อยู่กันอย่างไร? ในยุคที่ราคาขนส่งมวลชน ผกผันต่อคุณภาพชีวิต
17 May 2562
เมษายน ปี 2562 สิ่งที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศ คงเป็นข่าวปรับราคาค่าโดยสารรถเมล์ ที่เพิ่มขึ้นราว 1 - 7 บาท บางคนบอกรับได้ เพราะราคาเดิมก็ถือว่าคงที่ไว้นานพอตัวแล้ว ขณะเดียวกันก็ทำเอาหลายคนถึงกับปาดเหงื่อ แต่ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคงเป็นคำถามที่ว่า เมื่อขึ้นราคาแล้ว คุณภาพและบริการจะสูงขึ้นตามหรือไม่?
วันนี้ Esto จึงอยากชวนคุยในประเด็นการใช้ชีวิต ค่าครองชีพ การปรับราคาขนส่งมวลชนที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในเมือง
ค่าอะไรก็ขึ้น ยกเว้นค่าแรง
ประโยคที่แสนเจ็บปวดของบรรดาหนุ่ม-สาวชาวออฟฟิศ และแรงงานหาเช้ากินค่ำ ค่าเดินทางเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทางเลือกสุดท้ายที่ช่วยประหยัดอย่างรถเมล์ก็มาชิงขึ้นราคา มองผิวเผิน 1 - 7 บาท อาจไม่ใช่จำนวนที่มากมายนัก แต่สำหรับผู้ที่มีที่พักไกลจากที่ทำงาน ต้องใช้รถเมล์หลายต่อ อาจเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้นมากถึง 300 บาท ต่อเดือน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากนายเอส เพิ่งเริ่มทำงาน ได้เงินเดือน 15,000 บาท ต้องนั่งรถเมล์สาย 510 จากสนามบินดอนเมืองไปยังจตุจักร ราคา 25 บาท (เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 บาท) ต่อรถไฟฟ้า BTS จากสถานีหมอชิตไปยังอโศก ราคา 44 บาท รวมค่าเดินทาง ไป-กลับ ต่อวันจะอยู่ที่ 138 บาท หรือ ต่อเดือน 3,036 บาท เมื่อคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วถือว่าค่าเดินทางสูงถึงประมาณ 20.24% ของเงินเดือนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ปัญหาชวนปวดหัว อย่างการที่ต้องเสียเวลารอรถเมล์เป็นเวลานาน การที่ต้องเผื่อเวลาหลายชั่วโมงสำหรับรถติด หรือ การที่รถเมล์เก่า ไม่สะอาด เบาะขาด เครื่องยนต์เสียอยู่บ่อยครั้ง ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แล้วรถเมล์ประเทศอื่นเป็นอย่างไร?
ประเทศสิงคโปร์
เริ่มกันด้วยเมืองที่มีระดับคุณภาพชีวิตดีอันดับที่ 25 ของโลก และ ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2019) อย่างสิงคโปร์ เครือข่ายขนส่งมวลชนของเขาถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก รถบัส หรือ รถเมล์ ของเขา จะมีรายละเอียดสายรถที่วิ่งผ่าน บอกไว้ที่ Bus Stop อย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบเวลาเดินรถทั้งไป-กลับที่แน่นอนได้ จ่ายค่าโดยสารด้วยบัตร EZ-Link หรือเงินสดก็ได้ ราคาตั้งแต่ 0.60 - 1.80 SGD (ประมาณ 14 - 47 บาท) ตามระยะทาง
ค่าโดยสารค่อนข้างใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่เทคโนโลยีที่นำมาใช้ล้ำหน้ากว่ามาก การจราจรไม่ติดขัดเท่าไรนัก จึงไม่ต้องใช้เวลารอรถแต่ละคันนานเป็นชั่วโมง ถือว่าเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายไม่แพ้รถไฟฟ้า MRT ของเขา แถมมีราคาถูกกว่าด้วย นักท่องเที่ยวไทยที่อยู่กับความยากของรถเมล์ไทยอาจไม่ค่อยกล้าขึ้นรถเมล์ในต่างประเทศ แต่พอได้ลองขึ้นรถเมล์ในสิงคโปร์ก็ติดใจทุกราย
ประเทศอังกฤษ
ระบบขนส่งมวลชนของกรุงลอนดอน ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในประเทศ รถบัสสีแดงสองชั้น ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในเมืองผู้ดีแห่งนี้ ผู้ที่อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวจะนิยมจ่ายค่าโดยสารด้วย Oyster card เพราะถือว่าประหยัดและสะดวกสบายที่สุด โดยจะตกอยู่ที่ประมาณเที่ยวละ 1.40 ปอนด์ หรือประมาณ 62 บาท
