รูปบทความ วิธีตรวจรับคอนโดด้วยตัวเองอย่างไรไม่ให้พลาด

วิธีตรวจรับคอนโดด้วยตัวเองอย่างไรไม่ให้พลาด


คอนโดเสร็จแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะย้ายข้าวของหรือเฟอร์นิเจอร์เข้าไปอยู่ได้เลย เพราะหากย้ายเข้าไปอยู่แล้วซักพักคุณก็จะพบว่าห้องที่คุณอยู่นั้นทำไมปัญหาจึงเยอะจัง พอจะเรียกร้องเอาจากโครงการหรือนิติบุคคลให้แก้ปัญหาก็สายไปเสียแล้ว อีกทั้งลำดับขั้นตอนยังยุ่งยากสุดๆ ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์อันสูงสุดของเรา ก่อนย้ายเข้าไปอยู่คอนโดจึงต้องมีการตรวจรับ เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยภายในห้องเสียก่อน คอนโดราคาหลักล้านก็ต้องพิถีพิถันกันนิดนึง  

ข้อดีของการตรวจรับคอนโด

    1. ทำให้เรารู้สึกถึงความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบสุขาภิบาล

    2. ในฐานะผู้บริโภคเราไม่ควรถูกเอารัดเอาเปรียบหากมีการสร้างหรือตกแต่งชุ้ยๆ ต้องแจ้งโครงการเพื่อแก้ไขให้ตรงตามสเป็กที่คุยไว้ตั้งแต่แรก

    3. ลดความยุ่งยากในการแก้ไขและซ่อมแซม เพราะเมื่อย้ายเข้าไปอยู่แล้วการแก้ไขจะยุ่งยากมาก

    การตรวจรับคอนโดก่อนเข้าอยู่ หลายคนอาจจะสงสัยว่าเรื่องการตรวจรับนั้น จริงๆ แล้วเราสามารถจ้างบริษัทหรือผู้เชี่ยวชาญก็ได้ไม่จำเป็นต้องตรวจเอง แต่หากเราสามารถตรวจเช็คเองได้จะไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องเสียเงินจ้าง แถมยังเป็นการฝึกทักษะต่อยอดในการรับจ๊อบพิเศษได้อีกด้วย

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการตรวจรับคอนโด

    สิ่งแรกที่ไม่ควรพลาดเมื่ออยากเป็นนักตรวจรับคอนโด คืออุปกรณ์คู่กายในการตรวจรับนั่นเอง เป็นอุปกรณ์ที่หาง่ายๆ ไม่ต้องแพงหรือล้ำสมัยอะไรมากนัก อาศัยความเนี้ยบ ยิ่งใครเป็นคนประเภทเยอะ เจ้ากี้เจ้าการ เจ้าระเบียบหน่อยก็จะยิ่งดี พยายามสวมวิญญาณครูระเบียบเข้าไว้ เพราะจุดเล็กจุดน้อยไม่ควรปล่อยให้ผ่านสายตา เหมือนอย่างที่บอกในตอนต้นว่า ห้องราคาเป็นล้านเราต้องพิถีพิถันกันหน่อย

    1. กระดาษ เอาไว้จดรายการที่ต้องซ่อมแซม กระดาษโพสอิทแบบเล็ก เอาไว้แปะจุดที่ต้องแก้ไข

    2. ไขควงวัดไฟ หรือเอาสายชาร์ทมือถือไปด้วยในกรณีที่ไม่มีไขควงวัดไฟ

    3. ถังน้ำ ใส่น้ำเพื่อเทเช็คระดับของพื้น ไม่ว่าจะเป็นระเบียงหรือห้องน้ำ

    4. ถุงมือและถุงเท้า ใช้สำหรับตรวจสอบพื้นห้องและผนังห้อง

    5. ลูกแก้ว สำหรับตรวจสอบพื้นห้องเช่นกันคะ แต่เพื่อดูความลาดเอียง พื้นไม่เสมอ หรือเป็นหลุม

