เจาะข้อมูล! บัตรแมงมุมคืออะไร ดียังไง ซื้อที่ไหน ที่นี่มีคำตอบ
5 September 2560
เผยข้อมูล 'บัตรแมงมุม' ที่ใช้กับขนส่งสาธารณะประเทศไทยทั้ง แอร์พอร์ทลิงค์ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT รถเมล์ ฯลฯ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ประกาศใช้ บัตรแมงมุม ซึ่งเป็นระบบตั๋วร่วมใบแรกของประเทศไทย กล่าวคือ เป็นบัตรเติมเงินที่ใช้จ่ายในระบบขนส่งสาธารณะได้แทบทุกประเภทตั้งแต่ แอร์พอร์ทลิงค์ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT รถเมล์ ฯลฯ ซึ่งวันนี้ทางเรา Estopolis จะมาเจาะข้อมูลกันว่าเจ้าบัตรแมงมุมนี้ดียังไง มีกี่ประเภท เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา เลื่อนไปดูข้างล่างนี้กันเลยดีกว่า
บัตรแมงมุม คือ อะไร?
อย่างที่เราได้เกริ่นไปข้างต้น บัตรแมงมุม คือ บัตรเติมเงินขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบตั๋วร่วมใช้ได้ทั้งแอร์พอร์ทลิงค์ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT รถเมล์ เรือด่วนเจ้าพระยา และ ระบบทางด่วน (Easy pass) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ซื้อของในร้านค้าที่ร่วมรายการได้อีกด้วย ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าทาง สนข. กำลังเจรจากับกลุ่มเดอะมอลล์และเซ็นทรัล เพื่อให้คนทั่วไปใช้บัตรแมงมุมในการซื้อสินค้าจาก 2 ห้างนี้
ยังไงก็ตามหากใครยังนึกภาพบัตรแมงมุมไม่ออกให้นึกถึง บัตร EZ-Link ของประเทศสิงคโปร์ เพราะบัตรแมงมุมนี้มีการใช้งานที่คล้ายกับบัตร EZ-Link ที่ครอบคลุมการขนส่งทั่วประเทศและสามารถใช้ซื้อของจากร้านค้าที่ร่วมรายการได้
บัตรแมงมุม เปิดใช้งานครั้งแรกวันที่ 1 ต.ค. (เลื่อนเป็น 17 ต.ค.) แต่ไม่เปิดให้ใช้พร้อมกันทุกระบบขนส่ง
ถึงแม้ทาง สนข. จะประกาศใช้บัตรแมงมุมครั้งแรกวันที่ 1 ตุลาคม 2560 (ล่าสุดทางรัฐเลื่อนเป็น 17 ตุลาคม) แต่สามารถใช้ได้กับ รถเมล์ หรือ รถโดยสารประจำทาง จำนวน 800 คันเท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มเป็น 2,600 คันในภายหลัง ส่วน แอร์พอร์ทลิงค์ รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่ - เตาปูน จะเปิดให้ใช้ร่วมกับบัตรแมงมุมในเดือนมีนาคม 2561
ทางด้าน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ และ รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ทาง สนข. ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะเปิดให้ใช้ร่วมกันกับบัตรแมงมุมในช่วง มิถุนายน – กรกฎาคม 2561 ส่วน ระบบทางด่วน (Easy Pass) และ เรือด่วนเจ้าพระยา คาดว่าจะใช้ได้ช่วงกลางปี – ปลายปี 2561 เนื่องจากต้องรอเชื่อมระบบให้เข้ากับตัวบัตร
นอกจากใช้กับระบบขนส่งแล้ว บัตรแมงมุมยังใช้กับสวัสดิการจากภาครัฐได้อีกด้วย
นอกจากจะใช้กับชนส่งสาธารณะอย่างเช่น รถเมล์ รถไฟฟ้าแล้ว ระบบของบัตรแมงมุมยังได้ออกแบบมาให้รองรับสวัสดิการสังคม รวมถึงเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล จากโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment
โดยทางรัฐจะบรรจุชิพลงในบัตรแมงมุม ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถใช้ขึ้นรถเมล์ รถโดยสารของ บขส. และรถไฟ ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จำกัดวงเงินรถประจำทางและรถไฟฟ้า 500 บาท รถไฟ 500 บาท และ รถโดยสาร บขส. 500 บาท เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2560
บัตรแมงมุม มีกี่ประเภท?
