อัปเดตความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
11 June 2560
ปัญหารถติดและการจราจรที่หนาแน่นบนท้องถนน ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ของคนเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินคมนาคมทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาอย่างยาวนาน หนึ่งในวิธีแก้ปัญหารถติดและบรรเทาสภาพการจารจรที่หนาแน่นได้เป็นอย่างดี คือ การใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน ถึงแม้ที่ผ่านมาเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีเฉพาะเส้นทางที่ตัดผ่านใจกลางเมืองจึงมีพื้นที่ให้บริการไม่ครอบคลุมมากนัก แต่อีกไม่นานเกินรอคนกรุงเทพฯและปริมณฑลก็กำลังจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่มาให้ใช้บริการกันแล้ว ซึ่งรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่นี้ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
ปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ทั้ง 2 เส้นทาง กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาเส้นทางยกระดับ โดยมีความคืบหน้าและรายละเอียดของแต่ละเส้นทาง ดังนี้
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
รฟม. แจ้งปิดจุดกลับรถ (ชั่วคราว) บนถนนพหลโยธิน บริเวณช่องทาง ทอ.3 เพื่อดำเนินงานก่อสร้างเสาเข็มเจาะและทางวิ่งรถไฟฟ้า ในระหว่าง 9 – 18 มิถุนายน 2560 ตั้งแต่เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง อ่านต่อที่นี่
รฟม. แจ้งเบี่ยงจราจรบนถนนลำลูกกา บริเวณปั้มน้ำมันเชลล์ – บริเวณซอยลำลูกกา 41 เพื่อดำเนินงานลากสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน งานยกชิ้นส่วนสถานีและทางวิ่งรถไฟฟ้า ในระหว่าง วันที่ 4- 30 มิถุนายน 2560 เวลา 22.00 ถึง เวลา 05.00 น. อ่านต่อที่นี่
แจ้งเบี่ยงช่องทางจราจรบนถนนพหลโยธิน บริเวณปากซอยพหลโยธิน 55 ถึง สำนักงานเขตบางเขน เพื่อดำเนินการเจาะเสาเข็ม งานทางวิ่งรถไฟฟ้า ในระหว่างวันที่8 - 30 มิถุนายน 2560 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง อ่านต่อที่นี่
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานโยธาก่อสร้างเส้นทางยกระดับ โดยกลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบงานช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และกลุ่มกิจการร่วมค้ายูเอน-เอสเอช-ซีเอช รับผิดชอบงานโยธาในช่วงสะพานใหม่-คูคต รวมระยะทางตลอดเส้นทางกว่า 19 กิโลเมตร
แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากเส้นทางเดิมของโครงการรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ที่สถานีหมอชิต รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้จะข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว แล้ววิ่งยาวตามแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่ ก่อนจะเบี่ยงออกทางด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอกแยกหลักสี่และเบี่ยงกลับเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ วิ่งยาวต่อผ่านโรงพยาบาลภูมิพลฯ ผ่านพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ จนเมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทางจะถูกเบี่ยงอีกครั้งไปทางด้านทิศตะวันออก ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต ก่อนกลับเข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และไปสิ้นสุดเส้นทางบริเวณคลองสอง ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของสถานีคูคต อีกทั้งยังจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถอีกด้วย ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายนี้ จะมีสถานียกระดับ 16 สถานี ประกอบด้วย
1. สถานีห้าแยกลาดพร้าว ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวและจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล MRT (สถานีพหลโยธิน)
2. สถานีพหลโยธิน 24 ตั้งอยู่บริเวณหน้าซอยพหลโยธิน 24
3. สถานีรัชโยธิน ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน
4. สถานีเสนานิคม ตั้งอยู่บริเวณซอยเสนานิคม
5. สถานีวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้าสัตวแพทยศาสตร์
6. สถานีกรมป่าไม้ ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานกรมป่าไม้
7. สถานีบางบัว ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบางบัว
8. สถานีกรมทหารราบที่ 11 ตั้งอยู่บริเวณกรมทหารราบที่ 11
9. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่
11. สถานีสายหยุด ตั้งอยู่บริเวณซอยสายหยุด
12. สถานีสะพานใหม่ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดยิ่งเจริญ
13. สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชและกรมแพทย์ทหารอากาศ
14. สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
15. สถานี กม. 25 ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน
16. สถานีคูคต ตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรคูคต
ความคืบหน้าล่าสุด (มิถุนายน 2560) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตสายนี้มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 30% โดยส่วนใหญ่ได้มีการขึ้นตอม่อเสารถไฟฟ้า และเริ่มวางคานเส้นทางคอนกรีตแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามแผน เส้นทางนี้จะก่อสร้างเสร็จและจะเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2563
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายนี้ มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ ทำการจัดประมูลจนได้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา และได้กลุ่มบริษัท GBSC (Green Line Bearing Samutprakan Consultants) เป็นที่ปรึกษาและผู้ดูแลโครงการ โดยเส้นทางสายนี้เป็นโครงการรถไฟฟ้ายกระดับตลอดสาย ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร
แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางเดิมของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะวิ่งตรงไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย ก่อนจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิทเมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิทอีกครั้ง ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด วิ่งยาวต่อจนไปสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตก และลดระดับเพื่อเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง ทั้งนี้ตลอดเส้นทางจะมีสถานียกระดับ 9 สถานี ดังนี้
1. สถานีสำโรง ตั้งอยู่ระหว่างสะพานข้ามคลองสำโรงกับแยกเทพารักษ์
2. สถานีปู่เจ้าสมิงพราย ตั้งอยู่บริเวณซอยสุขุมวิท 115
3. สถานีเอราวัณ ตั้งอยู่บริเวณซอยสุขุมวิท 7
4. สถานีโรงเรียนนายเรือ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนายเรือ
5. สถานีสมุทรปราการ ตั้งอยู่หน้าวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
6. สถานีศรีนครินทร์ ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองบางปิ้ง
7. สถานีแพรกษา ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนสมุทรปราการ
8. สถานีสายลวด ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 45
9. สถานีเคหะสมุทรปราการ ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 50
ความคืบหน้าล่าสุด (มิถุนายน 2560) งานโยธาของเส้นทางนี้เสร็จสมบูรณ์ 100% ปัจจุบันงานอยู่ในส่วนงานด้านการวางระบบเดินรถ หากเป็นไปตามแผนคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561
เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตและช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ทั้ง 2 เส้นทางนี้เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการเดินรถเต็มระบบแล้ว คาดการณ์ว่าจะช่วยทำให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครดียิ่งขึ้น โดยแต่ละเส้นทางจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมได้มากกว่า 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาด้านการเดินทางคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้อย่างมากทีเดียว
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://www.prachachat.net
: http://pr-cr-mrta.blogspot.com ]
: http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?p=134971200