เห็นชอบแล้ว! เตรียมใช้ภาษีลาภลอย หวั่นกระทบราคาคอนโด
12 July 2561
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ทางเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ได้รายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พรบ. ภาษีลาภลอย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการมาของ พรบ. ภาษีลาภลอย จะส่งผลให้ต้นทุนคอนโดและโครงการอสังหาฯ เพิ่มขึ้น วันนี้ทางเราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักว่า พรบ. ภาษีลาภลอยคืออะไร ต้องจ่ายเท่าไหร่ และใครต้องจ่ายบ้าง
พรบ. ภาษีลาภลอย คือ อะไร
สำหรับคำถามที่ว่า พรบ. ภาษีลาภลอย คืออะไรนั้น ต้องขอเกริ่นอย่างนี้ก่อนว่าในปัจจุบันทางภาครัฐได้ลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ทางด่วนพิเศษ ท่าเรือ สนามบิน ฯลฯ
ซึ่งแน่นอนการลงทุนโครงการสาธาณูปโภคของรัฐ (โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า) ทำให้ราคาที่ดิน คอนโด หรือที่เรียกกันว่าห้องชุด บริเวณนั้นมีราคาเพิ่มสูงขึ้น คล้ายกับการได้ ลาภลอย และด้วยเหตุนี้เองกระทรวงการคลังจึงได้ผุดไอเดียร่าง "พรบ. ภาษีลาภลอย" ขึ้นเพื่อใช้เก็บภาษีคนและบริษัทที่ได้ลาภลอยหรือประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ
พูดให้เข้าใจง่ายๆ พรบ. ภาษีลาภลอย คือ กฎหมายที่จัดเก็บภาษีบุคคลคนธรรมดา นิติบุคคล (พวกบริษัทต่างๆ) ที่ครอบครองที่ดิน มีห้องชุดมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท และอยู่ในบริเวณใกล้โครงการสาธารณูปโภคตามที่ พรบ. ภาษีลาภลอย กำหนด
พรบ. ภาษีลาภลอย ต้องจ่ายเท่าไหร่ ใครอยู่ในเกณฑ์ พรบ. ภาษีลาภลอย บ้าง
ตามเงื่อนไข พรบ. ภาษีลาภลอย ได้กำหนดให้ผู้เสียภาษีลาภลอย เป็นได้ทั้งคนธรรมดา และ นิติบุคคล ที่ครอบครองที่ดิน มีห้องชุดมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท อย่างที่เราได้บอกไปในหัวข้อด้านบน โดย พรบ. ภาษีลาภลอย จะแบ่งช่วงเวลาเก็บภาษีออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรกจะเริ่มเก็บ ภาษีลาภลอย จากวันที่รัฐเริ่มโครงการจนแล้วเสร็จ (ระหว่างการก่อสร้าง) ซึ่งจะเก็บภาษีลาภลอยจาก ผู้ขายที่ดินและอาคารชุดที่อยู่รอบโครงการสาธารณูปโภคของรัฐภายในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร (รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทางด่วน คิดรัศมี 2.5 กิโลเมตร ส่วนสนามบิน ท่าเรือ กำหนดให้อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรตาม พรบ. ภาษีลาภลอย)
ช่วงที่ 2 จะเก็บภาษีลาภลอยจากห้องชุดที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท และใช้ในเชิงพาณิชย์เมื่อโครงการสาธารณูปโภคจากภาครัฐสร้างเสร็จ
โดยจะเก็บภาษีลาภลอยได้ไม่เกิน 5% ของฐานภาษีหรือมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ที่ดินที่เป็นที่พักอาศัย ที่ดินที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม และห้องคอนโดที่ยังไม่ได้ขายนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีลาภลอย
พรบ. ภาษีลาภลอย เริ่มใช้เมื่อไหร่
นายพรชัย ฐีระเวช รองโฆษกกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า พรบ. ภาษีลาภลอย จะมีผลบังคับใช้ปี 2562 นอกจากนี้ยังบอกอีกด้วยว่า พรบ. ภาษีลาภลอยนั้นจะไม่กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องจากมีข้อกำหนดให้เสียภาษีลาภลอยเฉพาะตอนขายที่ดินเมื่ออยู่ระหว่างการก่อสร้างสาธาณูปโภคจากภาครัฐ และเมื่อโครงการสร้างเสร็จแล้วผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีลาภลอยจะเป็นผู้ที่มีที่ดิน หรือ ห้องชุดคอนโดเชิงพาณิชย์มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น
ผลกระทบจาก พรบ. ภาษีลาภลอย
ต้องขอบอกเลยว่าทางรัฐมีแนวคิด พรบ. ภาษีลาภลอย มาสักพักแล้ว แต่เพิ่งมาเห็นภาพชัดเจนกันเร็วๆ นี้ ซึ่งตั้งแต่ที่มีข่าวภาษีลาภลอยก็ทำให้ช่วงต้นปีมีการขายที่ดินเปล่ามากขึ้น 20% นอกจากนี้ยังมีราคาเพิ่มขึ้นถึง 30% อีกด้วย
โดยนักลงทุนอสังหาฯ ก็ต่างวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่าการมาของ พรบ. ภาษีลาภลอยฉบับนี้จะทำให้นักพัฒนาโครงการอสังหาฯ อย่างคอนโดแบกรับต้นทุนมากขึ้น และแน่นอนว่าสุดท้ายทางโครงการก็จะบวกต้นทุนนี้ไปในราคาสินค้า พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ พรบ. ภาษีลาภลอย อาจทำให้เราซื้อคอนโดใหม่ใกล้รถไฟฟ้าในราคาที่สูงมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร ทำไมคนซื้อคอนโดเก็งกำไรถึงต้องรู้!