รถไฟฟ้าสายสีทอง จุดเชื่อมโยงวัฒนธรรมลุ่มเจ้าพระยา
23 July 2560
หากกล่าวถึงพื้นที่ "ลุ่มเจ้าพระยา" คงจะปฏิเสธได้ยากว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ทำเลทองของกรุงเทพมหานครฯ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรคมนาคมและขนส่งสินค้าทางน้ำ ทำให้ตลอดริมฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีความเจริญเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะมีการติดต่อค้าขายสินค้าและบริการระหว่างผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ศาสนาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่ซึ่งการเดินทางบนบกตลอดพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เพราะมีถนนตัดผ่านหลายสายและบางบริเวณมีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน ยิ่งทำให้บริเวณนั้นๆ มีความเจริญมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นทำเลทองที่หลายๆ คนต่างต้องการ
ในปัจจุบันบริเวณถนนเจริญนครเป็นหนึ่งในถนนสายสำคัญของพื้นที่ย่านฝั่งธนบุรีที่มีความเจริญอย่างก้าวกระโดด เพราะนอกจากถนนเจริญนครจะเป็นถนนเลียบริมฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีจุดเริ่มต้นของเส้นทางตั้งแต่บริเวณแยกคลองสานวิ่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศใต้ ผ่านถนนกรุงธนบุรี แยกบุคคโล และไปสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณสะพานข้ามคลองดาวคะนองแล้ว ทุกวันนี้ยังเป็นที่ตั้งของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายโครงการ รวมทั้งอภิมหาโปรเจค อย่างโครงการไอคอนสยามของกลุ่มสยามพิวรรธน์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีพื้นที่โครงการกว่า 50 ไร่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจราจรหนาแน่นและติดขัดมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ทางกรุงเทพมหานครและกลุ่มเจ้าของโครงการไอคอนสยามจึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขการจราจรในบริเวณดังกล่าว โดยดำเนินการสร้างแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองขึ้นมาเพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาการจราจร ร่วมทั้งเพิ่มความสะดวกสบายเชื่อมโยงการเดินทางกับพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นหนึ่งในโครงการขนส่งมวลชนขนาดรองของพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าระยะสั้นแบบโมโนเรล (รถไฟฟ้ารูปแบบรางเดี่ยว) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ (Feeder Line) เข้าสู่บริเวณโครงการไอคอนสยาม และเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนเจริญนครไปจนถึง ถนนสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อแก้ไขการจราจรบนท้องถนนที่ติดขัดในบริเวณดังกล่าว ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีทองเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่เน้นการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักอื่นๆ ได้แก่ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงตากสิน-บางหว้า) ที่สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) ที่บริเวณสถานีคลองสาน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ) ที่สถานีประชาธิปก โดยทั้งนี้ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองนี้จะมีระยะทางรวมประมาณ 2.7 กิโลเมตร และประกอบด้วย 4 สถานี ดังนี้
(ภาพสถานีกรุงธนบุรี ซึ่งจะเป็นบริเวณจุดเริ่มต้นของเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง)
• G1 (สถานีกรุงธนบุรี) จะเป็นสถานีเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยเส้นทางจะเชื่อมต่อเข้ากับแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงตากสิน-บางหว้า) ที่สถานีกรุงธนบุรี และมีแนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเลียบไปกับเกาะกลางถนนกรุงธนบุรี ก่อนจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่สถนนเจริญนครและมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อเข้าสู่สถานีเจริญนคร โดยเส้นทางในช่วงนี้จะผ่านสถานที่สำคัญๆ คอนโด และอาคารสำนักงานบริษัทบางแห่ง เช่น คอนโดวิลล่าสาทร, บริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช, บริษัท เฟิร์ส แมนนีควิน จำกัด, The River condominium, The Lighthouse, ชุมชนวัดสุวรรณ และ POOLSUB SPACE
(ภาพถนนเจริญนครหน้าบริเวณโครงการไอคอนสยาม ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของสถานีเจริญนครในอนาคต)
• G2 (สถานีเจริญนคร) จะตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง โดยมีเส้นทางต่อมาจากสถานีกรุงธนบุรีเพื่อมุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อไปตามถนนเจริญนคร มุ่งหน้าสู่แยกคลองสาน ก่อนเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งแนวเส้นทางจะถูกเบี่ยงขึ้นไปอยู่เหนือแนวทางเท้าด้านซ้ายของฝั่งคลองสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อให้เส้นทางวิ่งเข้าสู่สถานีคลองสานได้โดยมีกระทบการจราจรบนถนนสมเด็จเจ้าพระยาน้อยที่สุด ทั้งนี้เส้นทางในช่วงนี้จะผ่านสถานที่สำคัญๆ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสะพานพระเจ้าตากสิน, วิทยาลัยเทคโนโลยีมิตรพลบริหารธุรกิจ, โรงเรียนผดุงกิจวิทยา, โรงพยาบาลตากสิน และที่สำคัญบริเวณที่ตั้งสถานีนี้จะอยู่บริเวณหน้าโครงการไอคอนสยามพอดีอีกด้วย