เห็นราคาแล้วอาจรู้สึก งั้นค่าโดยสารของเราก็ถูกแล้วนะ? แต่ต้องบอกว่ารถบัสของเขาใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง มีระบบติดตามผ่านดาวเทียม สามารถระบุตำแหน่งของรถ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารทราบได้ว่ารถจะมาถึงภายในเวลากี่นาที โดยดูได้ทั้งจากสมาร์ทโฟน หรือ ป้ายรถเมล์ สามารถพาไปได้แทบทุกที่ในกรุงลอนดอน แถมบางสายมีบริการตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าจะไปไหนก็ได้ตลอดทั้งคืนโดยไม่ต้องกังวล และถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 7.83 ปอนด์ หรือประมาณ 330 บาท / ชั่วโมง ค่าขึ้นรถบัสสวย ๆ ก็ดูจะราคาเบาลงมาทันตาเห็น
ประเทศญี่ปุ่น
คนในประเทศขี้นชื่อเรื่องความเป๊ะฉันใด รถเมล์ก็ขึ้นชื่อเรื่องความเป๊ะฉันนั้น เวลาที่ปรากฎบนป้ายรถเมล์ กับ เวลาที่มาจอดจริง แทบจะไม่ผิดเพี้ยน สะดวกสบาย กะเวลาการเดินทางได้ไม่ต่างจากรถไฟฟ้า แถมยังมีการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารอย่างการมีปุ่มกดออดให้จอดป้ายในระยะที่เอื้อมมือถึงทุก ๆ ที่นั่ง ไม่ต้องลุกขึ้นมาจากเก้าอี้ระหว่างที่รถวิ่ง เมื่อถึงป้ายตัวรถจะเอียงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยเพื่อให้ขนานกับฟุตปาธ เพื่อให้ผู้โดยสารก้าวลงได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ส่วนเรื่องค่าโดยสารนั้น สามารถจ่ายได้ 2 วิธี คือ การจ่ายเงินสด และจ่ายด้วย IC Card ค่าโดยสารจะแตกต่างกันไปตามระยะทาง โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ประมาณ 200 เยน หรือประมาณ 60 บาท ต่อเที่ยว แต่เช่นเดียวกันกับลอนดอน ในกรุงโตเกียวก็จ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุดอยู่ที่ 985 เยนต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 280 บาท
การคมนาคมที่ดีอย่างนั้น หรือจะเป็นแค่ฝันของประเทศไทย?
คำถามที่ว่าจะอยู่กันอย่างไรนั้น.. ตอบยาก
หากเรามีการคมนาคมที่ดีขึ้น ความเจริญและแหล่งงานจะกระจายสู่รอบนอกมากขึ้น ช่วยลดความแออัด กระจุกตัวใจกลางเมือง นอกจากนี้ผู้คนจะสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งไลฟ์สไตล์ได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั้นเติบโตตามกันไปด้วย แต่จะรอให้ภาครัฐลงมาแก้ปัญหาการคมนาคมในประเทศไทย ไม่รู้ต้องใช้เวลานานอีกเท่าไร จึงมีทางออก หรือ เรียกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้ อยู่ 3 ข้อ ที่อยากแนะนำ
- หารายได้เสริม เพิ่มหลาย ๆ ทาง : หากเงินเดือนยังไม่เพียงพอ ลองหาช่องทางทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้หลายบริษัทก็นิยมจ้างฟรีแลนซ์ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ หรือ สมัยนี้คนนิยมซื้อของจากร้านค้าออนไลน์ การรับพรีออเดอร์ ก็เป็นโอกาสดี ๆ ที่ลงทุนไม่สูงมาก
- เปลี่ยนงาน หาที่ทำงานใกล้บ้าน : จะประหยัดรายจ่ายค่าเดินทางได้ดีที่สุด คือการมีสถานที่ทำงานใกล้ ๆ นั่งรถต่อเดียวถึง ถ้าใกล้ขนาดที่สามารถขี่จักยาน หรือ เดินไปได้ ก็ยิ่งดี (แต่แน่นอนว่าจะหางานถูกใจ ทำเลเพอร์เฟคก็คงยาก)
- ย้ายไปอยู่ในคอนโดใกล้ที่ทำงาน : แม้เป็นตัวเลือกที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดิม แต่ถ้าคำนวณเรื่องเวลาและคุณภาพชีวิตแล้ว อาจคุ้มค่ากว่า มนุษย์เงินเดือนหลายคนก็เลือกใช้วิธีนี้
รถสาธารณะในอุดมคติเหมือนเป็นเรื่องอีกแสนไกล แต่ความหวังของคนไทยก็ยังไม่ถึงกับริบหรี่เสียทีเดียว เพราะทางภาครัฐก็ส่งสัญญาณว่าจะพัฒนาอะไรเพิ่มเติม
ก็เหมือนซีรีส์เรื่องยาว .. ที่ต้องคอยลุ้นกันต่อไป
เครดิต: voicetv.co.th, siuk-thailand.com, matcha-jp.com, educatepark.com, mobilityexchange.mercer.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
100 กว่าปีรถเมล์ ย้อนดูอดีตที่ส่งผลสู่ปัจจุบันของประวัติค่าเดินทางชาวกรุง
ใครๆ ก็อยากทำงานย่านสาทร แล้วคนทำงานย่านสาทร เขาพักอยู่ย่านไหนกัน?
5 ไลฟ์สไตล์ที่ใครมีขอบอกเลยว่าเหมาะกับคอนโด