รูปบทความ เปิดไทม์ไลน์สยามสแควร์ อดีต ปัจจุบัน อนาคต

เปิดไทม์ไลน์สยามสแควร์ อดีต ปัจจุบัน อนาคต

พื้นที่ทั้งหมดของ ‘สยามสแควร์’ หรือแต่เดิมคือ “ปทุมวันสแควร์” เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพระราชทานจํานวน 1,903 ไร่ ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นชุมชนแออัด ฝ่ายดูแลผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย (สํานักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2518) จึงได้มอบหมายให้บริษัท เซ้าท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จํากัด (ปัจจุบันคือบริษัท ซีคอนโฮม จำกัด) เป็นผู้รับช่วงต่อในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสยามสแควร์กว้างประมาณ 63 ไร่ครึ่งนี้




‘โรงภาพยนตร์’ แม่เหล็กดึงดูดคนทุกสมัย


โดยก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้นครึ่ง ขนาด 4 x 14 เมตร จํานวน 596 คูหา บริเวณชั้นล่างเป็นพื้นที่ขายของ ส่วนชั้นบนจะออกแบบเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมมีการวางผังอาคาร, ถนน, ที่จอดรถ, ระบบสาธารณูปโภค และอาคารขนาดใหญ่อันประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 3 โรง, โรงโบว์ลิ่ง และธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร, ร้านหนังสือ, ร้านเสื้อผ้า และร้านตัดผม โดยจุดเด่นหลัก ๆ ของสยามสแควร์จะอยู่ที่โรงหนัง 3 โรง ได้แก่ สยาม, ลิโด และสกาลานั่นเอง



ที่มา: Pantip: อยู่ห้องสยาม รู้จักสยามในสมัยก่อนกันใหมครับ (ภาพร่วม 40 ปี ที่ชัดมากๆ)

หากขยับมาฝั่งตรงข้ามสยามสแควร์ ในยุคนั้นจะเป็นโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่ปัจจุบันถูกทุบทิ้ง และสร้างเป็นสยามพารากอนแทน และต่อมาในปีพ.ศ. 2516 บริษัท สยามอินเตอร์คอนติเนนตัลโฮเต็ลส จํากัดก็ได้เช่าที่ดินประมาณ 40 ไร่จากวังสระปทุม เพื่อสร้างเป็น ‘ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์’ อีกด้วย


สำหรับธุรกิจธนาคารก็นับเป็นการพัฒนาที่ดินแห่งที่ 2 ของย่านสยามสแควร์ อย่าง ธนาคารกรุงเทพเองก็ได้เข้ามาขอเช่าพื้นที่ และลงทุนปลูกสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงานสูง 5 ชั้น ทําการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2519 พอเข้าปี พ.ศ. 2527 ก็ได้ทำการรื้อโรงโบว์ลิ่งออก แล้วสร้างเป็น ‘โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์’ แทนด้วย



ที่มา: Facebook Page Aroipranakorn, 2013


2534 : เมื่อสยามสแควร์เข้าสู่ ‘ยุคของสถาบันกวดวิชา’

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 เป็นต้นมา สยามสแควร์ก็เริ่มอยู่จับจองพื้นที่ด้วยโรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ ซึ่งมีผลมาจากเป็นทำเลที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษา, โรงเรียน และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนกลายเป็นศูนย์รวมแหล่งกวดวิชาอันดับหนึ่งของประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นว่า บางครั้งการศึกษาหาความรู้ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอแล้วสําหรับเด็กยุคนี้


2539 : สยามสแควร์เข้าสู่ช่วงซบเซา

จริง ๆ แล้วสยามสแควร์ก็เคยอยู่ในช่วงวิกฤตเหมือนกัน อย่างในปีพ.ศ. 2539 ที่สภาพเศรษฐกิจไทยมีสภาวะตกต่ำ จากการเป็นหนี้ของไอเอ็มเอฟ ประกอบกับมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า BTS ช่วงนั้นพอดี ทำให้การจราจรติดขัด เกิดความลําบากในการเดินทาง จึงถูกห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ ดึงดูดความสนใจไปนั่นเอง


