ซื้อ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เหมาะกับเราหรือไม่?
17 March 2562
หากใครคิดว่า การลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องไกลตัว ต้องมีเงินทุน 20 30 ล้านถึงจะทำได้ วันนี้ ESTO มีตัวเลือกมานำเสนอ นั่นก็คือ กองทุนรวมอสังหาฯ ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์, เงินทุนยังไม่เยอะ, ไม่มีเวลามานั่งติดตามตลาด และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น หากใครคิดว่า...ตนเองกำลังเป็นเช่นนี้อยู่ล่ะก็ ตามไปอ่านต่อได้เลย
HIGHLIGHT
- ผลตอบแทนของกองทุนรวมมี 2 ประเภท ซึ่งจะจ่ายผลตอบแทนให้แตกต่างกัน
- ถึงกองทุนรวมอสังหาฯ จะมีความเสี่ยงสูง แต่ไม่ค่อยผันผวนไปตามตลาดหุ้น
- แนะนำตัวอย่างรายชื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับที่ผู้สนใจ
รู้จักกองทุนรวมก่อนสักนิด
- กองทุนรวมคืออะไร?
กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การที่เราและคนอื่น ๆ นำเงินไปซื้อหน่วยลงทุน เพื่อรวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วค่อยให้บริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) นำเงินไปบริหารจัดการ โดยที่เรากับคนอื่น ๆ นั่งรอรับผลตอบแทนตามที่ได้กำหนดไว้
- ผลตอบแทนจากกองทุนรวม
โดยทั่วไปมีแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ 'เงินปันผล' กับ 'ผลต่างราคา (Capital Gain)' ซึ่งทั้งสองตัวจะจ่ายผลตอบแทนให้ต่างรูปแบบกัน โดย...
เงินปันผลจะได้กำไรหลังจากหลังค่าใช้จ่ายแล้วนำเงินมาหารกันตามจำนวนหน่วยที่ซื้อไป โดยจะแบ่งจ่ายเป็นงวดตามที่กำหนด ทุก 3 เดือน, ทุก 6 เดือน แต่ปกติจะไม่เกิน 4 ครั้ง/ปี ขณะที่ผลต่างราคา (Capital Gain) จะขึ้นอยู่กับมูลค่ากองทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ซื้อกองทุนรวมมาก 100 บาท เวลาผ่านไปเราอาจขายหน่วยลงทุนนี้ได้ 150 บาท ซึ่ง 50 บาทที่เพิ่มมาคือกำไร Capital Gain นั่นเอง แถมยังไม่ต้องเสียภาษี 10% เหมือนกับเงินปันผลด้วย
- ประเภทกองทุนรวม
หากแบ่งกันตามความเสี่ยงแล้ว จะแบ่งได้หลายระดับ ไล่ไปตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำมาก,ความเสี่ยงต่ำ, ความเสี่ยงกลาง, ความเสี่ยงสูงไปจนถึงสูงมาก ซึ่งกองทุนรวมอสังหาฯ ก็เป็นหนึ่งในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะถ้าเราลองประเมินตนเองเองแล้วว่ารับความความเสี่ยงนี้ไหว กองทุนรวมอสังหาฯ ก็เป็นตัวเลือกที่สามารถทำกำไรให้เราได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยทีเดียว
แนะนำให้รู้จักกับ กองทุนรวมอสังหาฯ
หากพิจารณาแล้วว่า กองทุนรวมอสังหาฯ (Property Fund) น่าสนใจและอาจเหมาะกับตัวเอง งั้นลองมาทำความรู้จักกับมันเล่น ๆ ก่อนแล้วกัน
กองทุนรวมอสังหาฯ (Property Fund) ในที่นี่จะรวมถึงโรงแรม, ห้างสรรพสินค้า, คอนโดมิเนียม, ทาวน์โฮม, สนามบิน ฯลฯ ด้วย ซึ่งเราสามารถซื้อได้ 2 แบบ คือ กองทุนที่ซื้ออสังหาฯ เป็นของตนเอง กับ กองทุนที่ลงทุนในสิทธิการเช่าของอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง
- สำหรับกองทุนที่ซื้ออสังหาฯ มาเป็นกรรมสิทธ์ (Freehold) เราจะถือว่าเป็นเจ้าของอสังหาฯ เอง โดยรายได้ของกองทุนจะมาจากการให้เช่าหรือขายอสังหาฯ เมื่อเลิกกองทุนนั้น และผู้ลงทุนจะเงินปันผลมาจากการปล่อยเช่าและค่าส่วนต่างของราคาขายอสังหาฯ
- แต่กองทุนที่ลงทุนในสิทธิการเช่า (Leasehold) เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาฯ ส่วนรายได้ของกองทุนจะได้จากค่าเช่าระหว่างระยะการทำสัญญาเช่า พอครบกำหนดก็ต้องคืนอสังหาฯ นั้นให้เจ้าของ โดยผู้ลงทุนจะได้เงินปันผลจากการปล่อยเช่าเป็นผลตอบแทน
