เมื่อ 'อาคารเขียว' ไม่ใช่แค่คำวิเศษณ์ขยายภาพลักษณ์ของตัวอาคาร
14 May 2562
"อาคารเขียว" ไม่ใช่แค่คำวิเศษณ์ที่ใช้ขยายภาพลักษณ์ของตัวอาคาร ว่าจะต้องมีสีเขียวเป็นองค์ประกอบหลัก หรือต้องมีแต่ต้นไม้ปกคลุมเพียงอย่างเดียว แต่การออกแบบอาคารเขียวที่ว่า คือ การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงการลดใช้พลังงาน และเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ เป็นหลักต่างหาก
: อาคารเขียว ไม่จำเป็นต้องมีสีเขียว
ก็ขึ้นชื่อว่า เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมได้
การก่อสร้างอาคารเขียวได้รับความนิยมมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ซึ่งไทยเองก็ได้มีการพัฒนา และวางมาตรฐานของอาคารเขียวไว้ นับเป็นหลักเกณฑ์ที่อาคารทั่วไปควรทำตาม และปัจจุบันก็มีอาคารที่ได้รับการรับรองแล้ว 28 โครงการ
นี่แหล่ะ!! ตัวอย่าง 'อาคารเขียว' ในไทย
ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้:) เหมือน "ศูนย์การเรียนรู้กสิกรไทย" ที่ริเริ่มก่อสร้างอาคารภายใต้แนวคิด 'การประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง' โดยผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล พร้อมรางวัลสูงสุด LEED Platinum ระดับโลก ในสาขาอาคารใหม่ จากสภาอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา
ด้วยการออกแบบอาคารที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ 30%, ลดการใช้น้ำประปาได้ 60% ซึ่งจะไม่มีการปล่อยน้ำเสีย รู้จักใช้ประโยชน์จากน้ำฝนอย่างเต็มที่ และยังลดขยะจากการก่อสร้าง ด้วยการบริหารจัดการนำไปใช้ใหม่ได้อีก 80%
และยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาอาคารเขียว อย่าง 'อาคารสำนักงานใหญ่ พหลโยธิน' ที่ปรับปรุงผังอาคารใหม่ให้เป็น Open Plan Office ปลอดโปร่งด้วยแสงจากธรรมชาติ
นอกจากนี้ก็ยังมี 'สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา' ที่ออกแบบและก่อสร้างให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน เช่น มีการใช้พลังงานทดแทนด้วยการติดตั้งแผง Solar Cell พร้อมติดตั้งกระจกเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ จึงช่วยประหยัดการใช้พลังงานไปได้ถึง 38.97% และเลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำเพื่อช่วยลดการใช้น้ำในโครงการลง 47.51% เป็นต้น
หรือแม้แต่สถานที่ขนาดเล็กก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเขียวได้เหมือนกัน อย่าง '7-ELEVEN สาขาธาราสแควร์' ตรงสถาบันปํญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ที่ออกแบบอาคารแบบ Stand Alone แต่ได้นำเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาใช้ ทั้งด้านการออกแบบ, ก่อสร้างอาคาร, ภูมิทัศน์, การะประหยัดน้ำและพลังงาน, วัสดุ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ภายในร้าน ทำให้ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 668 ตันต่อปี
'สตาร์บัคส์' ร้านกาแฟสีเขียวที่เรารู้จักกันดี ก็เป็นหนึ่งในโครงการอาคารสีเขียว โดยมีร้านที่ผ่านการรับรองจาก LEED® อยู่ 5 สาขา ได้แก่ สาขาพอร์โต ชิโน่ (ระดับ Gold),สาขาคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (ระดับ Silver), สาขาเมกา บางนา (ระดับ Certified), สาขาบ้านชาติ (ระดับ Certified) และสาขาอินท์ พระราม 3 (ระดับ Certified) ที่มีการติดตั้งวาล์วประหยัดน้ำทั่วทั้งร้าน, ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้แสงไฟ หรือใช้แผ่นปูพื้นรีไซเคิล เป็นต้น
อีกหนึ่งอาคารอสังหาริมทรัพย์ 'ปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์' ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "ความสมดุลระหว่างการออกแบบที่สร้างสรรค์ และการสร้างอาคารสีเขียว" โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 25% พร้อมติดตั้งกระจกอนุรักษ์พลังงานแบบ 3 ชั้น ซึ่งจะเคลือบด้วยสารพิเศษที่มีคุณสมบัติ ช่วยลดปริมาณเสียง, แสงแดด และความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร พร้อมนำน้ำที่ใช้แล้วในอาคารมาบำบัด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ด้วย
จะเห็นว่า...'อาคารเขียว' มิได้หมายถึงแค่ภาพลักษณ์ภายนอกเพียงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงโครงสร้างและระบบจัดการภายในทั้งหมด ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะต้องผ่านเกณฑ์การรับรองหลายประการ แต่สำหรับด้านการพัฒนาและความมั่นคงแล้ว นับเป็นหนทางที่จะพาให้คุณภาพชีวิตของทุกคนในประเทศนั้น ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
อ้างอิง :