2542 - 2543 : ยุคฟื้นคืนสยามแสควร์ เดินหน้าสู่ศูนย์กลางเมือง

ต่อมาทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องเร่งหาวิธี ทําให้สยามสแควร์กลับมาได้รับความนิยมเหมือนเดิม ด้วยการชูสยามสแควร์เป็นศูนย์กลางของความทันสมัย โดยมีนโยบายปรับปรุงพื้นที่ และยกเลิกที่จอดรถบริเวณด้านหลังโรงภาพยนตร์ลิโดให้ไปอยู่ที่อาคารวิทยกิตติ์แทน แล้วจัดประมูลให้บริษัทภายนอกเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ เกิดเป็น ‘เซ็นเตอร์พ้อยท์’ จัดเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่เปิดให้มีกิจกรรมทางสังคมหลากหลายที่สุดในย่านนี้ ณ ขณะนั้น



และหลังจากเปิดตัวเซ็นเตอร์พ้อยท์ไปได้เพียง 1 ปี ที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่พักผ่อนของวัยรุ่น และยังเป็นจุดศูนย์กลางของความทันสมัยที่มีชื่อเสียงมาก


2542 : ต้อนรับการเข้ามาของ BTS ที่พกความเจริญมาเต็มขบวน

ในขณะเดียวกัน รถไฟฟ้า BTS ซึ่งถือเป็นระบบขนส่งที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น ก็ได้แล้วเสร็จในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ส่งผลให้การเดินทางของสยามสแควร์สะดวกสบายยิ่งขึ้น และกลายเป็นจุดดึงดูดผู้คนให้เข้ามาสู่ย่านนี้อย่างต่อเนื่อง


เนื่องจาก ‘รถไฟฟ้า สถานีสยาม’ ทำหน้าที่เป็นชานชาลากลางสำหรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างสายสุขุมวิทกับสายสีลม ย่านนี้จึงเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางในการเดินทางของผู้คนจำนวนมาก หลังจากนั้น ย่านสยามสแควร์บนที่ดินขนาด 1,153 ไร่ ก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของความทันสมัยอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการศึกษา 637 ไร่, เขตพาณิชย์ 385 ไร่ และพื้นที่ส่วนราชการในรูปแบบการเช่าอีกจำนวน 131 ไร่ ในสัดส่วน 55.25% 33.39% และ 11.36% ตามลำดับ


  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ
  • Siam Square One ศูนย์การค้าพื้นที่ส่วนกลาง ทางเดินลานกิจกรรม และโรงละคร
  • สยามกิตติ์ อาคารรวบรวมโรงเรียนกวดวิชา ร้านอาหาร และร้านค้า
  • Center Point ศูนย์การค้า ด้านแฟชั่นและความงาม
  • MBK Center ศูนย์การค้าในรูปแบบตลาดนัดติดแอร์ที่มีร้านค้ารายย่อยและแบรนด์
  • โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพฯ สยามสแควร์ โรงแรมระดับ 4 ดาว
  • จามจุรีสแควร์ อาคารที่ประกอบด้วยโซนศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และอาคารที่พักอาศัย
  • Stadium One ศูนย์รวมร้านค้าปลีกด้านกีฬาและแอคทีฟไลฟ์สไตล์ ที่มีทั้งธุรกิจด้านกีฬา ฟิตเนสเซ็นเตอร์ และลานจัดกิจกรรมด้านกีฬา


แนวโน้มสยามสแควร์ในอนาคต



แม้สยามสแควร์ในปัจจุบันจะมีความครบเครื่องมากแค่ไหน แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงเจ้าของพื้นที่อย่าง สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงต้องมีแผนโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนี้


โครงการ Lido Connect

การพัฒนาโรงหนังลิโดเดิมให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนรักดนตรี, แหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม, นวัตกรรม, ความคิดสร้างสรรค์ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยจะเปิดให้เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออก ที่ใคร ๆ ก็สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด


SIAM SCAPE (BLOCK H)

