สับปะรดสี พืชทนแล้ง ไม้ประดับที่ปลูกได้แม้ในที่แคบ
6 April 2560
การแต่งสวนระเบียงคอนโดให้มีความสวยงาม จำเป็นจะต้องเลือกพันธุ์ไม้ให้เข้ากันกับขนาดพื้นที่ ด้วยบริเวณซึ่งอาจไม่กว้างมาก การแต่งสวนในคอนโดส่วนใหญ่จึงควรเลือกพันธุ์ไม้อย่างไม้ดอก ไม้ล้มลุก และไม้ประดับมาตกแต่ง ทาง Estopolis ก็มีพันธุ์ไม้ประดับสวย ๆ อย่าง ‘สับปะรดสี’ ไม้พันธุ์ขนาดเล็กที่เลี้ยงบำรุงดูแลไม่ยาก มาแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จัก
‘สับปะรดสี’ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากแถบทวีปอเมริกาใต้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า บรอมมีเลียด (Bromeliad) เป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนและสภาพแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี จึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักจัดสวน ไม้ประดับชนิดนี้มีกลีบใบแข็ง มีทั้งสายพันธุ์ที่มี
ใบแคบและใบกว้าง รากจะมีลักษณะเป็นระบบรากฝอย แต่ในบางสายพันธุ์ก็เป็นระบบราก
อากาศคล้ายพืชอย่างกล้วยไม้ ด้วยลักษณะพิเศษทางธรรมชาติ ต้นสับปะรดสีจะทำการ
ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนและคายออกซิเจนออกมา จึงทำให้ไม่เป็น
อันตรายหากปลูกประดับไว้ภายในห้องนั่งเล่นหรือห้องนอน
นอกจากนั้นแล้วสับปะรดสียังมีลักษณะพิเศษทางสายพันธุ์อีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อต้น มีอายุมากจะแตกหน่อเพิ่ม จึงอาจเรียกได้ว่าสับปะรดสีเป็นพืชพันธุ์อมตะที่ไม่มีวันตาย สับปะรดสีมีด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ ก็มีความแตกต่างทางลักษณะภาย ภาพทั้งสีสัน รูปร่าง ซึ่งเหล่านี้เป็นความสวยงามที่น่าหลงใหล ช่วยให้นำไปจัดสวนได้ ในสไตล์ที่หลากหลายตามความชอบของผู้จัดสวน
สายพันธุ์ที่เด่น ๆ ของสับปะรดสี ได้แก่ สับปะรดสีสายพันธุ์นีโอเรจีเลีย สายพันธุ์ แอคเมีย และ สายพันธุ์ ไซยาเนีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ 3 อันดับที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในหมู่ผู้เลี้ยง สายพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดคือพันธุ์นีโอนีเรจีเลีย (Neoneregelia) ลักษณะพิเศษของสายพันธุ์นี้อยู่ที่ความสวยงามของช่อใบที่มีความหลากหลายทางสีสัน รูปใบจะขดเวียนรอบเป็นวงกลม เมื่อมีดอกช่อดอกจะอยู่ตรงกลางยอด
การปลูกสับปะรดสี
สำหรับการปลูกสับปะรดสีสามารถทำการขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ ในการเพาะเมล็ดควรปลูกในกระบะที่มีขุยมะพร้าว เพราะสับปะรดสีเป็นพืชที่ไม่ชอบดิน สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ ทำได้โดยการแยกหน่อไว้ แล้วทาด้วยปูนแดงทิ้งไว้ให้แห้ง เมื่อทำการปลูกให้กดหน่อ