    6. กล้องถ่ายรูป หรือกล้องโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายแล้วชัดเห็นรายละเอียด เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน

    หลังจากได้อุปกรณ์กันแล้ว มาเริ่มการตรวจรับก่อนเข้าอยู่คอนโดกันเลย ซึ่งการตรวจนั้นจะตรวจสะเปะสะปะไม่ได้ ต้องมีการวางแผนก่อนว่าจะตรวจในส่วนไหนก่อน เพราะเมื่อตรวจเป็นระบบขั้นตอนแล้ว จะทำให้เราไม่พลาดจุดใดจุดหนึ่งไป ที่สำคัญควรโพยไปด้วยเพื่อป้องกันการลืม

วิธีการตรวจรับคอนโดง่ายๆ ด้วยตัวเอง

    พื้น ผนัง หรือวอลเปเปอร์ และเพดาน การตรวจรับคอนโด ตอนแรกแนะนำให้ตรวจในส่วนที่ง่ายๆ ก่อน เช่น พื้น ผนัง และวอลเปเปอร์เสียก่อน เพราะเป็นส่วนที่มีพื้นที่เยอะต้องใช้ความละเอียดและสมาธิในการตรวจเช็คกว่าจุดอื่นๆ

         พื้น โดยทั่วไปแล้วพื้นจะเป็นพื้นไม้ลามิเนต การตรวจเช็คนอกจากการดูด้วยตาเปล่าแล้ว การใช้เท้าของเราเองสัมผัสก็จะช่วยได้เยอะ ซึ่งควรใส่ถุงเท้าแล้วเดินลากเท้าดู ว่าสะดุดตรงไหนบ้าง ตรงไหนพื้นบวม เป็นโพรงไม่สนิท หรือเหมือนจะหลุดออก การตรวจพื้นอีกข้อควรใช้ลูกแก้วเข้ามาช่วย เพื่อดูการปูพื้นของห้องว่าเสมอหรือไม่ ด้วยการเทลูกแก้วแล้วสังเกตว่าลูกแก้วแต่ละลูกไหลรวมเป็นจุดเดียวกันหรือไม่ ถ้าไหลมารวมกันแปลว่าช่างมีการเทพื้นห้องเป็นหลุม ดังนั้นเมื่อเราพบปัญหาดังกล่าวก็ควรจดบันทึก ถ่ายรูป และมาร์คจุดด้วยโพสอิทตรงพื้นผิวบริเวณที่ต้องแก้ไขนั้นไว้

         ในส่วนของพื้นแบบกระเบื้อง จะพบในห้องน้ำและระเบียง การตรวจดูนั้น ไม่ว่าจะเป็นคอนโดหรือบ้านจะทำคล้ายๆ กัน คือเทน้ำจากถังแล้วดูการไหลของน้ำ หากน้ำไหลลงรูระบายน้ำปกติจนน้ำหมดแปลว่าช่างเทพื้นได้องศามาตรฐาน แต่หากน้ำไหลช้า ไหลไม่หมด น้ำยังค้างอยู่ต้องบันทึกสำหรับการแก้ไขไว้เพราะการเทพื้นห้องน้ำหรือพื้นระเบียงต้องทำให้ได้องศาเพื่อน้ำจะได้น้ำระบายได้คล่องตัว ไม่เกิดปัญหาน้ำขังในอนาคต 

