ESTOPOLIS | จะ 50 ปี หรือ 1000 ปีก็ทิ้งไม่ลง ของเยอะ!! จนกลายเป็น 'โรคสะสมของ'
10 August 2560
อันนี้ต้องเก็บ อันนี้ทิ้งไม่ได้ อันนั้นก็เสียดาย ตัดใจทิ้งไม่ลงสักที หากใครมีอาการเหล่านี้ คุณอาจจกำลังประสบปัญหาด้านจิตใจแบบไม่รู้ตัว...มาเช็คกันดีกว่าว่า คุณเข้าข่ายจะกลายเป็น Hoarding disorder หรือ โรคชอบสะสมของมากจนเกินไปหรือไม่? แล้วคนกลุ่มไหนเข้าข่ายสุ่มเสี่ยง ? และจะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้ได้ยังไงกัน ?
บ้าสะสมของ ไม่กล้าทิ้ง อาการป่วยทางจิตที่เรียกว่า Hoarding disorder
Hoarding disorder (โรคชอบสะสมของ) ไม่ใช่โรคของคนขี้เกียจทำความสะอาดแต่อย่างใด...หลายคนอาจจะคิดว่า ตัวเองแค่ขี้เกียจขนของออกไปทิ้ง แต่จริงๆ แล้วในใจลึกๆ ของคุณกำลังเสียดายของเหล่านั้น ยึดติดว่าทุกชิ้นเป็นของสำคัญจนทิ้งขว้างมันไปไม่ได้มากกว่า...
โรคนี้ไม่ใช่โรคมโน แต่ได้รับการยืนยันได้จาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้ทำการเผยเเพร่บทความของคนบ้าสมบัติ ชอบสะสมของเก่าจนทำให้คอนโด หรือบ้านเละเทะไว้ว่า เป็นเหตุที่เกิดจาก โรค Hoarding disorder โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่เพิ่งได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ในปี พ.ศ. 2556
โดยโรคเก็บสะสมของ (Hoarding disorder) จะพบได้ในกลุ่มคนประมาณ 2-5% ในคนทั่วไป คนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนโสด มักเริ่มเป็นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้นไปด้วย
เมื่อฉันกลายเป็นโรค Hoarding disorder แบบไม่รู้ตัว
หลายคนไม่ได้เอะใจสงสัยพฤติกรรมของตัวเอง เพราะการสะสมของเก็บไว้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ชัด บางคนอาจจะเก็บสะสมของจำพวกหนังสือ นิตยสาร เสื้อผ้า ถุงพลาสติก และขวดต่างๆ ซึ่งดูแล้วก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่ที่จะแปลกและแตกต่างออกไปก็ตรงปริมาณที่มากเกินคนทั่วไปหลายเท่า
พูดแบบนี้อาจจะไม่เห็นภาพ เรามาลองทำเช็คลิสต์กันดีกว่าว่าคุณมีอาการชอบสะสมของมาก-น้อยแค่ไหนกัน ?
- เก็บของไม่จำเป็นเอาไว้เยอะมาก จนคนอื่นทัก แต่เรามักคิดว่ามันสมเหตุสมผล
- มีความกังวลและไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะต้องทิ้งข้าวของชิ้นไหนบ้าง และมักจะคิดเสมอว่า ยังอาจจะจำเป็นต้องใช้งาน จนรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องทิ้งข้าวของเหล่านั้น
- ไม่สามารถจัดเรียงข้าวของภายในบ้านให้เป็นระเบียบ หรือเป็นหมวดหมู่ได้
- หวงของที่เก็บไว้ ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาหยิบจับ
- ของสะสมรบกวนการใช้ชีวิต เช่น ไม่มีพื้นที่อยู่อาศัย แยะตัวออกจากสังคม ทะเลาะกับคนรอบข้าง เป็นต้น
- รู้สึกแย่กับสิ่งพฤติกรรมนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
เอาล่ะ! ตรวจสอบกันไปแล้วว่า ที่สะสมของอยู่นี่มันมากเกินไปหรือไม่ ? ถ้าคิดว่าเป็นแน่ๆ แล้ว ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เรามาดูสาเหตุของโรคชอบสะสมของ เพื่อหาวิธีแก้ไขกันต่อดีกว่า
โรค Hoarding disorder เกิดจากอะไร
โรค Hoarding disorder หรือโรคชอบสะสมของยังเป็นโรคที่ไม่สามารถหาสาเหตุของอาการได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่า มีที่มาจากหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น...
- ครอบครัวเป็น ฉันเป็นด้วย : โรคชอบสะสมของ เป็นโรคที่เกี่ยวโยงถึงพันธุกรรม บ้านใครมีญาติสายตรง อย่างเช่น พ่อแม่ พี่ น้อง ที่ชอบสะสมของเป็นชีวิตจิตใจก็ถือว่าเข้าข่ายสุ่มเสียงเป็นโรคนี้ได้ง่ายทีเดียว
- สมองจ๋า ลาก่อน : จากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สมองพบว่า สมองส่วนซินกูเลทคอร์เท็กซ์ (cingulate cortex) และออกซิพิทัล โลบ (Occipital lobe) ซึ่งทำหน้าที่คิดและตัดสินใจของผู้ที่เป็นโรคเก็บสะสมของทำงานลดลง
- การบาดเจ็บทางสมองก็เป็นได้ : กลุ่มบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้าจนถึงสมองส่วนกลาง มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและกลายเป็นโรค Hoarding disorder ด้วยเช่นกัน
โรคต่อไปนี้มีส่วนทำให้เป็นโรค Hoarding disorder
ใครที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับโรคย้ำคิด ย้ำทำ (OCD), โรคจิตเภท, โรคเครียด, โรคสมองเสื่อม, โรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์ มักมีอาการของโรค Hoarding disorder ร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคเหล่านี้ มักมีพฤติกรรมที่ขาดเหตุผล บังคับใจตัวเองไม่ได้ ทำให้เกิดพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ และชอบกักตุนข้าวของเอาไว้มากเกินความจำเป็น
รักษาไม่ได้ แต่บำบัดได้!
โรคชอบสะสมของเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด ด้านการใช้ยาพบว่า เห็นผลแค่เล็กน้อย โดยยาที่ใช้เป็นยากลุ่มยาต้านเศร้า แนะนำให้ใช้วิธีการบำบัดด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นจากการสอนและฝึกการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบบ่อยๆ อาการของโรคที่เป็นอยู่ก็จะบรรเทาลง
ที่มา :
https://adaa.org
https://www.psychiatry.org
http://www.nhs.uk