ลงทุนกับกองทุนรวมอสังหาฯ
ยิ่งได้ราคาเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา
เพราะถ้าจะให้หาเงินหลายล้านไปลงทุนเอง ก็คงเป็นไปค่อนข้างยาก ยิ่งทำเลดี ๆ ยิ่งราคาแพง แถมการแข่งขันยังสูงอีก ทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดจึงตกมาที่กองทุนรวม เนื่องจากใช้เงินทุนน้อยกว่า แต่สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ได้หลากหลาย ช่วยกระจายความเสี่ยง แถมยังมีสภาพคล่องมากกว่า เพราะกองทุนรวมได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ซื้อง่ายขายก็คล่อง
และต่อให้ช่วงนั้นตลาดหุ้นผันผวนขึ้นลงไปมา แต่เราก็ยังหายใจหายคออยู่ได้ เพราะอัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมอสังหาฯ ไม่ค่อยแปรผันกับสินทรัพย์พื้นฐานจำพวกหุ้น หรือตราสารหนี้ ช่วยให้ชีวิตนักลงทุนมือใหม่สบายขึ้น แต่ส่วนมากจะต้องใช้เวลานาน กว่าจะเห็นผลกำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งกองทุนเหล่านี้มักจ่ายเป็นเงินปันผลเพื่อรักษานักลงทุนไว้ไม่ให้หนีหายกันไปไหน
ความเสี่ยงของกองทุนรวมอสังหาฯ
ประโยคที่ว่า “ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” ยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับอสังหาริมทรัพย์แล้ว จะต้องพิจารญาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นทรัพย์สินขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน อย่าง ความเสี่ยงที่มีผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น มีการแข่งขันในทำเลเดียวกันสูงขึ้น หรือปัจจัยภายใน อย่าง การที่ผู้เช่าอสังหาฯ ของกองทุนรวมไม่ยอมจ่ายค่าเช่า
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่า ตนสามารถรับความเสี่ยงไหว ต่อไปเราจะมาแนะนำ “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” น่าสนใจกัน
ตัวอย่างรายชื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ พร้อมบลจ. ที่บริหารจัดการ
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ควอลิตี้ เฮ้าส์ โฮเทล แอนด์ เรซิเดนซ์ (QHHR) : บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ศาลาแอทสาทร (SSPF) : บลจ. กรุงศรี จำกัด
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ไพร์มออฟฟิศ (SIRIP) : บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ยูโอบี ฟรีโฮสต์ เอท ทองหล่อ (UOB8TF) : บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNRF) : บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา (SPWPF) : บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) : บลจ. บัวหลวง จำกัด
สรุป
การจะเลือกลงทุนกับกองทุนรวมประเภท ควรเลือกให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ศึกษาระยะเวลาที่มีผลต่อการลงทุน รวมถึงความเสี่ยงของแต่ละกองทุนรวม ว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน โดยธนาคาร หรือบลจ. จะให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนซื้อกองทุน ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะพิจารณาจากอายุของผู้ลงทุน, จำนวนเงินทุน, ความรู้หรือประสบการณ์ในการลงทุน หากพอมีความรู้ หรือประสบการณ์ก็จะสามารถลงทุนเชิงรุกได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ตลอดจนทัศคติ ว่าชอบลงทุนแบบปลอดภัย หรือหวังผลกำไรหนัก ๆ