อัปเดต! รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ–ท่าพระ และ ช่วงหัวลำโพง–บางแค คืบหน้ากว่า 90%
20 June 2560
ในปัจจุบัน “รถไฟฟ้า” เป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญอีกระบบหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับคนเมือง ที่ต้องเผชิญกับการจราจรที่ติดขัดและหนาแน่น การใช้บริการรถไฟฟ้าจึงเป็นอีกคำตอบหนึ่งที่คนเมืองนิยมใช้กัน รถไฟฟ้าในทุกวันนี้มีมากมายหลายเส้นทางและหลายสถานีที่เปิดให้บริการครอบคลุมสถานที่และบริเวณสำคัญๆ หลายแห่ง ทำให้สามารถใช้ในการสัญจรเดินทางไปยังสถานที่ในต่างๆ ภายในเมืองและชานเมืองได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายไปยังบริเวณนอกเมืองและปริมณฑลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมืองมีการขยายตัวและมีการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจตามแนวของรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน
หนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสำคัญที่กำลังมีการก่อสร้างใกล้เสร็จและมีแผนจะเปิดให้บริการภายในเร็วๆนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ และเส้นทางหัวลำโพง-บางแค ซึ่งทั้งสองเส้นทางเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยได้รับสัมปทานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ–ท่าพระ และ ช่วงหัวลำโพง–บางแค ปัจจุบันโครงการมีการก่อสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 92.39%
ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
สำหรับความคืบหน้าของของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ–ท่าพระ และ ช่วงหัวลำโพง–บางแค ปัจจุบันโครงการมีการก่อสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 92.39% หากการก่อสร้างเป็นไปตามแผนคาดการณ์ว่าเส้นทางหัวลำโพง-บางแคจะสามารถเปิดให้บริการได้จริงภายในเดือนกันยายน 2562 ส่วนเส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมีนาคม 2563
การจัดจราจรงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าข้ามแยกบางพลัด
การจัดระบบจราจรงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าข้ามแยกบางพลัด เพื่อผู้อาศัยอยู่บริเวณนั้นจะได้วางแผนล่วงหน้าเผื่อเวลาเดินทาง
รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ–ท่าพระและช่วงหัวลำโพง–บางแค ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเส้นทางทั้ง 2 ช่วงนี้ ประกอบด้วยสถานี 21 สถานี มีระยะทางรวมกันกว่า 27 กิโลเมตร เชื่อมต่อกันที่บริเวณสถานีท่าพระ และแนวเส้นทางจะไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง–บางซื่อ (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ในปัจจุบัน) ทางฝั่งเหนือที่สนานีบางซื่อ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบ จะมีระยะทางรวมเดินรถรวมกันกว่า 47 กิโลเมตร เชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า สายฉลองรัชธรรม ที่บริเวณสถานีเตาปูน ซึ่งจะทำให้เกิดโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลอีกด้วย
เส้นทางส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
เส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ปัจจุบันคืบหน้าแล้วกว่า 92.39% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2560 ) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2562 เป็นเส้นทางยกระดับตลอดสาย เริ่มต้นจากปลายทางโครงการระยะแรกที่สถานีบางซื่อ ยกระดับจากอุโมงค์บริเวณสะพานสูงบางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนบริเวณแยกเตาปูน ผ่านแยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าน้ำบางโพ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ที่สถานีสิรินธรบริเวณแยกบางพลัด ผ่านคลองบางยี่ขัน แยกบรมราชชนนี คลองบางกอกน้อย แยกบางขุนนนท์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีบางขุนนนท์ ผ่านย่านตลาดบางขุนศรี แยกไฟฉาย คลองมอญ วัดท่าพระ ไปสิ้นสุดเส้นทางโดยบรรจบกับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่แยกท่าพระ จุดตัดถนนเพชรเกษมและถนนรัชดาภิเษก รวมระยะทางตลอดเส้นทางประมาณ 13 กิโลเมตร
เส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมีนาคม 2563
ขอบคุณภาพจาก : ภาพ ธัชดล ปัญญาพานิชกุล, ฐานิส สุดโต / NationPhoto
ที่ตั้งของสถานีของรถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
ที่ตั้งสถานีของรถไฟฟ้าสายนี้มี 10 สถานี ประกอบด้วย
1. สถานีเตาปูน เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ตั้งอยู่บริเวณถนนประชาราษฏร์ สาย 2 ตัดกับถนนกรุงเทพ-นนทบุรีที่แยกเตาปูน
2. สถานีบางโพ ปัจจุบันคืบหน้า ตั้งอยู่ที่บริเวณประชาราษฏร์สาย 2 ตัดกับถนนประชาราษฏร์สาย 1 ที่แยกบางโพ
3. สถานีบางอ้อ ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์ 86/2 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 90
4. สถานีบางพลัด ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณสำนักงานเขตบางพลัด ระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์ 76 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 81
5. สถานีสิรินธร ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ตัดกับถนนราชวิถีและถนนสิรินธรที่แยกสิรินธร
6. สถานีบางยี่ขัน ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 42
7. สถานีบางขุนนนท์ ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณแยกบางขุนนนท์
8. บริเวณแยกไฟฉาย มีลักษณะเป็นสามแยก จึงเป็นอีกหนึ่งบริเวณในย่านจรัญสนิทวงศ์ที่มีการจราจรหนาแน่น และติดขัดในช่วงเวลาเร่งรีบ ดังนั้นรถไฟฟ้าสายนี้จะช่วยให้การจราจรในบริเวณนี้ดีขึ้น สถานีแยกไฟฉาย ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณแยกไฟฉาย
9. สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 และคลองวัดดีดวด
10. สถานีท่าพระ ตั้งอยู่บริเวณแยกท่าพระและเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค
ภาพสถานีท่าพระ ซึ่งจะเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพงบางแค จึงมีโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารในบริเวณนี้ได้จำนวนมาก
เส้นทางส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค
เส้นทางหัวลำโพง-บางแคจะสามารถเปิดให้บริการได้จริงภายในเดือนกันยายน 2562
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค สายนี้ ปัจจุบันคืบหน้าแล้วกว่า 92.39% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2560 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562 เส้นทางสายนี้ มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินมีลักษณะทางวิ่งอุโมงค์ คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ-บางแค ระยะทาง 9 กิโลเมตร มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โดยเส้นทางเริ่มจากสถานีหัวลำโพงเป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่าน วังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อ บริเวณบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ- ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ บางแค สิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก
ที่ตั้งของสถานีของรถไฟฟ้า ช่วงหัวลำโพง-บางแค
ที่ตั้งสถานีของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค มี 11 สถานี ประกอบด้วย
1. สถานีวัดมังกรกมลาวาส ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุงตัดกับถนนพลับพลาไชยและถนนแปลงนามที่แยกแปลงนาม
2. สถานีวังบูรพา ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุงตัดกับถนนมหาไชยที่แยกสามยอด จนถึงถนนเจริญกรุงตัดกับถนนอุณากรรณและถนนบูรพา และเป็นสถานีใต้ดินร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฏร์บูรณะ
3. สถานีสนามไชย ตั้งอยู่บริเวณถนนสนามไชยตัดกับถนนพระพิพิธ จนถึงถนนสนามไชยตัดกับถนนราชินีบริเวณคลองคูเมืองเดิม ซึ่งสถานีนี้จะถูกออกแบบและตกแต่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่สวยที่สุดในประเทศไทย
สถานี่สนามไชย สถานีรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศไทย
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สถานีรถไฟใต้ดินสนามไชยได้ชื่อว่าเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดในประเทศไทย ที่มีการผสมผสานเอาสถาปัตยกรรมไทยมาประยุกต์กับความทันสมัย อะไรคือกุญแจสำคัญกว่าจะกลายเป็นความลงตัวของสถานีแห่งนี้
ขอบคุณบทสัมภาษณ์ :
รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)
ขอบคุณที่มา : ศุภวิชช์ สงวนเลิศฤทัย
4. สถานีอิสรภาพ ตั้งอยู่บริเวณซอยอิสรภาพ 23 จนถึงซอยอิสรภาพ 34
5. สถานีท่าพระ ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าพระและเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
สถานีนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับศูนย์ซ่อมบำรุงอาคารโรงจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร ที่ตั้งอยู่ริมถนนกาญจนาภิเษกตรงข้ามหมู่บ้านบัวทองได้ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาจอดเมื่อใช้บริการรถไฟฟ้าได้
6. สถานีบางไผ่ ตั้งอยู่ตามแนวเพชรเกษม ระหว่างซอยเพชรเกษม 19 และซอยเพชรเกษม 19/2
7. สถานีบางหว้า ตั้งอยู่ตามแนวถนนเพชรเกษม ระหว่างแยกบางหว้า และซอยเพชรเกษม 34
สถานีบางหว้าสายสีน้ำเงินนี้จะเชื่อมกันกับสถานีบางหว้า สายสีเขียว( BTS)
8. สถานีเพชรเกษม 48 ตั้งอยู่ตามแนวถนนเพชรเกษม ระหว่างซอยเพชรเกษม 31/1 และซอยเพชรเกษม 46/2
สถานีเพชรเกษม 48 จะสังเกตว่าตอนนี้สถานีรถไฟฟ้าเกือบทุกที่มีการสร้างลิฟต์ขึ้นลงสำหรับผู้ที่เดินไม่สะดวก หรือผู้ทุพพลภาพที่ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้
9. สถานีภาษีเจริญ ตั้งอยู่ตามแนวถนนเพชรเกษม บริเวณห้างซีคอน บางแค
งานติดตั้งงานโครงสร้าง และงานสถาปัตย์ ของทางขึ้น-ลง อาคารสถานี ของสถานีภาษีเจริญ
10. สถานีบางแค ตั้งอยู่ตามแนวถนนเพชรเกษม ระหว่างซอยเพชรเกษม 62/3 และซอยเพชรเกษม 62/4
สถานีบางแคตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ ใกล้สถานศึกษา และห้างร้านต่างๆ เช่น เทสโกโลตัสบางแค โรงเรียนวัดนิมมารนรดี จึงคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจากสถานีนี้เป็นจำนวนมาก
11. สถานีหลักสอง ตั้งอยู่ตามแนวถนนเพชรเกษม ระหว่างซอยเพชรเกษม 80 และแยกต่างระดับเพชรเกษม ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก
อัตราค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.59 - 2 ก.ค.61
ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ทั้ง 2 ช่วงนี้สร้างเสร็จ จะช่วยให้การเดินทางในพื้นที่เมืองและรอบๆ เมือง สะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งค่าบริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย สายนี้ยังไม่แพงอีกด้วย หากเป็นไปตามอัตราค่าบริการของรถไฟฟ้า MRT ในปัจจุบัน ค่าบริการโดยสารสูงสุดจะมีราคาเพียง 42 บาทเท่านั้นสำหรับบุคคลทั่วไป ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีนำเงินนี้เดินทางได้อย่างคุ้มค่าแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/bkktrains
http://www.mrta-blueline.com
https://www.mrta.co.th/th/projectelectrictrain/blueline/
https://www.facebook.com/MRTA.PR
http://www.prachachat.net
http://www.komchadluek.net
http://www.newszociety.com