นิติคอนโดวัน ๆ ทำอะไรบ้าง ทำไมแจ้งปัญหาแล้วหายเงียบ!
2 April 2560
เป็นอะไรที่น่าหัวเสียมากสำหรับนิติคอนโดโครงการต่าง ๆ ที่เมือเราเจอปัญหาต่างๆ แจ้งไปแล้วก็หายเงียบ ต้องไปตามกัน 3 - 4 รอบ แค่ท่อน้ำซึมก็ต้องรอกันข้ามวันข้ามคืน ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าวัน ๆ พวกนางทำอะไรกันบ้าง ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ถึงได้แก้ปัญหาให้เราช้านัก
1. จัดการเรื่องการดูแลโครงการทั้งหมด
ตั้งแต่การจ้างแม่บ้านทำความสะอาด จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย คนสวนและดูและคอนโดให้เหมือนใหม่อยู่เสมอ นอกจากจะจ้างแล้วยังต้องคอยควบคุมให้ทำงานให้ดี ไม่มีจุดบกพร่องอีกด้วย นอกจากนี้ในทุก ๆ ปี ก็อาจจะต้องจ้างคนมาทำความสะอาดกระจกและตัวตึกจากภายนอกด้วย
2. คัดแยกจดหมายและพัสดุไปรษณี
เรียกได้ว่าเป็นงานประจำวันเลยสำหรับการคัดแยกจดหมายและพัสดุไปรษณี โดยเฉพาะพัสดุไปรษณี ทางนิติจะต้องเก็บไว้ที่สำนักงาน เขียนและหย่อนจดหมายแจ้งรับพัสดุให้กับลูกบ้าน บางครั้งก็ต้องโทรหาลูกบ้านในกรณีที่เป็นพัสดุชิ้นใหญ่ หรือทิ้งไว้นานเกินไป
3. จัดการประชุมสามัญประจำปี
ตามกฏหมายทุกโครงการจะต้องมีการประชุมสามัญประจำปี เพื่อสร้างข้อตกลงต่าง ๆ ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งนิติมีหน้าที่กำหนดวันและส่งจดหมายเชิญทุกบ้านพร้อมทั้งแจ้งหัวข้อที่จะประชุมก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน
4. เก็บค่าส่วนกลาง
ค่าส่วนกลางเป็นเงินที่ทุกยูนิตต้องจ่ายเพื่อบำรุงรักษา และดำเนินการสำหรับส่วนกลาง ซึ่งจะมีการเก็บทุก ๆ ปี นอกจากทางนิติจะต้องเรียกเก็บค่าส่วนกลางจากทุกยูนิตแล้ว นิติยังมีหน้าที่ตามทวง สำหรับลูกบ้านที่ไม่ยอมจ่าย และอาจจะต้องส่งเรื่องฟ้องศาลดำเนินคดีสำหรับหรับเคสที่ตามไม่ได้จริง ๆ ด้วย
5. ตามช่างเพื่อซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของโครงการ
โดยปกติแล้วช่างซ่อมต่างๆ จะไม่ได้ประจำอยู่ที่โครงการตลอดเวลา นิติเองต้องเป็นคนเรียกมา ซึ่งหลายครั้งที่ช่างพวกนี้มาชา หรือเกิดติสแตกผิดนัด นิติเองก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และติดตาม จึงไม่น่าแปลกหากคุณแจ้งนิติให้ช่วยแก้ไขอะไรบางอย่างแล้วเงียบหายไปนาน เพราะพวกเขานัดช่างไม่ได้และอาจจะลืมเพราะงานแน่นนั่นเอง
6. ค่อยเป็นร่างทรงให้ลูกบ้าน
เมื่อลูกบ้านไม่พอใจกัน ส่วนใหญ่พวกเขาจะไม่ลงไปทะเลาะกันเอง แต่จะอาศัยร่างของนิติไปทะเลาะแทน โดยการมาแจ้งนิติ ไม่ว่าจะเป็นห้องข้าง ๆ เสียงดัง กลิ่นบุหรี่ ขี้บุหรี่ตกใส่ระเบียง เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าหากลูกบ้านที่นิติต้องไปตักเตือนไม่ใช่คนที่จะพูดด้วยได้ง่าย ๆ นิติเองก็จะต้องรับอารมณ์คนพวกนั้นไปเต็ม ๆ