ตามการรายงานของ สนข. ระบุว่าจะแบ่งบัตรแมงมุมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. บัตรสำหรับบุคคลทั่วไป (สีน้ำเงิน) 2. บัตรสำหรับผู้สูงอายุ (สีทอง) และ 3. บัตรสำหรับนักเรียน/นักศึกษา (สีเทา) แน่นอนว่าแต่ละประเภทสามารถใช้กับขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟฟ้า BTS MRT ฯลฯ ได้เหมือนกัน แต่ยังไงก็ตามคาดว่าน่าจะต่างกันเรื่องส่วนลดหรือสวัสดิการต่างๆ
บัตรแมงมุม ราคาเท่าไร?
จากการรายงานของเว็บไซต์ Daily News ได้ระบุว่าบัตรแมงมุมมีค่าธรรมเนียมและมัดจำรวมประมาณ 150 บาท ทว่าเว็บไซต์ Sanook ได้คาดการณ์ว่าในช่วงแรกจะคิดค่ามัดจำ 50 บาทเท่านั้นและไม่มีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้าในบัตรได้สูงสุด 10,000 บาท และสามารถแจ้งอายัดวงเงินได้ในกรณีที่บัตรหาย
ซื้อ บัตรแมงมุม ได้ที่ไหนบ้าง?
แน่นอนว่าผู้ใช้อย่างเราๆ สามารถซื้อบัตรนี้ได้ที่สถานีรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT รวมถึงป้ายรถเมล์และร้านค้าบางแห่งที่ร่วมรายการแต่เดี๋ยวก่อน! ทางรัฐจะแจกบัตรแมงมุมให้เราใช้กันฟรีๆ !?
มีการยืนยันออกมาแล้วว่าทาง สนข. จะแจกบัตรแมงมุมให้ประชาชนจำนวน 200,000 ใบฟรี เพื่อให้ทดลองใช้กับรถเมล์ 800 คันในวันที่ 1 ตุลาคม 2560
สรุปข้อดีของบัตรแมงมุม
อย่างที่เราได้บอกไปข้างบน บัตรแมงมุม สามารถใช้กับขนส่งสาธารณะได้แทบทุกระบบ ไล่ตั้งแต่รถเมล์ รถไฟ BTS MRT แอร์พอร์ทลิงค์ เรือโดยสาร ไปจนถึงทางด่วน เพราะฉะนั้นบัตรนี้จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้มากขึ้น ไม่ต้องซื้อเหรียญขึ้น MRT และเปลี่ยนมาซื้อบัตร BTS อีกต่อไป
นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยให้พวกเขาสามารถใช้ขนส่งสาธารณะแบบฟรีๆ ได้อีกด้วย โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือนในแต่ละระบบ
บัตรโดยสารอื่นๆ ที่ Estopolis แนะนำ
สำหรับใครที่เดินทาง MRT สายสีน้ำเงิน (สถานีหัวลำโพง - เตาปูน) เป็นประจำทางเรา Estopolis ขอแนะนำบัตรโดยสารแบบ 30 วัน จำกัดเที่ยว (30 Day Blue Line Trips Pass) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แพ็กเกจ (ล่าสุดทาง BEM งดจำหน่ายชั่วคราว) ดังนี้
1. จำนวน 15 เที่ยว 450 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 30 บาท)
2. จำนวน 25 เที่ยว 700 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 28 บาท)
3. จำนวน 40 เที่ยว 1,040 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท)
4. จำนวน 50 เที่ยว 1,250 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 25 บาท)
ทั้งนี้หากทางฝั่งรัฐหรือรถไฟฟ้าออกแพ็กเกจบัตรใหม่นอกจากบัตรแมงมุม ทางเรา Estopolis ขอสัญญาว่าจะนำข้อมูลแบบเจาะลึกมาอัพเดทให้ชาวเมืองหรือชาวคอนโดได้ทราบกันอีกที