(ภาพบริเวณหน้าโรงบาลตากสิน เลี้ยวไปทางซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของสถานีคลองสานในอนาคต)
• G3 (สถานีคลองสาน) จะตั้งอยู่บนถนนสมเด็จเจ้าพระยา เยื้องกับบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสินเพียงเล็กน้อย โดยเส้นทางจากสถานีนี้จะวิ่งมุ่งหน้าต่อไปตามถนนสมเด็จเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อเข้าสู่สถานีสุดท้ายของโครงการที่สถานีประชาธิปปกต่อไป ทั้งนี้แนวเส้นทางดังกล่าวจะผ่านสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ Psychiatric History Museum, ธนาคารออมสิน สาขาสมเด็จเจ้าพระยา,ธนาคารกรุงไทย สาขาท่าดินแดง,โรงเรียนจันทรวิทยา และวิทยาลัยเทคโนโลยีวัฒนาบริหารธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตที่บริเวณสถานีคลองสานของรถไฟฟ้าสายสีทองแห่งนี้จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) อีกด้วย
(ภาพถนนสมเด็จเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดอนงคารามวรวิหาร ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของสถานีประชาธิปก)
• G4 (สถานีประชาธิปก) บริเวณสถานีจะตั้งอยู่บนถนนสมเด็จเจ้าพระยา บริเวณระหว่างหน้าปากซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 และซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าต่อจากสถานีนี้ตามถนนสมเด็จเจ้าพระยาต่อไปยังถนนประชาธิปกเพื่อไปเชื่อมต่อเข้ากับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ) ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองในช่วงสถานีประชาธิปกนี้ไปยังแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสานสีม่วงจะผ่านสถานที่สำคัญที่น่าสนใจ เช่น วัดอนงคารามวรวิหาร,พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขตคลองสาน และวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เป็นต้น
ทั้งนี้โครงการเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองดังกล่าวนี้จะแบ่งการก่อสร้างเส้นทางเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 ระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางตั้งแต่สถานีธนบุรีถึงสถานีคลองสาน ปัจจุบันเฟสแรกนี้อยู่ระหว่างเริ่มการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางโยธา รับผิดชอบงานก่อสร้างโดยบริษัท อิตตาเลี่ยนไทย จำกัดมหาชน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปีนี้ (2560) และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ส่วนในเฟสที่ 2 ระยะทางประมาณ 0.9 กิโลเมตรที่เหลือของรถไฟฟ้าสายสีทองเส้นนี้นั้น กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดประมูลผู้รับเหมา ซึ่งมีแผนกำหนดการจะต้องสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566 อย่างไรก็ตามมีการคาดการว่าเส้นทางในระยะแรกจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2561 ซึ่งจะพร้อมๆ กับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการไอคอนสยาม
ไอคอนสยาม โครงการสำคัญในแนวรถไฟฟ้สสายสีทอง อาจจะพูดได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่แห่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยก็ว่าได้ มีขนาดพื้นที่ 750,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย อภิมหาอาณาจักรศูนย์การค้าแห่งยุค ที่ล้ำเลิศที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 2 อาคาร คือ ไอคอนสยาม (Main Retail & Entertainment) พื้นที่ 500,000 ตารางเมตร และ ไอคอนลักซ์ (Luxury Wing) พื้นที่ 25,000 ตารางเมตร มีที่จอดรถและสิ่งอำนวยความสะดวกแยกจากกัน แต่เชื่อมต่อการไหลเวียนของลูกค้ากันได้อย่างทั่วถึง
เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเส้นทางนี้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเต็มระบบ มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองในระยะที่ 1 ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2561 ประมาณ 47,300 คนต่อเที่ยว/วัน และในระยะที่ 2 ที่จะเปิดให้บริการช่วงปี 2566 ประมาณ 81,000 คนต่อเที่ยว/วัน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวจะสามารถใช้บริการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ในการเชื่อมต่อการเดินทางสัญจรภายในกรุงเทพฯ ได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและเชื่อมโยงวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกมากขึ้น จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในบริเวณโครงการไอคอนสยาม ซึ่งจะมีการรวบรวมวัฒนธรรมและสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ของลุ่มเจ้าพระยาและประเทศไทยมารวมไว้ด้วยกัน
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก