การตรวจรับคอนโดฯ เองได้ ไม่ให้พลาด ! ทั้งมือหนึ่งและมือสอง
24 May 2562
เพราะคอนโดมิเนียมไม่ใช่ราคาถูก ๆ บางห้องซื้อมาราคาหลายล้านบาท จึงควรจะมีการตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าห้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีตำหนิบกพร่อง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังได้ เพราะหากเราขนของเข้ามาอยู่เลย โดยไร้ซึ่งการตรวจสอบให้ถี่ถ้วน วันใดที่มีปัญหาขึ้นมาคงทำให้ปวดหัวน่าดู นอกจากจะยุ่งยากเรื่องการซ่อมแซมภายหลังแล้ว อาจเสียเงิน เสียเวลา แล้วยังเสียความรู้สึกอีกด้วย
ข้อดีของการตรวจรับคอนโด
- มั่นใจได้ว่าห้องที่ได้อยู่ในสภาพเสร็จสมบูรณ์ ปลอดภัยในการเข้าอยู่อาศัย คุ้มค่าราคาเงินที่จ่าย ไม่เสียความรู้สึกภายหลัง
- ลดโอกาสการเกิดปัญหาภายหลัง ที่อาจไม่เป็นไปตามข้อตกลง เช่น การถูกโถมโปรโมชั่นแรง ๆ เพราะผู้ขายต้องการปิดการขายโดยเร็ว แต่เมื่อมีปัญหาตามมาทีหลังจริง กลับมีเงื่อนไขรัดกุมมากมายจนหน่ายใจ ไม่เป็นไปตามสัญญา
- รักษาสิทธิในฐานะผู้ซื้อ ผู้บริโภค เรามีสิทธิได้รับสินค้าและบริการที่ดีที่สุด มีสิทธิเรียกร้องหากเกิดเหตุการณ์ไม่เป็นธรรม
หากอยู่ในช่วงที่ยังไม่ได้เซ็นรับโอนกรรมสิทธิ์ เรายังมีสิทธิที่จะท้วงติงความไม่ชอบธรรมกับโครงการหรือผู้ขายได้
แต่เมื่อเราทำการเซ็นรับเรียบร้อย จ่ายเงินครบถ้วนกระบวนความ ภาระทั้งหมดจะตกมาเป็นของเราโดยทันที และหากเรารับสินค้ามาทั้งที่ยังเต็มไปด้วยภาระคั่งค้าง แน่นอนว่าเราอาจจะต้องเป็นคนรับผิดชอบมันแต่เพียงผู้เดียว
เช็กลิสต์อุปกรณ์สำหรับตรวจรับห้อง
อุปกรณ์สำหรับการตรวจห้อง ฉบับ “ ฉันทำเองได้ ” อุปกรณ์หาได้ง่าย แต่ได้ประสิทธิภาพ
- กระดาษโน้ต มีกาว แปะได้ สติกเกอร์สีเด่น ๆ - สำหรับ มาร์คจุดแก้ไข
- ตลับเมตร - สำหรับ วัดความยาว ความสูง ขนาดของห้องหรือสิ่งของ
- ลูกแก้ว ลูกปิงปอง - สำหรับ วัดระดับพื้น
- ถังน้ำ - สำหรับ รองน้ำ
- เงินเหรียญ - ไว้เคาะตรวจความหนาแน่นของกระเบื้อง
- ที่ชาร์จไฟ - หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สะดวกแก่การพกพา
- ถุงเท้า - สวมถุงเท้าถูไปกับพื้นเพื่อตรวจสอบขอบคมของพื้นห้อง ความเรียบในงานไม้ (หากมี)
- ผ้า - สำหรับ เช็ดทำความสะอาด เคลียร์พื้นที่ที่ต้องการตรวจสอบความชื้น การรั่วไหลซึมของท่อ
- ไฟฉาย - สำหรับ ใช้ส่องบริเวณมุมอับ มุมมืด แสงสว่างไม่พอ ใช้ส่องผนัง
- อุปกรณ์ที่บันทึกภาพได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป - เพื่อถ่ายภาพเป็นหลักฐานจุดที่มีการเน้นย้ำการแก้ไข
วิธีการตรวจห้อง ต้องตรวจอะไรบ้าง
งานเพดาน
ตรวจดูด้วยตาเปล่า หรือการสัมผัส
- เพดานต้องราบเรียบ เสมอกัน ไม่เป็นแอ่งท้องช้าง ไม่เป็นคลื่น
- ไม่มีคราบน้ำ คราบเหลืองหรือดำ สกปรก
- โคมไฟบนฝ้าเพดานติดตั้งอย่างแข็งแรงหรือไม่ อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องสมควรแล้วหรือยัง