โครงการรูปแบบผสมผสาน ประกอบไปด้วย ศูนย์รวมการเรียนรู้ (Learning Space) ที่จะดึงสถาบันติวเข้ามา และจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) , อาคารสำนักงานสมัยใหม่, พื้นที่ร้านค้าปลีก พร้อมอาคารจอดรถติดถนนพญาไทที่รองรับรถได้กว่า 700 คัน พร้อมปรับให้สยามสแควร์เป็นถนนคนเดิน หรือ Walking & Shopping Street เต็มรูปแบบ ซึ่ง SIAM SCAPE นี้มีแผนจะเปิดให้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2563 ที่จะถึง


โครงการพัฒนา Block 33

โครงการรูปแบบผสมผสานภายใต้แนวคิด “Residential & Wellness” เป็นที่อยู่อาศัยติดอุทยาน 100 ปี โดยจุฬาฯ ต้องการให้เป็นศูนย์รวมการแพทย์ชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Centre & Medical Hub) นั่นเอง


โครงการพัฒนา Block 34

พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต หรือ Futurium & Exhibition Center ซึ่งมีแนวคิดต้องการพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมงานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นดี (Innovation Experience) รวมถึงใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงานด้านนวัตกรรม จากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมุ่งเน้นให้เป็นแลนมาร์คใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ


Smart City

โครงการพัฒนาพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน โดยใช้ 5 แนวคิดที่นำเทคโนโลยี ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ, ระบบขนส่ง และการบริหารจัดการเมืองที่ช่วยลดการก่อมลภาวะ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ คือ Smart Energy, Smart Mobility, Smart Community, Smart Security และ Smart Environment


นอกจากนี้ ย่านสยามสแควร์นี้ยังจะได้รับการปรับภูมิทัศน์ นำสายสื่อสารและสายไฟทั้งหมดลงดินภายในปี 2562 และร้านอาคารพาณิชย์เองก็ให้ความร่วมมือ ปรับตกแต่งหน้าร้านให้สวยงาม เพื่อให้ย่านสยามสแควร์น่าเดินยิ่งขึ้นด้วย


จากโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน บวกกับจำนวนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 35,837 คน และสถิติจำนวนคนเดินในสยามสแควร์อีก 20,000 คนในวันธรรมดา และ 50,000 คนในวันหยุด ทำให้สยามสแควร์เติบโตและเจริญขึ้นได้อีกมาก นี่ยังไม่รวมประชากรในพื้นที่ที่ไม่ต่ำกว่า 200,000 คนต่อวัน และสถิติผู้ใช้สถานี BTS สยามที่มียอดสูงที่สุดถึง 148,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งการันตีได้เป็นอย่างดี ว่าทำเลนี้จะมีศักยภาพดึงดูดนักลงทุน และเศรษฐกิจทั้งหลายให้เติบโดได้อีกต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

  • นายภูวิช ใช่ภู่พิรัตน์, “สยามสแควร์ : ความสืบเนื่องของความทันสมัยตลอด 40 ปี.

     รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคลหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาคมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.

  • WP. (2561). เปิดแผนพัฒนา “ที่ดินจุฬาฯ” จากสยามสแควร์ ถึงสามย่าน 385 ไร่

     สร้างเมืองนวัตกรรม-การเรียนรู้. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์:      https://www.marketingoops.com/news/biz-news/chulalongkorn-university-property-development-plan/ 

  • a day BULLETIN Team. (2561). สยามสแควร์ บูรณาการพื้นที่ สู่อนาคตที่ดีและยั่งยืน.

     สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์: https://adaybulletin.com/article-brandedcontent-siam-square-new-concept/24241

  • Magnamonkun. (2562). รถไฟฟ้าบีทีเอส. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์: https://th.m.wikipedia.org/wiki/รถไฟฟ้าบีทีเอส
  • สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.) โครงการพัฒนาโดย PMCU.

     สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2562, จากเว็บไซต์: http://www.pmcu.co.th/?page_id=10049


บทความที่เกี่ยวข้อง

ศิลปะการพัฒนาเมืองผ่านการ Make Over สลัม

สำรวจทำเลรอบกรุงเทพฯ ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในแถบไหนเติบโตมากที่สุด

รวม 11 ทำเลเด่น คอนโดขายดีเป็นเทน้ำเทท่า!

Match วิถีชีวิตร่วมสมัย พาสำรวจ ‘ตลาดพลู’ ย่านเก่าเคล้าใหม่จากฝั่งธนฯ


เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์