       ผนังหรือวอลเปเปอร์ สำหรับห้องที่เป็นผนังเปล่าจะเช็คค่อนข้างง่ายกว่าผนังที่ติดวอลเปเปอร์แล้ว สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ว่าผนังมีการฉาบเรียบหรือไม่ เกิดรอยร้าวบริเวณไหนบ้าง สีที่ทามีความสม่ำเสมอหรือมีเกิดรอยด่างตรงไหนหรือเปล่า เมื่อพบให้จดและถ่ายรูปไว้พร้อมกับติดโพสอิท สำหรับผนังห้องที่ติดวอลเปเปอร์ สิ่งที่ควรดูคือเกิดรอยฉีกขาดหรือไม่ ความเนียนตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขอบหรือรอยต่อที่เราในฐานะคนอาศัยต้องใส่ใจในการดูเป็นพิเศษ ในกรณีที่ติด wall paper นั้นความยากในการตรวจสอบก่อนเข้าอยู่คอนโดสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือผนังห้องจริงๆ ที่เรามองไม่เห็น ดังนั้นการตรวจรับนอกจากตาเปล่าแล้ว ยังต้องอาศัยถุงมือเข้ามาช่วยในการสัมผัสหรือลูบผนังที่เป็นวอลเปเปอร์ การลูบผนังห้องจะทำให้เรารู้ว่าผนังจริงภายในมีการฉาบผนังเรียบหรือไม่ การติดวอลเนียนหรือเปล่า และนอกจากนี้ควรดูที่บัวเชิงพนังด้วยว่ามีการติดตั้งเนียนสนิทหรือไม่

        เพดาน การตรวจรับคอนโดนั้น สิ่งที่หลายคนมักจะลืมไปคือการดูเพดานนั่นเอง เพดานที่ดีควรเรียบเสมอกันทั้งหมด ไม่มีคราบน้ำที่เป็นร่องรอยของการรั่วซึมจากห้องด้านบน และไม่เป็นแอ่ง หรือตกท้องช้าง

    ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ที่ควรมีคือไขควงวัดไฟ เครื่องชาร์ทโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์บ้านแบบใช้ถ่านหากสามารถหามาได้เพื่อตรวจสอบระบบสัญญาณโทรศัพท์นั่นเอง ในส่วนของระบบไฟฟ้าให้เปิดไฟทั้งหมดในห้องทุกห้อง รวมทั้งเครื่องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อ test ว่าไฟเข้าหรือไม่ อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทางโครงการแถมมาให้ชำรุดหรือเปล่า ส่วนเต้าเสียบให้ใช้ไขควงวัดไฟเช็คดูว่ามีไฟหรือไม่ เมื่อพบว่าจุดใดหรืออุปกรณ์ไหนชำรุดให้จดและถ่ายรูปไว้พร้อมติดโพสอิทเพื่อบอกให้ช่างรู้ตอนซ่อมแซม

       ในกรณีไฟรั่วจะรู้ได้อย่างไร วิธีง่ายๆ ไม่ต้องเสี่ยงคือ ให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทุกอย่างภายในห้องทั้งหมดแล้วดูที่มิเตอร์ หากมิเตอร์ไฟยังเดินก็แสดงว่าภายในห้องมีไฟรั่ว ต้องรีบแจ้งให้ช่างทราบโดยด่วน

    ระบบประปาสุขาภิบาล บางครั้งเรื่องน้ำในการตรวจรับคอนโดก็ไม่ควรชะล่าใจเป็นอันขาด อย่าคิดว่าแค่เปิดก๊อกแล้วน้ำไหลก็จบไม่มีอะไรนั่นเป็นสิ่งที่ผิดเอามากๆ เพราะระบบน้ำที่เราต้องตรวจสอบมีมากกว่า คือต้องดูระบบการระบายน้ำและแรงดันน้ำด้วย สำหรับการตรวจการระบายน้ำเปิดน้ำให้เต็มในแต่ละจุดแล้วจึงค่อยเปิดรูระบายออก รอดูว่าน้ำระบายหมดหรือไม่ เพราะบางครั้งท่อน้ำอาจจะมีเศษหินหรือเศษปูนอุดตัน ในส่วนของแรงดันน้ำให้ลองเปิดน้ำในแต่ละจุดพร้อมๆ กัน แล้วสังเกตว่าแรงดันน้ำที่ไหลออกมาตกหรือเปล่า    

    อีกจุดที่ต้องสังเกตคือตามท่อระบายน้ำในส่วนของอ่างล้างหน้า ซิงค์ล้างจาน ว่ามีน้ำรั่วซึมออกมาหรือไม่ และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาด้วยหรือเปล่า เมื่อตรวจสอบแล้วพบปัญหาดังกล่าวต้องบันทึกไว้ ติดโพสอิทและแจ้งโครงการ