- เซนเซอร์ตรวจจับควันไฟ มีติดตั้งในตำแหน่งที่ควรมีแล้วหรือไม่ แต่ละตำแหน่งติดตั้งแข็งแรงเพียงใด
งานผนัง
สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตรวจสอบด้วยเงินเหรียญ ตลับเมตร
- ผนังต้องไม่มีรอยแตก รอยร้าว ไม่หลุดลอก ความสูงจากพื้นถึงเพดานถูกต้องตามสัญญาระบุไว้
- ผนังต้องดิ่งลงพื้น ตั้งฉาก ไม่ลาด ไม่เอียง การเข้าไปยืนดูใกล้ ๆ หรือเอาลำตัวเข้าแนบจะตรวจสอบได้ชัดเจนกว่าการยืนมองด้วยตาเปล่า
- การฉาบปูนต้องเต็ม เสียงดัง ปึก ๆ ลองใช้เหรียญหรือมือเคาะดู หากด้านในมีความเป็นโพรง จะเป็นเสียงแปลก ๆ แทน
- หากมีการทาสีผนัง ต้องสม่ำเสมอ ไม่เป็นรอยด่าง
- ต้องสามารถติดวอลเปเปอร์ได้อย่างเรียบสนิท ไม่มีฟองอากาศ
- ตรวจสอบบัวพื้น รอยต่อระหว่างผนังกับพื้น หรือกับเพดาน ต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย เชื่อมติดสนิท ไม่กลวง
งานพื้น
พื้นห้อง
ใช้อุปกรณ์ เงินเหรียญ ลูกแก้วหรือลูกปิงปอง ถุงเท้า ตลับเมตร
- วัดพื้นห้อง ตรวจสอบว่าได้ขนาดเนื้อที่ตามในสัญญาหรือเปล่า
- เดินลากเท้าอย่างช้า ๆ ไปทีละจุด หากพื้นถูกปูไม่ดี ไม่เสมอกัน มีขอบเผยอ หรือมีขอบคม ถุงเท้าจะเกี่ยวติดบริเวณจุดที่มีปัญหา สังเกตได้ง่าย
- เดินลากเท้า ใช้สัมผัสในการตรวจสอบความราบเรียบของพื้น ควรจะเรียบเสมอกัน
- ใช้เหรียญเคาะตามพื้น กระเบื้อง เสียงต้องหนักแน่นจึงจะถือว่าใต้กระเบื้องมีการลงพื้นอย่างดี หากเสียงแปลกไปแสดงว่ากลวง พื้นไม่เต็ม
- ใช้ลูกแก้วหรือลูกปิงปองวางไว้มุมห้อง หากเรียบราบไปเสมอกันอุปกรณ์จะอยู่ที่เดิม หากมีการไหลเร็วไปข้างใดข้างหนึ่งแปลว่าเอียง หรือหากไหลมากองรวมกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุมแอ่ง
พื้นห้องน้ำ
ใช้อุปกรณ์ ถังน้ำ ลูกแก้วหรือลูกปิงปอง
- การตรวจคล้ายกับการตรวจพื้นห้องทั่วไป เรื่องความแน่นหนาของพื้น เนื้อที่ ขนาด หรือขอบคม
- แต่ พื้นห้องน้ำจะต่างออกไป ตรงที่ลูกแก้วหรือลูกปิงปองควรไหลลงไปรวมกันที่บริเวณ จุดระบายน้ำ จึงจะมั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ขัง
- ใช้ถังน้ำรองน้ำจนเต็ม เทบนพื้นจุดที่ ไกล รูระบายน้ำมากที่สุด สังเกตการไหลระบายของน้ำ ต้องระบายได้เร็ว ไม่ขัง ไม่กองเป็นแอ่ง
งานระบบน้ำ
ส่วนห้องครัว
ใช้อุปกรณ์ ผ้า และใช้การสังเกตดูด้วยตาเปล่า การสัมผัส
- ท่อเดินน้ำ รูระบาย ต้องไม่มีการรั่วซึม
- ใช้ผ้าเช็ดท้องอ่างและท่อให้แห้ง เปิดน้ำใส่อ่างล้างจานให้เต็ม โดยปิดรูระบายน้ำเอาไว้ แล้วดูใต้อ่างส่วนที่เป็นท้องอ่างและท่อเดินน้ำ สังเกตดูว่ามีการรั่วซึมไหม มีความชื้นเล็ดลอดออกมาจุดไหนหรือเปล่า
- เปิดน้ำให้ระบายออก ลองเปิดก๊อกน้ำดูให้สุดแรง ทดสอบระบบฉีดของน้ำ และสังเกตท่อระบายน้ำอีกครั้งระหว่างปล่อยน้ำไหลลงรูระบาย
ส่วนห้องน้ำ
ใช้อุปกรณ์ ผ้า กระดาษชำระ และใช้การสังเกตดูด้วยตาเปล่า การสัมผัส
- บริเวณอ่างล้างหน้าให้ทำแบบเดียวกับอ่างล้างจานในห้องครัว
- ก๊อกน้ำทุกตัวในห้องน้ำ ลองเปิด-ปิด ตรวจสอบหลาย ๆ ครั้ง เปิดเบาสุด-แรงสุด ดูว่าการไหลของน้ำแรงไหม หากมีฝักบัว น้ำควรไหลออกจากฝักเป็นเส้นระเบียบ ไม่แตกแถว และไหลแรงตามมาตรฐานหัวฉีด
- ตรวจดูรูระบายน้ำในห้องน้ำ ควรจะระบายได้รวดเร็ว ตรวจสอบให้ดีว่าภายในท่อระบายน้ำไม่มีเศษดินปูนหรือขยะอุดตัน
- หากโครงการมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นให้ โปรดตรวจสอบเรื่องการติดตั้งสายดิน ระบบการใช้งาน เช็กให้ละเอียดที่สุด เพราะเป็นเรื่องอันตราย
- ส้วม ชักโครก สามารถกดลงระบายได้ดีหรือไม่ ทดสอบโดยการใช้กระดาษชำระโยนลงไป รอให้พองตัวเนื่องจากน้ำก่อนแล้วลองราดหรือกดลง ต้องสามารถกดลงได้ทั้งหมด หากไม่หมดต้องมาร์คเป็นเรื่องแก้ไขสำคัญ ๆ เลยทีเดียว
- เช็กมิเตอร์น้ำ ต้องไม่มีการหมุนเดินในขณะที่ทุกก๊อกปิดหมด หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่ามีน้ำรั่ว
งานระบบไฟ
ใช้อุปกรณ์ สายชาร์จ ที่ชาร์จไฟ
- เปิด-ปิดไฟทุกดวง หลาย ๆ ครั้ง เช็กตำแหน่ง และความแข็งแรงของการติดตั้ง
- ดูตำแหน่งของปลั๊กไฟ เหมาะสมกับจุดต่าง ๆ ในห้องแล้วหรือไม่ เพียงพอต่อการใช้งานหรือเปล่า
- ตรวจสอบการเดินของกระแสไฟฟ้า ปลั๊กไฟทุกปลั๊กสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ โดยการนำที่ชาร์จไฟ อาจจะเป็นสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ สายชาร์จแบ็ตเตอร์รี่สำรอง หรือไดร์เป่าผมตัวเล็กที่สามารถพกพาได้ มาเสียบเปิดใช้ทุกจุด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไฟฟ้าใช้งานได้ตามปกติ
- ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอัน ทุกชิ้น ที่มีติดตั้งภายในห้อง ลองเปิดไฟทุกดวง เปิดแอร์ เสียบปลั๊กชาร์จไฟ ทดสอบระบบไฟฟ้าว่าหากใช้พร้อมกันจะสามารถทำได้ไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า
ประตู หน้าต่าง ภาพรวมของห้อง
ตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า และการสัมผัส
- ประตูต้องเปิดปิดได้สนิท ไม่มีเสียงเอียดอาด
- วงกบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ติดตั้งอย่างเรียบร้อย
- กลอน กุญแจ ระบบล็อค และบานพับใช้งานได้ดี ไม่ขัดข้อง ปิดได้สนิทพอดี
- หากประตูหรือหน้าต่างเป็นแบบบานเลื่อน ต้องเลื่อนได้ลื่น เกาะรางดี ไม่ตกราง ไม่ฝืด
- หากประตูหรือหน้าต่างเป็นกระจก ตรวจสอบความแข็งแรง รอยแตกร้าวต้องไม่มี
- ช่องใต้ประตูขึ้นมาสูงมากเกินไปหรือไม่ ตาแมวใช้งานได้สมบูรณ์ไหม
ความเรียบร้อยโดยรวม
ตรวจพวกรอยเปื้อย จากปูน ยาแนว สี ตรวจดูว่าเก็บงานละเอียดเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ความเลอะเทอะตามพื้น ผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์ในห้อง ทบทวนอีกครั้ง
มือหนึ่งยังไม่เท่าไหร่ ถ้าเป็น “ มือสอง ” ล่ะ ควรจะตรวจตรงไหนเพิ่มดี ?
