โพลเผยคนไทยส่วนใหญ่ 'คาดหวัง' ให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหลังเลือกตั้ง แต่ไม่ฝากความหวังที่พรรคไหนเลย
1 March 2562
ถือเป็นโพลที่ทำให้มองเห็นถึงความคาดหวังของคนไทยต่อการเลือกตั้งอย่างแท้จริงกับผลสำรวจจาก 'นิด้าโพล' ในเรื่อง “ปากท้องคนไทยและเศรษฐกิจประเทศหลังการเลือกตั้ง 2562” เมื่อคนส่วนใหญ่ตอบว่า ในปัจจุบันคนไทยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยแย่ลง แต่หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คนไทยคาดหวังว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น
นิด้าโพล ได้ทำแบบสำรวจเรื่อง “ปากท้องคนไทยและเศรษฐกิจประเทศหลังการเลือกตั้ง 2562” ระหว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,005 หน่วยตัวอย่าง ได้ผลออกมาดังนี้
เมื่อถามว่าเศรษฐกิจตอนนี้เป็นอย่างไร
- ร้อยละ 65.84 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยแย่ลง
- ร้อยละ 27.13 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเหมือนเดิม
- ร้อยละ 7.03 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนธันวาคม 61 จะเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแย่ลง ร้อยละ 3.92
เมื่อถามว่าหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.64 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 32.27 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม และร้อยละ 4.09 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง ซึ่งเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนธันวาคม 61 จะเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะดีขึ้นหลังเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.48
เมื่อถามว่าพรรคการเมืองใดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้คนไทยจะคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหลังเลือกตั้ง แต่เมื่อถามถึงพรรคการเมืองในดวงใจที่จะช่วยให้เรื่องปากท้องดีขึ้น ร้อยละ 45.73 กลับตอบว่าไม่มีพรรคใดเลยที่จะช่วยได้ รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 21.55 ที่ดูจะได้รับคะแนนความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่นจากพรรคอื่นๆ ส่วนพรรคประชารัฐ ได้ไปร้อยละ 10.12, พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 8.28, พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.43 ทิ้งห่างจากพรรคเพื่อไทยพอสมควร
ส่วนพรรคเพื่อชาติได้ไปร้อยละ 1.59, พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.25, พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.10 และพรรคไทยรักษาชาติ ร้อยละ 0.70 ตามลำดับ
เมื่อถามว่าปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของคนไทยคือเรื่องอะไร
คนไทยกว่าร้อยละ 59.55 คิดว่าประเทศเรามีปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยแบ่งเป็น...
- ร้อยละ 58.12 มีรายได้ไม่แน่นอน
- ร้อยละ 36.52 เงินเดือน/ค่าจ้างน้อย
- ร้อยละ 10.80 ครอบครัวใหญ่ต้องเลี้ยงดูหลายคน
- ร้อยละ 4.86 ตกงาน/ไม่มีงานทำ/หางานทำยาก
เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาปากท้องของตัวเองอย่างไร
สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของตัวเอง คนไทยส่วนใหญ่ลงคะแนนให้การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ร้อยละ 63.23 รองลงมาจะเป็น ร้อยละ 26.72 ระบุว่า ทำอาชีพเสริมที่ถูกกฎหมาย ร้อยละ 16.16 ระบุว่า ออมเงิน ร้อยละ 10.22 ระบุว่า ไม่ได้มีแผน จะทำอะไรในตอนนี้ ร้อยละ 8.63 ระบุว่า กู้ยืมเงินจากคนใกล้ชิด/สถาบันการเงิน/นอกระบบ ร้อยละ 4.27 ระบุว่า มองหางานใหม่ที่ดีกว่า และร้อยละ 3.27 ระบุว่า นำทรัพย์สินไปจำนอง/จำนำ/ขาย
ที่มาโพล
http://nidapoll.nida.ac.th/index.php?op=polls-detail&id=644