ส่วนในกรณีที่ลูกบ้านลงไปทะเลาะกันเอง นิติก็จะต้องส่วมบทนักไกล่เกลี่ย เข้าไปหาทางออกให้ข้อพิพาทเหล่านั้น
7. จัดการธุระเกี่ยวกับเอกสารให้ลูกบ้าน
การทำคีย์การ์ดหาย การจ่ายค่าจอดรถ หรือลงทะเบียนการจอดรถ เกิดขึ้นอยู่ตลอด นี่คือสิ่งที่นิติต้องดูแลให้คุณ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการทำคีย์การ์ดหาย ซึ่งบางครั้งอาจจะหายตอนดึก ๆ พวกเขาก็จะต้องดูแลให้คุณ
8. บางโครงการดูแลเรื่องการปล่อยเช่าให้ด้วย
มีหลายโครงการเลยที่ดูแลเรื่องการปล่อยเช่าให้ ผู้เช่าสามารถเดินเข้าไปหานิติได้เลย โดยที่นิติจะพาไปชมห้อง ทำหน้าที่เป็นเอเจนซี่ปล่อยห้องให้เสร็จสรรพ ซึ่งตัวนิติเองก็อาจจะได้ส่วนแบ่งเป็นค่าทำเนียมบางส่วนถ้าหากห้องนั้นปล่อยเช่าได้
9. ดูแลเรื่องความปลอดภัย
กล้องวงจรปิด หรือ CCTV สำนักงานนิติจะเป็นจุดเฝ้าดู รวมไปถึงการเข้าออกของคนแปลกหน้า อาจจะมีการแลกบัตรบริเวณป้อม รปภ. แต่สุดท้าย รปภ. ก็ต้องแจ้งทางนิติเช่นกัน การดูแลเรื่องความปลอดภัยถือเป็นหน้าที่ใหญ่หน้าที่หลักของนิติเลย ในบางโครงการห้ามแม้กระทั่งไม่ให้ถ่ายภาพในอาคาร บริเวณทางเข้าออกและโถงทางเดินเลย เนื่องจากกลัวว่าจุดติดตั้ง CCTV และจะหลุดออกไปสู่มือมิจฉาชีพได้
10. ดำเนินการหากเกิดกรณีฉุกเฉิน
ในบางคอนโดมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์อยู่บนชั้นดาดฟ้า สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ลูกบ้านจะต้องประสานไปยังนิติให้เตรียมจุดลงจอด และเคลียทางสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ด้วย แน่นอนว่ากรณีฉุกเฉินไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นลูกบ้านติดอยู่ในลิฟต์ คนจมน้ำ ตกตึก และเรื่องฉุกเฉินอื่น ๆ ด้วย
11. ประสานงานกับผู้รับเหมา
ไม่ใช่เรื่องของการซ่อมแซมเพียงอย่างเดียว การต่อเติมในห้องของคุณก็เช่นกัน เพราะการเดินระบบไฟและน้ำทางนิติจะมีข้อมูลตัวนี้อยู่ การแค่เจาะเพื่อติดที่วางทีวี หรือชั้นวางของหากไม่ปรึกษานิติก่อน อาจจะพลาดไปเจาะโดนท่อน้ำ สายไฟ หรือท่อแอร์ที่ฝั่งอยู่ในผนังก็ได้
นี่เป็นหน้าที่ต่าง ๆ ที่นิติต้องรับผิดชอบ ในบางโครงการที่มีความซับซ้อนกว่านั้น ก็จะมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าชีวิตของนิติค่อนข้างวุ่นวายทีเดียว การเลือกบริษัทนิติที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการติดต่อนิติ แต่ไม่เห็นตัวพวกเขา หรือแจ้งเรื่องไปแล้วหาย คุณอาจจะต้องเห็นใจพวกเขาสักนิด แน่นอนว่าคุณยังสามารถทวงถามและเร่งพวกเขาได้ เพียงแต่ไม่หยาบคายกับพวกเขา เขาก็จะขอบคุณแล้ว