จริง ๆ แล้ว วิธีที่พวกเรา Estopolis ได้นำเสนอไปนั้น สามารถนำมาใช้ตรวจรับห้องก่อนโอนได้ทั้งมือหนึ่งและมือสองเลย แต่ถึงอย่างไร ความ “ มือสอง ” ก็เป็นที่น่ากังวลมากกว่าอยู่แล้ว แถมบางทีมือสองก็ไม่ได้แปลว่าราคาจะเป็นรองที่สองลงมาด้วย ยิ่งอยู่ในย่านสุดฮิต การตกแต่งโก้หรูดูมีคลาสเข้าหน่อย ราคาก็เจ็บไม่น้อยเหมือนกัน
เป็นเช่นนั้นแล้ว เรามีข้อควรระวัง โน้ตเล็ก ๆ พิเศษ มาติวเข้มให้คนที่กำลังจะซื้อต่อคอนโดฯ ตรงไหนที่ควร เน้นย้ำเป็นพิเศษ เช็กให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ต้องพึงเข้าใจก่อนว่า ห้องมือสอง ก็คือ ห้องที่เคยใช้งานมาแล้ว อาจมีรอยเปื้อน ความเก่า ผุพัง ตามอายุการใช้งาน
- กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ที่ใช้งานหนัก ดูสภาพว่ายังเรียบร้อยดีหรือไม่ หรือเสื่อมโทรมไปเท่าไหร่ มีวิธีซ่อมแซมไหม
- เน้นตรวจย้ำเรื่องระบบน้ำ โดยเฉพาะการระบายน้ำในห้องน้ำ ชักโครก หรือท่อระบายน้ำในห้องครัวด้วยเช่นกัน และงานระบบไฟ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ตรวจเช็กสภาพและการยังใช้งานได้ให้ละเอียด
- ผนังห้องที่อาจหมองเก่า มีรอยร้าวหรือรอยแตก รอยเจาะ รอยกาวติดวอลเปเปอร์ สีซีด ลอกร่อน ฯลฯ
- เพดาน ฝ้า ระวังเรื่องคราบน้ำ รอยเหลือง รอยดำ ที่อาจเกิดจากน้ำรั่ว ความชื้น จากชั้นบน
ประมาณนี้สำหรับเรื่องที่พอจะเน้นตรวจได้หากต้องซื้อคอนโดฯมือสอง เพราะเป็นจุดที่สมควรจะอยู่อย่างดีที่สุดก่อนส่งต่อมือเจ้าของคนใหม่
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่กำลังหาข้อมูลเรื่องการตรวจรับห้องก่อนโอน และผู้ที่ต้องการอยากมีคอนโดฯเป็นของตัวเอง แต่ยังลังเลเรื่องมือหนึ่งหรือมือสองอยู่ อาจใช้ข้อมูลจากบทความนี้ประกอบการตัดสินใจได้ไม่มากก็น้อย
ข้อแตกต่างระหว่างมือหนึ่งมือสอง เห็นจะเป็นความสดใหม่ ไม่เคยมีใครได้ใช้งานมาก่อน ก็แล้วแต่ว่าใครจะซีเรียสมากน้อยกับเรื่องนี้ บางทีมือสองสภาพดี ๆ การตกแต่งสวย ๆ ราคาถูกกว่าครึ่งต่อครึ่งก็มีอยู่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับทำเล งบประมาณ การใช้งาน และความถูกใจของผู้ซื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง
รู้ไว้ใช่ว่า คิดจะซื้อคอนโดทั้งทีต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง
คอนโดใหม่มือหนึ่ง VS คอนโดมือสองที่เห็นสภาพ แบบไหนใช่สำหรับคุณ
ห้องแบบ Fully Furnished VS Fully Fitted แบบไหนน่าลงทุน
ช่วยลดความเสี่ยงอีกนิดด้วย หลักวิเคราะห์ทำเลทำเงิน
ทำความรู้จักเบื้องต้นกับ ‘สัญญาซื้อ-ขายคอนโดฯ’