    ประตูและหน้าต่าง นอกจากความสวยงามในเรื่องของการออกแบบภายในห้องแล้ว ความปลอดภัยก็ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง อย่างประตูหน้าต่างที่ต้องแข็งแรง ลูกบิดต้องยึดติดกับบานประตูแน่น ส่วนหน้าต่างบานเลื่อนกระจกก็ไม่ควรมีรอยร้าวหรือแตก ดูวงกบด้วยว่าสนิทแนบชิดกันหรือมีรอยแยกหรือเปล่า สำหรับประตูบานเลื่อนดูที่รางเลื่อนด้วยว่ารางเลื่อนฝืดหรือตกรางไหม การตรวจสอบต้องทำหลายๆ ครั้ง คือเปิด-ปิด เลื่อนเข้า - เลื่อนออก ลองทำหลายๆ ครั้งเพื่อทดสอบว่าหากใช้งานบ่อยๆ จะเกิดปัญหาหรือเปล่า หากเกิดเสียงดัง หรือประตู-หน้าต่างปิดไม่สนิทก็ควรจดพร้อมถ่ายรูปและแปะโพสอิทตรงบริเวณนั้นไว้ทุกจุดที่พบปัญหา


นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สิ่งที่เราไม่ควรละเลยคือ ยาแนว และสุขภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ทางโครงการแถมมาให้ คือ อ่างล้างหน้า ตู้อาบน้ำ (Shower Box), ระบบเครื่องทำน้ำอุ่น, เคาน์เตอร์ครัว, อ่างล้างจาน, ระบบเตาไฟฟ้า, เครื่องดูดควัน, ชั้นวางของ, เครื่องปรับอากาศ, คอมเพรสเซอร์แอร์, ท่อน้ำทิ้งจากเครื่องปรับอากาศ หากตรวจพบว่าชำรุด หรือไม่อยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งานให้จดบันทึก ถ่ายรูปไว้และติดโพสอิทไว้

หลังจากที่เราทำการตรวจเรียบร้อยแล้วนั้น เราควรทำงานรายงานสรุปว่าทางโครงการต้องแก้ไขและซ่อมตรงไหนให้เราบ้าง ส่วนการซ่อมแซมต้องใช้เวลา บางคอนโดต้องใช้เวลาเป็นเดือน เพราะการตรวจซ่อมนั้นจะต้องเป็นไปตามคิวของห้องที่แจ้งเรื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่โครงการทำการซ่อมแซมแล้ว เราจำเป็นต้องตรวจสอบรายการอีกครั้งว่าเจ้าหน้าที่ซ่อมแซมครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ เมื่อโอเคครบแล้วก็ถือว่าการตรวจรับคอนโดนั้นเป็นอันเสร็จสิ้น ลูกบ้านพร้อมย้ายเข้าไปอยู่ได้เลย


วิธีการตรวจรับคอนโดด้วยตัวเองอย่างไรไม่ให้พลาดนี้ จะช่วยป้องกันและเป็นการรักษาสิทธิ์ของผู้ซื้อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลังเมื่อโอนแล้ว ดังนั้นการตรวจสอบในขั้นตอนนี้จึงสำคัญเลยทีเดียว เพราะหากผ่านไปแล้วอยากกลับมาแก้หรือซ่อมในภายหลังจะยุ่งยากสุดๆ ดีไม่ดีอาจจะต้องควักเงินจากกระเป๋าตัวเองมาซ่อมห้องซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ดังนั้นหากเป็นไปได้การตรวจรับคอนโดจึงต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ 


ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.pr.chula.ac.th

                        : https://home.kapook.com


ภาพจาก : http://emax.ru

            : http://www.thaihealth.or.th

            : http://cliphathailand.blogspot.com

            : https://www.pinterest.com

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...?

Related Stories

Esto Talks

See All >

Living out loud

Living out loud : VANA RESIDENCE พระราม 9 - ศรีนครินทร์