สับปะรดสีลงไปในกระถางที่มีกาบมะพร้าวสับเป็นท่อนรองอยู่แต่อย่ากดให้จมลงไปลึกมาก โดยธรรมชาติแล้วสับปะรดสีเป็นพืชทนแล้งที่ชื่นชอบแสงแดดแต่ไม่ชอบน้ำและความชื้น ควรทำการฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนควรหยุดให้น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้รากและใบเน่าได้ การเพาะเลี้ยงสับปะรดสียังมีข้อดีในเรื่องการบำรุงดูแล โดยแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงเหมือนไม้ประดับชนิดอื่น เพราะการใส่ปุ๋ยบำรุงให้ต้นสับปะรดสีมาก ๆ อาจทำให้รูปทรงใบบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปจากความสวยงามตามธรมชาติ
การปลูกสับปะรดสีให้มีสีสวย ปัจจัยสำคัญอยู่ตรงที่แสงแดดหากให้ต้นสับปะรดสีได้รับแสงแดดเช้า ใบจะมีสีสันสดใส จัดจ้านสวยงามมากยิ่งขึ้น แต่สับปะรดสีบางสายพันธุ์ก็มีลวดลายในตัว ไม่ต้องอาศัยแสงแดดก็มีสีสวยสดได้ ทั้งยังสามารถปลูกได้แม้ในที่ร่ม อย่างเช่น สายพันธ์ Vriesea splendens Splendida หรือชื่อในภาษาไทยของสายพันธุ์นี้คือดาบเศรษฐี ซึ่งชื่อเรียกนี้ตั้งตามลักษณะของดอก คือเมื่อยามมีดอกส่วนช่อจะยื่นยาวออกมา รูปทรงคล้ายดาบสีสันสดใสและมีลายใบเป็นน้ำตาลเข้มที่สวยงาม นอกจากจะสามารถปลูกสับปะรดสีเป็นต้นเดี่ยว ๆ แล้วยังสามารถปลูกในลักษณะพืชอิงอาศัยที่อยู่บนต้นไม้ชนิดอื่นได้อีกด้วย เพียงใช้ขุยมะพร้าวใส่ลงในกระถางพลาสติกแบบที่มีช่องระบายน้ำ ใส่ต้นสับปะรดสีลงไปแล้วผูกติดกับกิ่งไม้ของต้นไม้ที่ต้องการให้ต้นสับปะรดสีเกาะอิงอาศัย ก็เป็นอีกไอเดียจัดสวนสวยที่ดูสวยงามได้แบบง่าย ๆ
การจัดสวนโดยใช้สับปะรดสี
พื้นที่ปลูกสับปะรดสีสามารถปลูกได้ทั้งในกระถางตั้งพื้น ตั้งโต๊ะ หรือจะทำเป็นกระถางแขวน นำไปเกาะหรือห้อยอิงไว้กับต้นไม้ใหญ่ อาจจัดผสมกับสวนหินก็ออกมาสวยงามดูโดดเด่น แม้แต่การปลูกในพื้นที่ริมหน้าต่าง ริมระเบียงในห้องเพื่อตกแต่งชั้นตู้โชว์ พืชอย่างสับปะรดสีก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงผู้ปลูกต้องคัดเลือกสายพันธุ์ที่ชอบแสงรำไร ปลูกแล้วสวยงามแม้ในที่ร่ม หรือหากชื่นชอบสวนแบบแนวตั้งการใช้สับปะรดสีจัดวางบนกำแพงแบบสวนแนวตั้งก็เป็นอีกไอเดียสร้างสีสันให้กับสวนเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ไม่มากอย่างริมระเบียงคอนโดได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
ได้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชชนิดนี้กันไปแล้ว ก็ลองเลือกหานำไปจัดสวนกันดูนะคะเป็นอีกหนึ่งพันธุ์พืชที่เหมาะกับการจัดสวนในพื้นที่จำกัด ทั้งยังมีความสวยงามกับสีสันอันสดใสของช่อใบและช่อดอก ช่วยเพิ่มความสดใสให้กับพื้นที่อาศัยได้เป็นอย่างดีทีเดียว ทั้งยังดูแลรักษาง่ายเหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่แทบไม่มีเวลาดูแลได้ดี ขอบคุณภาพประกอบจาก
ภาพประกอบ : http://www.pinterest.com