จะมีขนาดมาตรฐานเหมือนกันหมด โดยความลึกอยู่ที่ 60-80 ซม. ส่วนราวแขวนสูงอยู่ที่ 1.20 เมตร ส่วนระยะความกว้างขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่นั้นๆ
- I-Shape การจัดวางแบบรูปตัวไป นิยมกับห้องแต่งตัวที่มีขนาดเล็ก โดยเน้นเลือกเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว เพื่อความสะดวกและประหยัดเนื้อที่
- L-Shape การจัดวางในรูปบตัวแอลแบบเข้ามุมผนัง มักถูกเลือกใช้งานในห้องที่มีขนาดกลาง สามารถเลือกตู้เสื้อผ้าแบบ Built-in หรือลอยตัวได้ตามความเหมาะสม
- U-Shape การจัดวางแบบรูปตัวยูหรือเต็มพื้นที่ ส่วนมากจะถูกใช้งานในห้องแต่งตัวที่มีขนาดใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ส่วนมากจะเป็นการ Buit-in เข้ากับผนัง ซึ่งสามารถเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานอย่างโต๊ะเครื่องแป้ง และเคาน์เตอร์กลางสำหรับเก็บสิ่งของ
ฟังก์ชันที่มากกว่าแขวนเสื้อผ้า
นอกจากความเหมาะสมของขนาดตู้เสื้อผ้าและระยะการใช้งานภายในพื้นที่แล้ว ยังสามารถเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานในส่วนอื่นเข้าไปได้
- เสริมด้วยเคาน์เตอร์ จะช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ แต่ควรเว้นระยะทางเดินไว้ฝั่งละ 80 ซม. เพื่อความสะดวกในการสัญจร
- ช่องใส่เครื่องประดับ สามารถจัดวางไว้บริเวณชั้นใดชั้นหนึ่งของตู้เสื้อผ้า หรือจะเลือกวางไว้ในลิ้นชักเสริมของเคาน์เตอร์กลาง
- พื้นที่สำหรับวางรองเท้า โดยทั่วไปฟังก์ชันนี้จะถูกเสริมอยู่ชั้นล่างของตู้เสื้อผ้าตู้ใดตู้หนึ่ง โดยมีความกว้างเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 นิ้ว และความสูง 9-17 นิ้วโดยประมาณ
จัดสรรพื้นที่สำหรับเด็ก
เดินทางมาถึงธีมสุดท้ายอย่างการ “จัดสรรพื้นที่สำหรับเด็ก” (Living with children) สิ่งที่ควรยึดไว้เป็นอันดับแรกคือความปลอดภัย ตามมาด้วยความสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา โดยสามารถแบ่งพื้นที่การได้ 2 ส่วนคือ ห้องสำหรับเด็ก (Kid Room) และห้องน้ำ (Bathroom)
Kid room (ห้องสำหรับเด็ก) เป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับเด็ก โดยสามารถเลือกแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งภายในห้อง เพื่อจัดฟังก์ชันให้เหมาะต่อการใช้งาน อาจเลือกในส่วนของห้องนั่งเล่น กั้นพื้นที่ด้วยผนังมวลเบาเพื่อแบ่งแยกการใช้งานระหว่างพื้นที่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ให้ชัดเจน
จัดฟังก์ชันเสริมพัฒนาการ
เป็นการดีไซน์แบบผสมผสานระหว่างฟังก์ชันใช้งาน กับรูปแบบทางศิลปะ เช่น การออกแบบมุมหนังสือ การดีไซน์ชั้นวางให้มีขนาดเหมาะสม ใช้งานง่าย ลบเหลี่ยมมุมบริเวณขอบและเลือกขัดวัสดุให้เรียบเนียน พร้อมกับเคลือบผิวเพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก
เลือกใช้สีช่วยพัฒนาทางอารมณ์
สีเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่จะเสริมสร้างพัฒนาการและจินตนาการ การเลือกทาสีควรใช้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความสมูท ยกตัวอย่างการเลือกทาสีบริเวณผนัง ควรเน้นสีคู่ตรงข้าม เช่น แดง-ฟ้า โดยใช้เทคนิคการ 60:30:10 แบ่งเป็น สีแดง 60 (สีหลัก) และสีฟ้า 30 (สีรอง) และสีอื่นๆอีก 10 (สีไฮไลท์)
เฟอร์นิเจอร์และวัสดุที่ได้มาตรฐาน
แน่นอนว่าความปลอดภัยสำหรับการออกแบบต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง การเลือกเฟอร์นิเจอร์และวัสดุที่ได้มาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- วัสดุปูพื้น ต้องรองรับพฤติกรรมของเด็กเช่น การคลาน, การเดิน, กระโดด วัสดุที่ช่วยได้ดีคือ แผ่นยางหรือกระเบื้องยาง เพราะมีความยืดหยุ่นและรับน้ำหนักได้ดี
- วัสดุผนัง การทาสีและเลือกติดวอลล์เปเปอร์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก บวกกับมีสีสันลวดลายให้เหลือใช้งานหลากหลาย
- เฟอร์นิเจอร์ การเลือกเฟอร์นิเจอร์ในห้องเด็ก ควรเน้นไปที่ขนาดที่เหมาะสม และไม่เคลือบสารที่ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังสำหรับเด็ก
พื้นที่เล็กๆ แต่ความสำคัญไม่เล็กตามกับห้องน้ำสำหรับเด็ก (Bathroom) เพราะสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการเลือกจัดพื้นที่ภายในต้องมีความเหมาะสม วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ต้องมีความปลอดภัยละถูกต้องตามสรีระร่างกายของเด็ก
การจัดสัดส่วนและสุขภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย
ระยะที่เหมาะสมในการใช้งานสำหรับเด็กไม่ต่างจากผู้ใหญ่เท่าไหร่นัก แต่จะต่างกันที่รูปแบบของขนาดและลักษณะของสุขภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นการจัดวางต้องคำนึงถึงการติดตั้งมีราวจับทุกมุมของผนัง ตามหลัก Universal Design (การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม) และนอกจากนั้นภายในห้องน้ำต้องสุขภัณฑ์อย่าง อ่างล้างมือ, โถสุขภัณฑ์, อ่างอาบน้ำ
ขนาดและการใช้งาน
- สุขภัณฑ์ควรสูงจากพื้นถึงฝาสุขภัณฑ์ประมาณ 30 ซม.
- อ่างล้างหน้าต้องสูงจากพื้นประมาณ 50 ซม.
- ขนาดของห้องน้ำต้องไม่น้อยกว่าที่มาตรฐานหรือกฎหมายกำหนด
- ควรหลีกเลี่ยงวัสดุปูพื้นที่มีความมันเงา เพราะจะก่อให้เกิดการลื่นล้มได้
ไอเดียการจัดสรรพื้นที่ทั้ง 4 ธีม ที่พวกเรานำมาแชร์กันวันนี้ เป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม การเลือกปรับให้เหมาะตาม Lifestyle ของแต่ละครอบครัวสามารถเลือกทำได้ด้วยการมองถึงปัจจัยแวดล้อมเข้ามาประกอบ
หากเพื่อนๆกำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์ในการตกแต่งห้องพักให้สวยงามอยู่ละก็ สามารถแวะเข้าไปเลือกซื้อเลือกหาสินค้าได้ที่ IKEA ส่วนใครที่ต้องการ Inspiration สำหรับตกแต่งคอนโดใหม่ๆ สามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ Estopolis ของเราได้เลยครับ
Credit : IKEA, interiordefine, shutterfly, homepolish, bridgehomes, freshmommyblog, elledecor, The Best Designs, rumahhokie, archcitygranit, amara, residencestyle, housely, stayathomemum, nematzz.blogspot